การดูแลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

การดูแลที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (1-3)

ในอดีต การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ดำเนินไปตามการตัดสินใจของแพทย์ พยาบาล และนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ เนื่องจากผู้ป่วยมองว่า นักวิชาชีพดูแลสุขภาพเหล่านี้มีสติปัญญาที่เหนือกว่า จึงได้รับการยอมรับให้ตัดสินใจแทนผู้ป่วย

ในขณะที่นักวิชาชีพเหล่านี้ ก็คาดหวังให้ผู้ป่วยปฏิบัติตาม (Compliant) และรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ให้การรักษาพยาบาล แต่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยเริ่มคาดหวังให้นักวิชาชีพสุขภาพ ต้องรับผิดชอบต่อการรักษาพยาบาลด้วยจริยธรรม การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้วิถีการตอบสนองความต้องการการดูแลสุขภาพเปลี่ยนไป

ลักษณะสมัยใหม่ของโรงพยาบาล ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี

ความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และความรีบร้อนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

ทำให้การรักษาพยาบาล “ดุจญาติมิตร” (Paternalistic delivery) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เสมอไป

ผู้ป่วยมักรู้สึกว่า ผู้ให้บริการไม่ใส่ใจ ไม่ให้คุณค่า และไม่ให้เกียรติ (Demean)

เนื่องจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจากหลายๆ แหล่ง อาทิ สื่อสารมวลชน และอินเทอร์เน็ต

ทำให้ผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้และเข้าใจระบบปฏิบัติการในโรงพยาบาลได้มากขึ้น

และกลายเป็นผู้บริโภคการดูแลสุขภาพ (Healthcare consumer) ที่เพิ่มความคาดหวัง

ในเรื่องการดูแลที่ดีที่สุดและการใช้เทคโนโลยีล่าสุด

ในอีกมิติหนึ่ง ผู้บริโภคการดูแลสุขภาพต้องการ

(1) เรียกร้อง

(2) ได้รับข้อมูล และ

(3) ได้รับการปฏิบัติที่มีศักดิ์ศรีและเมตตาธรรม

ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปการเคลื่อนไหวไปสู่มิติใหม่ของการดูแลที่

“ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง” (Patient-centered care)

ผู้ให้กำเนิดแนวความคิดนี้ คือ

แอนเจลิกา เธียเรียต (Angelica Thieriot)

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ “พลาเน็ตทรี” (Planetree Foundation)

รูปแบบของโรงพยาบาลเรียกชื่อตามมูลนิธิ (Planetree model) ตอกย้ำในแง่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (Human interaction) ในการดูแลสุขภาพ และผลกระทบต่อการเยียวยารักษา (Healing)

ทำให้นักวิชาชีพดูแลสุขภาพรับรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย

จากหลักการ

ดูแลให้หายป่วย (Beneficence) ว่าไม่เพียงแต่เพิ่มความพึงพอใจให้ผู้ป่วย แต่ยังส่งเสริมการเยียวยารักษาให้เร็วขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความพึงพอใจให้ผู้ให้บริการด้วย

ผลลัพธ์ก็คือขวัญและกำลังใจในการทำงานดีขึ้น และประสิทธิภาพ (Productivity)

ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

รูปแบบ “พลาเน็ตทรี” ยังให้อำนาจ (Empower) ผู้ป่วยในการเข้าถึงข้อมูล

ผ่านแหล่งข้อมูลต่างๆ และการปรับปรุงการสื่อสารกับผู้ป่วย

ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวยังขยายวงไปถึงญาติมิตรของผู้ป่วยด้วย

ทำให้กลุ่มคนหล่านี้มีส่วนร่วมในโปรแกรมการดูแลรักษาและให้คำแนะนำผู้ป่วยด้วย

รูปแบบ “พลาเน็ตทรี” (Planetree model) คำนึงถึงความสำคัญของอาหาร

ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษา ผู้ป่วยรับรู้คุณค่าของโภชนาการ (Nutrition)

ผ่านโปรแกรมการศึกษา บริการที่จัดให้เป็นรายบุคคล (Personalized services)

อาทิ รายการอาหารตามสั่ง (Room-service menu) และการใส่ใจในการเตรียมอาหาร

แนวความคิดดังกล่าวขยายวงไปถึงโรงครัว (Kitchen) และโรงอาหาร (Canteen) ในโรงพยาบาล

ที่ให้บริการรวมไปถึงญาติมิตรของผู้ป่วย และบุคลากรผู้ให้บริการ นอกจากนี้

ยังรวมทั้งการออกแบบในภาพรวม (Overall design) ของอาคารโรงพยาบาล

เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของโรงพยาบาลมีส่วนร่วมในการเยียวยารักษาผู้ป่วย

และฟูมฟักบรรยากาศผู้ให้บริการมีความสุขในการปฏิบัติงาน

บรรยากาศดังกล่าว สะท้อนออกมาในรูปแบบที่สัมผัสกับธรรมชาติ (Contact with nature)

และผูกพันกับความรู้สึก (Sensory engagement) เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์แก่ผู้ป่วย

ญาติมิตร และบุคลากรผู้ให้บริการ โดยเฉพาะการช่วยผู้ป่วยต่อสู้กับความเจ็บปวด

ความกลัว และความโดดเดี่ยวระหว่างการเยียวยารักษา

รูปแบบของ “พลาเน็ตทรี” ยังเข้าใจพลังของการสัมผัส (Power of touch)

ในกระบวนการเยียวยารักษา การดูแลที่สื่อสารด้วยการนวดบำบัด (Therapeutic massage)

