Entrustable vs Patient Safety

Entrustable vs Patient Safety

หลังจากเขียนสะท้อนประสบการณ์เรื่อง EPA หรือ Entrustable Professional Activities มาได้ series นึง ก็อดมิได้ที่จะเปรียบเทีนบโน่นนี่นั่น ก็รู้สึกว่ามีอีก theme หนึ่งที่ค่อนข้างจะคล้ายกันทีเดียว นั่นคือ Accreditation

EPA เป็นมุมมองอีกองศาของการพิจารณาการเรียนการสอน การฝึกอบรม ซึ่งแต่เดิมเรามองที่ตัวผู้เรียนว่าจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จึงแตกแยกย่อยเป็นปัญญาพิสัย (cognition) จลนพิสัย (psychomotor) และเจตคติพิสัย (attitude) สาม domains สามพิสัย แล้วค่อยๆกลายร่างมาเป็น competencies เราจัดการเรียนการสอน ก็สะท้อน task ของเราตรงนี้ คือ "ทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติทั้งสามด้าน" นี้

แต่ EPA ตีความว่า นักเรียนของเราจะมีคุณสมบัติเหล่านั้นไป "เพื่อจะทำอะไร?" อาจจะเรียกว่าเป็นแนวคิดของประโยชน์นิยมก็ว่าได้ เพราะแทนที่จะมองผู้เรียนว่ามี competencies อะไร ก็มองว่าจะนำเอาไปทำอะไร ซึ่งแนวคิดนี้สำหรับสาระวิชาที่เป็นการบริการสาธารณะ จะเพิ่มความชัดเจนและคุณค่าขึ้นมาทันทีทันใด อย่างหมอจะผ่าตัดไส้ติ่ง ก็ต้องมี cognition เรื่องความรู้ทางกายวิภาค สรีรวิทยา ต้องมี psychomotor ด้านผ่าตัดให้ปลอดภัย ต้องมีทัศนคติ attitude ที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของคนโดยเร็วที่สุด ปลอดภัยที่สุด และด้วยกำลังทรัพยากรที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้น

Hospital Accreditation ก็เป็นมุมมององศาหนึ่งของการทำงานของหน่วยงานบริการสาธารณสุข ว่าสถานพยาบาลจะต้องมี "คุณภาพ" ด้านใดบ้าง แตกออกเป็นหมวด เป็๋นหมู่ เป็นมาตรฐานหลายประการ เพื่อที่เราเข้าไปสอดส่องดูแลใคร่ครวญและพัฒนา

หากเรากลับมุมมองแบบ EPA ได้ไหม? เราทำ HA เพื่อ entrustable เรื่องอะไร?

คำตอบที่ชัดเจนที่สุด คำเดียวเลยคือเพื่อ Patient Safety ความปลอดภัยของคนไข้นั่นเอง

ทุกอย่างที่เป็นคุณภาพ หรือมาตรฐานโรงพยาบาล จะสามารถย้อนกลับมาลงที่ผลลัพธ์คือ เราดูแลผู้คนได้ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น ส่งเสริมให้มีสุขภาวะ สุขภาพ หรือ wellness ที่ดีขึ้นนั่นเอง และเมื่อเราสามารถ "เชื่อม" (อย่างที่ EPA เชื่อมความรู้ด้านต่างๆรวมกันเข้ามาให้เข้าใจว่ารู้ไปเพื่อได้รับความไว้วางใจนั่นเอง) มาตรฐาน เอกสาร และหลักการต่างของ HA ลงไปที่เพื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ว่าในสถานที่แห่งนี้เป็นมืออาชีพที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเป็นสรณะ เป็นสำคัญ เป็นที่ยึดเหนี่ยวนำยุทธศาสตร์ทั้งหมด ก็อาจจะหมดคำถามที่ว่า "ทำไปทำไม" อย่างสิ้นเชิง

และหากตอบโจทย์ได้ว่า ทำไมเราถึงทำบางสิ่งบางอย่าง ทำไมเราถึงไม่ควรทำบางสิ่งบางอย่าง ทำไมเราถึงไม่ทำบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ ก็เพราะเพื่อความปลอดภัยของคนไข้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่ใช่เพียงงานเอกสาร งานประเมิน งานได้ผ่านหรือสอบตกอีกต่อไป แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจ

ทำไมเราถึงไม่เชื่อม?

ก็คงจะเป็นอาการคล้ายๆกับบางทีที่เรามีนักเรียนสงสัยว่า จะเรียนสังคมศาสตร์ไปทำไม จะมาเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์แท้ๆ เรียนแต่กายวิภาค สรีระ เภสัช เท่านั้นไม่ได้เหรอ ต้องเรียนจริยศาสตร์ไปทำไม แต่ถ้านักเรียนทราบว่าศาสตร์ต่างๆนั้น ต่างก็อยู่รวมกัน ไม่ได้แยกแยะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์แต่อย่างใด มนุษย์ขี้เหม็นเป็นคนไปแยกแยะมันเอง เพราะปัญญารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทุกศาสตร์รวมกันจะกลายเป็นปัญญาที่นำไปปฏิบัติในชีวิตจริง สังคมจริงๆได้

ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ยังมีคนทุกข์เพราะการทำงานเป็นไปโดยไม่ได้เชื่อม ว่าทำไปทำไม ทำไมทำงานต้องมีการทบทวนคุณภาพด้วย นั่นอาจจะเป็นเพราะไม่มีใครบอกว่า ผลงานทั้งหมดของ hospital accreditation ไม่ใช่เพื่อผ่าน/ไม่ผ่าน มี/ไม่มี แต่เพื่อความปลอดภัยของคนไข้เท่านั้น

เราจะได้ไม่ Routine กับชีวิตมากเกินไป แต่เพิ่ม meaningful life แก่ตนเองได้อีกสักกระผีก

ที่มา

นพ.สกล สิงหะ

หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์

วันพุธที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ เวลา ๙ นาฬิกาตรง

วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