Quality dimension กับ KPI

Quality Indicator “เครื่องชี้วัดคุณภาพ”

เครื่องชี้วัด เป็นเครื่องมือในการวัดหรือประเมินคุณภาพวิธีหนึ่ง

สามารถประเมินได้ทั้งผลลัพธ์ กระบวนการที่ให้การดูแล และกระบวนการย่อยๆ หรือผลลัพธ์ย่อยๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการหลัก

ประเภทของเครื่องชี้วัดคุณภาพ

จำแนกตามมิติคุณภาพ ประกอบด้วย โครงสร้าง กระบวนการ และผลลัพธ์ คือ

1.เครื่องชี้วัดคุณภาพโครงสร้าง (Structure Indicators):

ประเมินด้านโครงสร้างของการจัดบริการของระบบ เช่น จำนวนเตียงของสถานโรงพยาบาล

2.เครื่องชี้วัดกระบวนการ (Process Indicators):

ประเมินกระบวนการ กิจกรรม หรือขั้นตอนในการ ให้บริการดูแลรักษา ผู้ป่วยที่เกิดขึ้น เช่น เครื่องชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการให้ยาผู้ป่วย การรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับ

3.เครื่องชี้วัดผลลัพธ์ (Outcome Indicators):

ประเมินสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย

อันเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการ ให้บริการการดูแล

ซึ่งอาจแบ่งได้อีกเป็น

-ผลลัพธ์ระหว่างกระบวนการ(Proximate Outcome)

ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้า แก่ขั้นตอนต่อไป ในการบริการ เช่น การได้รับ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่ถูกต้อง และ

-ผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย (Ultimate Outcome)

ซึ่งได้แก่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมถึงความพิการ การเสียชีวิต หรือความพึงพอใจของผู้ป่วย

นอกจากนี้เครื่องชี้วัดคุณภาพ ยังสามารถใช้ในการบ่งบอกถึง

ผลการปฏิบัติงาน หรือ ผลการดำเนินงาน (Performance) ในด้านต่างๆ

ซึ่งสามารถจัดแบ่งได้หลายประเภท เช่น

-ประสิทธิภาพ (Efficiency) การเข้าถึงบริการ (access to care) ความเหมาะสมของการดูแล (appropriateness of care) เป็นต้น

การจัดประเภทของเครื่องชี้วัดคุณภาพในลักษณะนี้ จะมีความแตกต่างกันไปตามระบบเครื่องชี้วัดต่างๆ ที่มีผู้นำมาใช้

การจัดหมวดหมู่ตามมิติของคุณภาพ และ ผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล

การจัดหมวดหมู่ตามมิติของคุณภาพ และ ผลการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล เพื่อการนำมาใช้สำหรับกระบวนการพัฒนา และรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) ในประเทศไทยได้ดังนี้

  • หมวดที่ 1: เครื่องชี้วัดคุณภาพของการดูแลทางคลินิก (Clinical quality indicators): ที่จะสามารถบอกได้ถึงผลลัพธ์ ที่เกิดจากกระบวนการดูแล ที่ได้มาตรฐาน (ศึกษาจากมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย) และ สามารถตอบสนอง ความต้องการ ของผู้รับบริการได้ (ศึกษาได้จากข้อมูล การสำรวจความต้องการของลูกค้า)

  • หมวดที่ 2: เครื่องชี้วัดคุณภาพของการบริการ (Service quality indicators): ที่สามารถบอกได้ถึงคุณภาพ และประสิทธิภาพของการจัดระบบให้บริการ

  • หมวดที่ 3: เครื่องชี้วัดคุณภาพของการจัดการองค์กร (Management quality indicators): ที่สามารถบอกได้ถึงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเกี่ยวกับคน สิ่งของ อาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ (Man, Money and Material)

การจัดกลุ่มมิติของคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังอาจจัดกลุ่มมิติของคุณภาพที่สำคัญ ให้เหมาะสมสำหรับ โรงพยาบาลในโครงการพัฒนา และ รับรองคุณภาพโรงพยาบาล ในประเทศไทย ได้ดังนี้

  1. การเข้าถึงบริการ (Accessibility): ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้ตามข้อบ่งชี้ และในเวลาที่สมควร

  2. ความเหมาะสม (Appropriateness): ความถูกต้องตามข้อบ่งชี้ตามความจำเป็นของผู้ป่วยและหลักวิชาการ

  3. ความสามารถ (Competency): ระดับความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีในการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

  4. ความต่อเนื่อง (Continuity): ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง มีการประสานงานที่ดี

  5. ประสิทธิผล (Effectiveness): การบริการบรรลุถึงผลลัพธ์ของการรักษาที่เป็นที่ต้องการของผู้ป่วย (responsiveness) และมีความสม่ำเสมอ (consistency)

  6. ประสิทธิภาพ (Efficiency): โรงพยาบาลให้บริการโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และทันต่อเวลา (timeliness)

  7. ความปลอดภัย (Safety): ระดับความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ทางลบ ความผิดพลาด และผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการ

ตัวอย่างมิติหรือมุมมองคุณภาพ

วันที่ 19 สิงหาคม 2548

หมายเหตุ: อ้างใน เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ HA 301 หน้า 25

คุณสมบัติของเครื่องชี้วัดคุณภาพที่ดี (Hofer et al. อ้างในจิรุตน์ ศรีรัตนบัลล์ และคณะ, 2543)

  1. สามารถค้นหากรณีที่มีปัญหาได้ในระยะปัจจุบัน และย้อนหลัง

  2. ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือข้อมูลที่สามารถเก็บได้โดยง่ายด้วยค่าใช้จ่ายต่ำและใช้เวลาของบุคลากรน้อยที่สุด

  3. สามารถค้นหากรณีที่มีความเป็นไปได้สูงที่อาจได้รับการดูแลที่ด้อยมาตรฐาน

  4. สามารถระบุปัญหาที่มักเกิดซ้ำๆ และมีกลุ่มสาเหตุที่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถป้องกันได้

  • หนังสืออ้างอิง

  • จิรุตน์ ศรีรัตนบัลล์, สมเกียรติ โพธิสัตย์, ยุพิน อังสุโรจน์, จารุวรรณ ธาดาเดช และศรานุช โตมรศักดิ์. (2543). เครื่องชี้วัดคุณภาพโรงพยาบาล. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

  • ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพ. (2547). เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ: HA 301. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ที่มา

http://www.srisangworn.go.th/modules.php?op=modload&name=News&file=article&sid=222

เรียบเรียงโดย... นางสาวรวีวรรณ เล็กวิลัย