Chromoblastomycosis

Chromoblastomycosis

(Subcutaneous Phaeohyphomycosis และ Phaeohyphomycotic Colonization)

Chromoblastomycosis เป็นโรคเชื้อราที่หนังกำพร้าและหนังแท้ ซึ่งเกิดขึ้นโดยกลุ่มเชื้อราที่มีสีดำ (dematiaceous fungus หรือ pigmented mold) ผิวหนังที่เป็นโรคนี้จะหนา ด้านแข็ง และมีผิวที่หยาบขรุขระ ประกอบไปด้วยโคโลนีของเชื้อราสีดำฝังตัวอยู่เป็นจุดเล็กๆ (verrucous granuloma with pigmented granules)

ชื่อของโรคนี้เรียกกันมาโดยอาศัยลักษณะทางคลินิคและรูปร่างของเชื้อที่พบในผิวหนังที่เป็นโรค ซึ่งมีรูปร่างกลมหรือรี ที่เรียกว่า Medlar cell, copper pennies cell, sclerotic cells body, planate dividing cell, globoid cell หรือ blastospore-like cell

ต่อมาในตำราบางเล่มได้ตัดคำว่า “blasto” ออกไปเพื่อให้สั้นเข้า และอีกประการหนึ่งได้มีผู้พบปล้องเชื้อราร่วมอยู่ด้วยจึงไม่ใช่มีแต่ blastosporelike cell แต่เพียงชนิดเดียว

นอกจากนั้นปรากฏว่าเชื้อ dematiaceous fungus หลายชนิดยังมีคุณสมบัติทำให้โรคมีลักษณะผิดแปลกไปจากchromoblastomycosis ได้อีกหลายรูปแบบ เช่น เป็นโพรงหนองที่เรียกว่า cutaneous phaeohyphomycosis หรือเชื้อรวมกันเป็นกลุ่มโคโลนีฝังตัวอยู่ที่ผิวหนังซึ่งเป็นโรคอื่นอยู่ก่อน เช่น eczema เรียกว่า cutaneous phaeohyphomycotic colonization

ประวัติ

Lane และ Medlar (พ.ศ.2458) ได้รายงาน โรค chromoblastomycosis ในผู้ป่วยชายจากเมือง New England ผู้ป่วยรายนี้มีแผ่นเนื้อที่นูนแข็ง และมีผิวสากขรุขระเกิดขึ้นที่เท้า จากการตรวจพบเชื้อราที่มีรูปร่างกลมรี (blastospore) อาศัยอยู่ภายในชิ้นเนื้อที่เป็นโรค และใช้ชื่อโรคนี้ในครั้งนั้นว่า cutaneous verrucous dermatitis (Dermatitis verrucosa) Thaxter เป็นผู้แยกเชื้อนี้และให้ชื่อ ว่า Phialophora verrucosa ในเวลาไล่เลี่ยกัน Rudolph ก็รายงานผู้ป่วยเช่นเดียวกันนี้ในประเทศบราซิลเมื่อปี พ.ศ.2457 แต่ไม่ได้แยกเชื้อและศึกษาเชื้อที่เป็นสาเหตุ

จนถึงปี พ.ศ. 2463 Pedroso และ Gomes ได้รายงานผู้ป่วยด้วยโรคนี้อีก 4 ราย โดยผู้ป่วยทุกราย มีอาการของโรคเกิดขึ้นที่เท้า และมีอยู่ 1 รายที่ผู้รายงานได้ติดตามศึกษาอาการของโรคอยู่ถึง 9 ปี เชื้อที่ ผู้รายงานได้แยกจากผู้ป่วย 4 รายนี้มีคุณสมบัติแตกต่างไปจาก P. verrucosa ซึ่ง Brumpt (พ.ศ.2465) ตั้งชื่อว่า Hormodendrum pedrosoi

หลังจากนั้นคำว่า Dermatitis verrucosa ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันอยู่ในเวลานั้น ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนมาเป็น chromoblastomycosis ตามลักษณะของโรคและเชื้อที่เป็นสาเหตุ Carrion ในปี พ.ศ. 2479 ได้พบเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้เพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งคือ Hormodendrum compactum

ในสมัยก่อนเข้าใจว่าเชื้อ dematiaceous fungus มีอยู่เพียง 3 ชนิดและสามารถก่อโรคได้เพียงโรคเดียวเท่านั้นคือ chromoblastomycosis แต่ในปัจจุบันเชื้อในกลุ่มนี้ได้ถูกพบมากขึ้นและทำให้เกิดโรคที่มีลักษณะแตกต่างออกไปอีกหลายรูปแบบ ดังเช่น Beurmann และ Gougerot ได้พบโพรงหนอง ในผิวหนังชั้นลึกและในกล้ามเนื้อ (intramuscular abscess) ที่เกิดจากเชื้อ Exophiala jeanselmei (Sporotrichum gougerotii “Matruchot”) และ Ajello ใช้คำว่า cutaneous phaeohyphomycosis นอกจากนั้นกลุ่มเชื้อดังกล่าวสามารกงอกฝังตัวลงในแผลของโรคผิวหนังบางชนิด เช่น eczema เกิด เป็นโคโลนีสีดำกระจายอยู่ทั่วบริเวณพยาธิสภาพ ซึ่ง Lazo ได้เรียกว่า phaeohyphomycotic colonization

