Process work

Fall in Love with Conflicts!

ตกหลุมรักความขัดแย้ง

ผมยอมรับว่าตัวเองมีโอกาสสอนเรื่อง Process Work น้อยมาก ถึงแม้จะศึกษาและค้นคว้าในเรื่องนี้มาสี่ห้าปีแล้วก็ตาม เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่น่าจะมีความซับซ้อนและเข้าใจได้ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง ความสนใจในบ้านเราที่มีต่อเรื่องนี้โดดๆก็ยังมีไม่มากนัก อีกอย่างก็มีครูหลายคนที่เป็นเซียนด้านนี้มาสอนเป็นระยะๆอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น จิล เอมส์ลี่ที่เป็นคนแรกๆที่เข้ามสอนเรื่องนี้ รวมทั้งครู Process Work คนอื่นอย่าง ซูซาน นิวตั้นและแกรี่ รีส ที่ล้วนมากประสบการณ์ รวมถึง แมกซ์และเอเลน ชูปัก ที่เข้ามาสอนในช่วง 2-3 ปีมานี้ ที่ล้วนเป็นศิษย์เอกและเพื่อนของ ดร.อาร์โนล มินเดล ซึ่งเป็นคนแรกที่คิดค้นพัฒนาวิชานี้มาหลายสิบปี จึงเรียกได้ว่าตัวเองมีความเป็นนักเรียนใหม่อยู่มาก แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม

แต่พอได้มาสอนให้กับหลักสูตรนานาชาติ ผู้นำแห่งการตื่นรู้ (Awakening Leadership Training) ที่อาจารย์ประชา หุตานุวัตรเป็นผู้อำนวยการหลักอยู่ และอยากพัฒนาครูชาวไทยให้ได้มีเวทีในการพัฒนากระบวนการสอนเรื่องเหล่านี้ในระดับนานาชาติ (พึ่งจะเปิดหลักสูตรสำหรับคนไทยปีนี้) ผมจึงได้มีโอกาสสอนอย่างเป็นจริงเป็นจังมาหนหนึ่งแล้ว ซึ่งช่วยทำให้ผมได้พัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาและกระบวนการของ Process Work เองได้อีกมาก โชคดีมาที่มีชัย (ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล) ที่มีประสบการณ์การสอนและใช้วิชานี้ในหน้างานความขัดแย้งจริงทั้งในและต่างประเทศมาร่วมสอนด้วย ทำให้ผมได้แง่มุมอีกมากมาย

มุมมองที่ผมได้เพิ่มเติมจากเดิมคือ จริงๆแล้ว Process Work ไม่ใช่สำหรับความขัดแย้งเท่านั้น แต่สำหรับการเติบโตด้านในได้มาก แนวทางการโค้ชก็ใช้จิตใต้สำนึกมาก ใช้ร่างกายมากกว่าแนวอื่นๆ ทำให้เข้าตรงมากและมีพลังมากๆ

มุมมองหลักของ Process Work คือ

1. ทุกอย่างคือธรรมชาติ ธรรมชาติมีหนทางของตัวเอง หากเราเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติและร่วมงานกับ “ธรรมชาติ” เราก็จะเข้าถึงความลี้ลับของธรรมชาติ จนสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้

2. แต่ด้วยความที่เรามีโหมดปกติ ความเชื่อ บุคลิกภาพและแนวทางของตัวเอง เราจึงแยกตัวจากธรรมชาติ และทำให้เราต้องพบกับ “ธรรมชาติ” ที่อาจดูแตกต่างจากเราวิ่งเข้ามากระทบกระแทกให้เราต้องเอะใจ และตื่นขึ้น

3. รวมทั้งที่เข้ามากระทบเรา ที่เราอาจมองว่าคือ "อุปสรรคและปัญหา" แต่จริงๆแล้ว หากลองตามไปดูให้ถึงที่สุดจะค้นพบ "ขุมพลังและปัญญา" ในนั้น ตามคำกล่าวที่ว่า “สิ่งที่ขวางทางคือเข็มทิศชี้ทาง” ให้เราได้เห็นข้อจำกัดในตัวเราเองที่สามารถปลดแอกให้อิสระและกลับมาส่งเสริมชีวิตเราได้

ดังที่ แมรี่ โอ มอลเล่ย์ นักเขียนและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาชีวิตด้านในได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อ สิ่งที่ขวางทางคือหนทาง ว่า ชีวิตมักจะนำพาเอาสิ่งที่ถูกมัดเป็นพันธนาการอยู่ให้ได้รับการปลดปล่อยและเปิดออกจนเป็นอิสระเพื่อว่าชีวิตที่จริงแท้ของเธอจะได้ปรากฎ

หากมองในแง่นี้ ความขัดแย้งพยายามมาช่วยเราให้ “หลุด” จากการยึดแนวทางหรือตัวตนเดิมๆที่เราเป็นๆมา เพื่อให้เราได้ค้นพบเขตเขตและศักยภาพใหม่ในชีวิต แต่หากเรารับสานน์หรือแปรสัญญาณเหล่านี้ไม่เป็น เราก็จะยังคงยึดกุมกับสิ่งเดิมๆเรื่อยไป การเสพติด ไม่ว่าจะเสพติดการดื่ม ยา การสูบ การดู การช้อปปิ้ง เสพติดสื่อ หรือเสพอะไรก็แล้วแต่ ล้วนเป็นการยืนยันตัวตนเดิมๆของเรา (Addictions confirm our identity) ดังนั้นหากจะเป็นอิสระจากการเสพก็คงต้องเปลี่ยนตัวตน มุมมองหรือวิถีบางอย่างในชีวิต

