Enterobius vermicularis

พยาธิเข็มหมุด

การวินิจฉัย (Diagnosis)

การวินิจฉัยที่ชัดเจนคือ การตรวจพบไข่ (และพยาธิตัวเมียในบางครั้ง) จากบริเวณรอบๆ ทวารหนัก ซึ่งทำได้โดยใช้เทปกาวใสที่เรียกว่า วิธี cellophane tape impression หรือ Scotch tape technique มีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก (< 5%) ที่ตรวจพบไข่พยาธิเข็มหมุดในอุจจาระ

หลักการคือ ใช้เทปกาวใส (scotch tape) แปะติดกับรอบๆ บริเวณทวารหนัก แล้วนำไปติดบนแผ่นสไลด์ ในการตรวจหาไข่ด้วยกล้องจุลทรรศน์ต่อไป อาจใช้ Toluol หรือ iodine in xylol หยดดู เพื่อทำให้ใสชัดขึ้น โดยทั่วไปการทำ cellophane tape impression หรือ Scotch tape technique นี้ จะได้ผลดีถ้าทำในเวลาเช้าก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้าห้องน้ำ ดังนั้นเพื่อความสะดวก จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วย หรือผู้ปกครองเด็กที่เป็นโรครู้จักวิธีทำที่บ้าน เพื่อนำมาตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป นอกจากนี้ อาจใช้วิธี cotton wool swab มาตรวจได้เช่นกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กกว่า 1 ใน 3 ที่เป็นโรคพยาธิเข็มหมุด จะตรวจพบไข่ได้จากขี้เล็บ

โอกาสที่จะตรวจพบไข่จากการตรวจครั้งเดียว มีเพียง 50% ในขณะที่การตรวจติดต่อกัน 3 ครั้ง ให้ผลพบถึง 90% การตรวจจึงควรทำซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เนื่องจากพยาธิไม่ได้วางไข่ทุกวัน แนะนำให้ตรวจซ้ำเป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาด

การรักษา (Treatment)

เนื่องจากอายุขัยของพยาธิเข็มหมุดจะอยู่ได้น้อยกว่า 2 เดือน และเป็นโรคที่หายเองได้ ถ้าไม่ติดโรคซ้ำ (reinfection) ดังนั้นการป้องกันการติดโรคซ้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ปัญหาที่พบบ่อย มักเกิดในครอบครัวที่ขาดสุขลักษณะ และมีผู้เป็นโรคอยู่ โดยไม่ได้รับการรักษา จึงเป็นผู้แพร่โรคให้คนอื่นในครอบครัว ทำให้โรคนี้ไม่สามารถกำจัดได้ง่ายนัก

หลักการรักษา คือการรักษาทุกคนในครอบครัว และผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน

ยาที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

Pyrvinium pamoate (5 มก./กก.) ครั้งเดียว (single dose) ไม่เกิน 250 มก.

Piperazine citrate 50 มก./กก./วัน ไม่เกิน 2.5 กรัม เป็นเวลา 7 วัน

Mebandazole (100 มก.) ให้ทานครั้งเดียว หรือ

Pyrantel pamoate 11 มก./กก. (ไม่เกิน 1 กรัม ครั้งเดียว) หรือ

Albendazole (400 มก. ครั้งเดียว)

หลังรักษาครั้งแรกควรให้ยาซ้ำอีกเมื่อครบ 2 สัปดาห์

http://cai.md.chula.ac.th/lesson/ent/contents/ent_frame.htm