การวินิจฉัยโรคผิดพลาด

ในมาตรฐานฉบับใหม่ในหัวข้อ “การวินิจฉัยโรค” ได้มีการกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

“มีการกำหนดเรื่องการลดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคเป็นเป้าหมายความปลอดภัยผู้ป่วย

โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเข้ม มีการปรับปรุงและติดตามผลต่อเนื่อง”

การวินิจฉัยโรคผิดพลาด หมายถึง ความล้มเหลวที่จะได้มาซึ่งคำอธิบายที่ถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วนสมบูรณ์

ภายในเวลาที่เหมาะสม สำหรับปัญหาสุขภาพที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ และ รวมไปถึงความล้มเหลวในการสื่อสารคำอธิบายนี้ให้ผู้ป่วยได้เข้าใจด้วย

การวินิจฉัยโรคผิดพลาดมีได้ทั้งในลักษณะ

1.missed (ไม่สามารถวินิจฉัยได้ ทั้งที่มีข้อมูลเพียงพอที่ควรจะวินิจฉัยได้),

2.wrong (วินิจฉัยผิดไปจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่), และ

3.delayed (วินิจฉัยได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น)

มีการศึกษาในต่างประเทศที่แสดงว่า เราทุกคนมีโอกาสพบกับการวินิจฉัยผิดพลาดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตของเรา, 5% ของผู้ป่วยนอกจะเกิดการวินิจฉัยผิดพลาด, 7 – 17% ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มผู้ป่วยในมีความเชื่อมโยงกับการวินิจฉัยผิดพลาด และ 29% ของการเรียกร้องค่าเสียหายจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานมีสาเหตุมาจากการวินิจฉัยผิดพลาด

การวินิจฉัยโรคผิดพลาด

สาเหตุที่ก่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคผิดพลาดจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ

    1. สาเหตุจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยรายนี้มีอาการและอาการแสดงของโรคแตกต่างไปจากผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

    2. สาเหตุจากระบบงานของโรงพยาบาล เช่น การสื่อสารที่คลาดเคลื่อน การประสานงานที่ไม่ดี เครื่องมือหรือน้ำยาที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน

    3. สาเหตุจากข้อจำกัดด้านความรู้ความสามารถของบุคลากร เช่น ความรู้ที่ไม่ทันยุคสมัย ความจำที่คลาดเคลื่อนไปจากทฤษฎี การคิดที่ไม่เป็นระบบ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรค

สาเหตุข้อ 3. เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด

การวินิจฉัยโรคผิดพลาด

แหล่งข้อมูลหลักที่จะช่วยในการค้นหาและทบทวนเรื่องการวินิจฉัยโรคผิดพลาดในโรงพยาบาล ได้แก่ บันทึกการวินิจฉัยในเวชระเบียน เรื่องร้องเรียน/ เรื่องที่มีการฟ้องร้อง และผลการตรวจเอกซเรย์/ ผลการอ่านชิ้นเนื้อ การทบทวนควรทำโดยทีมงานที่มีผู้ที่มีความชำนาญในสาขานั้นๆ ร่วมด้วย โดยยึดหลักการว่าทำการทบทวนเพื่อการเรียนรู้และพัฒนากระบวนงานให้ดีขึ้น ไม่ได้มุ่งหาผู้ผิด

เวลาเข้าเยี่ยมโรงพยาบาล สิ่งที่ผู้เยี่ยมสำรวจของ สรพ. มักจะใช้เป็นต้นทางในการตามรอยเรื่องการวินิจฉัยโรคผิดพลาด คือ จำนวนการเกิด missed/ wrong/ delayed diagnosis ที่ ER และ OPD ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ก็จะดูการทบทวนของโรงพยาบาลว่า นำไปสู่การที่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นจริงหรือไม่ ถ้าไม่น่าจะใช่ ก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน กลุ่มโรคที่มักจะมีรายงาน missed/ wrong/ delayed diagnosis ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ตั้งครรภ์นอกมดลูก โรคกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน และม้ามแตก

นอกจากนี้ การสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วยก็เป็นปัญหาสำคัญ จากการสำรวจประสบการณ์ของผู้ป่วยพบว่า ข้อขัดข้องใจลำดับต้นๆ ของผู้ป่วย คือ การไม่ได้รับคำอธิบายที่เพียงพอถึงโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และแผนการรักษาพยาบาล

สรุปแนวทางในการลดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยโรค คือ

    • ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วย และครอบครัว ในทุกขั้นตอนของกระบวนงานเพื่อการวินิจฉัยโรค

    • เพิ่มพูนความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการวินิจฉัยโรคที่ทันยุคทันสมัย

    • พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยโรค

    • ออกแบบเกณฑ์การจ่ายเงินและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ช่วยเกื้อหนุนกระบวนงานวินิจฉัยโรคที่เป็นไปตามหลักวิชาการ

    • ส่งเสริมการรายงานข้อผิดพลาด เพื่อนำมาทบทวน เรียนรู้ และนำสู่การพัฒนากระบวนงาน

ที่มา

https://www.qualitythestory.com