ให้ผู้ป่วยและผู้ให้บริการ เพื่อเป็นเครื่องมือผ่อนคลายความเครียด

รวมทั้งแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) บางอย่าง อาทิ การฝังเข็ม (Acupuncture)

นอกจากนี้ รูปแบบของ “พลาเน็ตทรี” ยังให้ความสำคัญต่อ

-แหล่งภายใน (Inner source) ของการเยียวยารักษา

-การรับรู้บทบาททางจิตวิญญาณ (Spirituality)

อาทิ การให้คำปรึกษา (Counseling) การฝึกสมาธิ (Meditation) การสวดมนต์ (Prayer)

หรือพิธีกรรมทางศาสนา (Ritual) ตลอดจนถึงศิลปะของการเห็น (อาทิ สีสันในห้องผู้ป่วย)

และการได้ยิน (อาทิดนตรีในห้องโถงโรงพยาบาล)

แม้ว่า ไม่ใช่โรงพยาบาลทุกแห่งจะยอมรับแนวความคิดนี้

แต่โรงพยาบาลหลายแห่ง ก็ลงมือปฏิบัติไปแล้วในบางเรื่อง

โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งในในกรุงเทพมหานคร

ซึ่งผลตอบรับดีมากจากทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ที่สะท้อนออกมาในรูปของระดับความพึงพอใจทั้งสองกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม แพทย์บางท่านก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้

โดยเฉพาะการให้ผู้ป่วยมีอำนาจมากในการควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาในโรงพยาบาล

แพทย์ดังกล่าวไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งระบบนี้

และเกิดความกลัวต่อการสูญเสียการควบคุมและการเคารพนับถือ

ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล ก็กังวลเกี่ยวกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการนำรูปแบบ

“พลาเน็ตทรี” ไปลงมือปฏิบัติ ว่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on investment) ไม่คุ้มค่าหรือไม่?

แนวความคิดของการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-centered care)

มีผลกระทบทางจริยธรรรม (Ethical implications) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐาน 4 ประการ

อันได้แก่

1.การให้ผู้ป่วยป็นผู้ตัดสินใจเอง (Autonomy)

2.การดูแลให้หายป่วย (Beneficence)

3.การป้องกันมิให้เกิดอันตราย (Non-maleficence) และ

4.ความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ (Justice)

1.การให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเอง สอดคล้องกับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างมีศักดิ์ศรี (Dignity) เห็นอกเห็นใจ (Compassion) และเข้าใจความรู้สึก (Sensitivity) รูปแบบเพลเน็ตทรี (Planetree model) สนับสนุนการให้เกียรติผู้ป่วยและความสามารถของผู้ป่วยในการตัดสินใจ เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วน (Informed decision) รูปแบบนี้ ยังขยายการครอบคลุมถึงบุคลากรของโรงพยาบาล โดยเคารพในความเชี่ยวชาญของเขา

2.หลักการดูแลให้หายป่วย จะเห็นได้ชัดจากการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพราะสะท้อนถึงความคาดหวังการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลที่จะเพิ่มพูนประสบการณ์ที่ดีในการเยียวยารักษาผู้ป่วย ผู้ป่วยกลายเป็น “หัวใจ” ของกิจกรรมแต่ละวันของโรงพยาบาล แม้ว่าบางครั้งผลลัพธ์ (Outcome) ของผู้ป่วยคือความตาย ผู้ที่เกี่ยวข้อง (รวมทั้งญาติมิตรของผู้ป่วย) จะได้รับการปฏิบัติด้วยเมตตาธรรม ซึ่งจะสร้างความทรงจำที่ดี และการได้รับความไว้วางใจจากชุมชน

3.การป้องกันมิให้เกิดอันตราย ก็สอดคล้องกับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเช่นกัน เพราะความพยายามของโรงพยาบาลในการหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย หรือลดผลกระทบหากจำเป็นต้องมีความเสี่ยง ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ โดยการให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยในเรื่องหัตถการ (Procedure) ที่จะได้รับ คอยให้กำลังใจ และยอมให้ญาติมิตรเข้าถึงผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลมีหน้าที่ลดอันตรายให้น้อยลงจากการทำงานหนัก (Burn-out) ของบุคลากร อีกด้วย

4.ความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับภาระ อาจเป็นที่ถกเถียงกันเมื่อประยุกต์ใช้กับการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางโรงพยาบาลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลลัพธ์ทางการแพทย์ กับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการเยียวยารักษาผู้ป่วย ซึ่งอาจลงเอยด้วยคำตอบว่าไม่คุ้มค่า แต่ในทางปฏิบัติ โรงพยาบาลต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผู้ป่วยสมควรได้รับในแง่สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนการพิจารณาความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาลของผู้ป่วย หรือญาติมิตร

แนวโน้มของการดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งพึงปรารถนาของผู้บริโภคดูแลสุขภาพ (Healthcare consumer) เพราะแสดงให้เห็นว่า โรงพยาบาลมีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงสถานที่ทำงานของนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) หรือศูนย์กำไร (Profit center) การเยียวยารักษาผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันในเรื่องการประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่าย เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของผู้บริหารโรงพยาบาลที่ปรารถนาจะดำเนินการไปสู่การดูแลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ท่ามกลางประเด็นทางจริยธรรมที่ต้องคำนึงถึง

Credit

จากมุมมองของผู้บริหาร

ตอนที่ 151 : การดูแลที่ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดย ดร.วิทยา มานะวาณิชเจริญ

Harmor.com