ในการอบรม ๕ วันนี้ ผมและชัยตั้งใจไม่สอนเรื่องความขัดแย้งกลุ่ม เอาแค่ในตัวเองและความสัมพันธ์ เป็นพื้นฐานสำคัญก่อนไปเข้าใจความขัดแย้งกลุ่ม ทำให้เห็นเลยว่า เราทั้งหลายใช้ชีวิตแบบ "เอียงข้าง”อย่างเป็นปกติ ไม่ข้างใดก็ข้างหนึ่ง แม้ว่าเราจะคิดว่าเราเดินตรงและเป็นปกติหรือสมดุลแล้วก็ตาม และการที่เราเน้นมองไปที่ "ขอบ" ภายในของชีวิต ทำให้ไม่ต้องไปมุ่งเปลี่ยนสิ่งอื่น แต่มาดูจุดหวั่นไหวในตัวเอง และที่มาของมัน สิ่งที่บังตา และสิ่งที่ควรจะเห็นที่เป็นแก่นในฝั่งตรงข้ามที่เราอาจปฏิเสธแบบไม่รู้ตัว

ผมได้เล่านิทานอูฐเรื่องโปรดที่สะท้อนถึงวาระการเปลี่ยนแปลงชีวิต ๓ ขั้นตอน ทำให้เราได้ภาษาเชิงสัญลักษณ์มาสะท้อนภาพชีวิตตัวเอง นอกจากนี้เราได้ฝึกทักษะการสังเกต ติดตามสัญญาณ การอ่านพลังในร่างกายและการโค้ชส่วนตัวกันทุกวัน จนช่วยให้หลายคนได้คลี่คลายจากปัญหาภายในที่สั่งสมเรื้อรังมายาวนานในชีวิตที่เจ้าตัวอาจไม่เคยรู้มาก่อน เรียกได้ว่า แม้จะเหนื่อยหน่อย เพราะเข้มข้นมาก แต่ก็คุ้มค่าและตื่นตาตื่นใจต่อตัวผมเองและผู้เข้าร่วม ราวกับการได้เข้าฟิตเน็ตที่ต้องใช้พลังชีวิต ร่างกายและจิตใจในการขุด ค้น ทุ่ม ตีลังกาหกขะเมนอย่างสุดเหวี่ยงจนหมดแรงกันไปในแต่ละวัน บ้างก็มึนงง เบลอๆ สับสนยิ่งขึ้น บ้างก็เบาสบายผ่อนคลายราวจนนก

ความหลากหลายของผู้คนที่มาจาก ๑๐ ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน พม่า เวียตนาม กัมพูชา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ไทย สวิส เยอรมัน ก็ยิ่งทำให้กลุ่มมีสีสัน น่าสนใจและเรียนรู้จากกันอย่างเป็น “นานาชาติ” ได้มากทีเดียว ที่สำคัญทำให้เราเห็น “ความเป็นมนุษย์” ที่มีทั้งความฝัน แรงบันดาลใจ อุปสรรค ความทุกข์และบาดแผล รวมถึงแรงปรารถนาของการเติบโตและการให้คล้ายๆกัน

หลายคนสรุปให้กับตัวเองว่า การเรียนรู้ครั้งทำให้ได้เปิดโลกที่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เปิดรับและมีทัศนคติที่ดีกับ “ความขัดแยังมากขึ้น” จนคิดว่าสามารถ “เต้นรำ” ไปกับความขัดแย้งได้เลย ทำให้ผมนึกถึงคำของ อาจารย์ด้านนี้ที่สำคัญอีกคนนึง ชื่อ จูลี่ ไดมอนด์ เธอบอกว่า “ปีศาจตัวร้ายที่ขวางกั้นการเรียนรู้และเติบโตของมนุษย์หาได้มาในรูปแบบที่อัปลักษณ์คับแคบไม่ แต่กลับมาในนามของสิ่งดีงาม เช่น สันติภาพ ความรัก และความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะทำให้เราไม่กล้าที่จะเปิดรับความขัดแย้งให้เป็นเหมือนครูสอนเราในสิ่งที่เรายังไม่รู้

ผมคิดว่าตัวเองได้ตกหลุมรักกับโอกาสและการปลดปล่อยที่ได้มาจากการทำงานกับความขัดแย้ง เพราะเวลาที่ผมให้ความช่วยเหลือหรือโค้ชใครสักคน ผมจะรู้สึกว่าเราเองก็ได้รับการปลดปล่อยและพลังแห่งการเยียวยานั้นไปด้วย มันทำให้ผมอยากค้นคว้าและพัฒนาเรื่องนี้ให้มากขึ้นไปอีก ราวกับกำลังเสพติดอะไรบางอย่าง อ้อ นึกออกแล้ว ผมเสพติดการกลับไปเป็นเด็กน้อยที่สนใจใคร่รู้ว่าความขัดแย้งที่เข้ามาปะทะชีวิตของทั้งตัวเองและผู้คนนั้นจะมาช่วยปลดปล่อยอะไรในตัวเองได้อีก แล้วเราคงจะได้พบกันอีก

บทบันทึกจากการอบรมเรื่อง

การแปลเปลี่ยนความขัดแย้ง (โมดุล ๘)

หลักสูตรผู้นำแห่งการตื่นรู้ ณ อาศรมวงศ์สนิท

22-26 ต.ค. 2561

บันทึกที่ บ้านกุลพันธู์วิลล์ เชียงราย

๓๑ ต.ค. ๒๕๖๑