RM6 การจัดการความเสี่ยง

การจัดการกับความเสี่ยง (Action to manage risk)

การจัดการกับความเสี่ยงในระดับแผนก คือ การควบคุมความสูญเสีย ส่วนการบริหาร

เงินชดเชยค่าเสียหายเป็นการจัดการในระดับโรงพยาบาล

กลยุทธ์สำคัญในการควบคุมความสูญเสีย ได้แก่

1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk avoidance) เช่น การปิดห้องผ่าตัดเนื่องจากไม่มีวิสัญญีแพทย์ หรือวิสัญญีพยาบาล

2. การผ่องถ่ายความเสี่ยง (risk transfer) เช่น การจ้างเหมาให้บริษัทมาดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือที่ซับซ้อน การส่งตรวจพิเศษบางอย่างที่ทำไม่บ่อยไปยังห้องปฏิบัติการภายนอก

3. การป้องกันความเสี่ยง (risk prevention) มีหลายรูปแบบ ได้แก่ :

3.1 การป้องกัน (protection) เช่น เสื้อตะกั่ว กล่องใส่ของมีคม การฉีดวัคซีน การ

ตรวจสอบ software จากภายนอกว่ามีไวรัสหรือไม่ การคัดกรองผู้ป่วยที่มีความ

เสี่ยงสูงสำหรับหัตถการบางอย่าง

3.2 การมีระบบบำรุงรักษาเชิงป้องกันและมาตรฐานเกี่ยวกับเครื่องมือ เช่น การจำกัดใช้เครื่องมือ, การตรวจสอบ, การทดสอบระบบสำรอง

3.3 การมีระเบียบปฏิบัติในการทำงาน เช่น การให้ยา, การตรวจสอบอุปกรณ์ในรถฉุกเฉิน, การรับส่งผู้ป่วยที่ห้องผ่าตัด, การรับเงิน, การตรวจสอบคุณสมบัติของแพทย์

3.4 การให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าสามารถจำกัดขอบเขตหรือป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยวิธีใด ทำให้ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของกระบวนการป้องกันความเสี่ยง

4. การลดความสูญเสียหลังจากเกิดเหตุการณ์ (loss reduction) ได้แก่ การดูแลแก้ปัญหาโดยฉับพลันด้วยความเอาใจใส่ ให้ความอบอุ่นสะดวกสบาย ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาภายใต้การแนะนำของผู้รู้กฎหมาย การสื่อสารและความเข้าใจที่ดีต่อกัน และการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางตามหลักสันติวิธี จะช่วยป้องกันปัญหาการฟ้องร้องได้ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย เช่น คำร้องเรียนของผู้ป่วย นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าจะต้องปรับปรุงการสื่อสารและสัมพันธภาพระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ป่วย

5. การแบ่งแยกความเสี่ยง (risk segregation) ได้แก่ การแบ่งแยกหรือจัดให้มีระบบสำรองสำหรับทรัพยากรที่ใช้ในการทำงาน แต่ละหน่วยงานจะต้องระบุความเสี่ยงและวิธีการจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว การจัดทำรายงานสรุปของหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ คือ ทำให้เห็นชัดเจนว่า มีความเสี่ยงอะไร ทำให้หน่วยงานต้องพิจารณาว่ามีมาตรการในการควบคุมหรือป้องกันอย่างไร มาตรการเหล่านั้นเพียงพอหรือไม่