อุบัติการณ์

โรคที่เกิดจากกลุ่มเชื้อ dematiaceous fungus นี้ปรากฏว่า chromoblastomycosis เป็นโรคที่พบรายงานอยู่ในวารสารมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อน เช่น ในทวีป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเซีย แต่ในประเทศที่หนาวจัด เช่น ฟินแลนด์และรัสเซีย ก็ได้มีผู้รายงานโรคนี้ไว้เหมือนกัน chromoblastomycosis พบเกิดขึ้นในผู้ชายเกือบทั้งหมด คงเนื่องจากอุบัติเหตุโดยอาชีพที่ได้รับเชื้อจากดินเข้าไปภายในผิวหนัง ผู้หญิงเป็นโรคได้บ้างแต่น้อยมากผู้ป่วยในประ¬เทศไทยก็เป็นชายทั้งหมดเช่นกัน สำหรับสถิติของโรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ประมาณปีละ 3-5 ราย และเป็นโรค cutaneous phaeohyphomycosis เพียง 5 รายในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งผู้ป่วยเป็นหญิงทั้งหมด

เชื้อราที่ก่อโรคส่วนมากอาศัยอยู่ในดินและกิ่งไม้ หรือเสี้ยนหนามตามพื้นดิน (soil inhabitant) Rippon ได้รายงานไว้ว่า Fonseceae pedrosoi เป็นเชื้อที่พบได้บ่อยที่สุดและอาศัยอยู่ที่กิ่งไม้ตามพื้นดิน Phialophora verrucosa อยู่ตามท่อนไม้ที่ผุเช่นเดียวกันกับ Exophiala jeanselmei และ Cladosporium carrionii เชื้อที่ก่อโรค chromoblastomycosis ในประเทศไทยเป็น F. predosoi แต่เพียงชนิดเดียว

อีกประการหนึ่งเชื้อ dematiaceous fungus บางชนิดอาจพบได้ในบางประเทศเท่านั้น มิได้อาศัยอยู่ตามดินทั่วไปในทุกประเทศ เช่น Hormiscium dermatitides (ปัจจุบันเรียกว่า Wangiella dermatitidis) พบได้บ่อยในประเทศญี่ปุ่น และ Cladosporium carrionii พบในประเทศเวเนซูเอลาและออสเตรเลีย

สาเหตุ

เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรค chromoblasto¬mycosis, cutaneous phaeohyphomycosis และ cutaneous phaeohyphomycotic colonization มีดังต่อไปนี้

Chromoblastomycosis

เชื้อ: Fonsecaea pedrosoi, F. compacta,

Wangiella dermatitidis

Phialophora verrucosa, P. richardsiae

Exophiala jeanselmei, E. spinifera

Cladosporium carrionii, C. bantianum, Cladosporium species.

Cutaneous Phaeohyphomycosis

เชื้อ: E. jeanselmei, E. spinifera, P. verrucosa, P. richardsiae, W. dermatitidis

Cutaneous Phaeomycotic Colonization

เชื้อ: Alternaria, Gurvularia, Cladosporium, Aureoabsidium

พยาธิสภาพ

โรค chromoblastomycosis มีการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาเกิดขึ้นทั่วไปในทุกชั้นของผิวหนัง

ชั้นหนังกำพร้าทั้งหมดมีความหนาตัวขึ้นมาก (acanthosis) และที่ผิวนอกสุดแสดงลักษณะ hyperkeratosis และ parakeratosis เซลล์ในหนังกำพร้ามีการแบ่งตัวเพิ่มและหนาขึ้นมากคล้ายกับเป็นเนื้องอกเรียกว่า pseudoepitheliomatous hyperplasia ที่หนังกำพร้าบางแห่งอาจพบ microabscess เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ อันเป็นผลของการขจัดทางผิวหนัง (transepidermal elimination) และมักจะพบเชื้อราสีนํ้าตาลร่วมอยู่ด้วย

ในชั้นหนังแท้ปฏิกิริยาของเนื้อเยื่อต่อเชื้อแสดงออกในรูปแบบของแกรนูโลม่า อันประกอบด้วย foreign body giant cell, epitheloid cell, ลิมโฟซัยท์, ฮิสติโอซัยท์, อีโอสิโนฟิล และนิวโตรฟิล แต่ไม่พบ central necrosis ซึ่งทำให้สามารถแยกได้จากวัณโรคที่ผิวหนัง นอกจากนั้นยังพบเชื้อที่มีรูปร่างกลมรี มีผนังกั้นแยก พบสีนํ้าตาลเรียงอยู่เม็ดเดียวหรือเป็นกลุ่ม ทั้งภายในก้อนแกรนูโลม่าและ giant cell เชื้อราที่พบนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น Medlar cell (body), fumagoid cell, globoid cell, planate cell, sclerotic cell, copper pennies cell ลักษณะของเชื้ออีกรูปแบบหนึ่งคือ เป็นปล้องสั้นๆ (septate hyphae) ในกรณีที่พบปล้องของเชื้อปะปนกับสปอร์ที่มีรูปร่างกลมทำให้ ผู้รายงานบางท่านตัดคำว่า “blasto” ออกไปเหลือแต่ชื่อของโรคเพียง chromomycosis

ชั้นเบซัลของหนังกำพร้าจะยืดตัวงอกลงในชั้นหนังแท้ (elongation) มีลักษณะเป็น papillomatosis และในขณะเดียวกันหลอดเลือดฝอยก็บิดและขยายตัวตามเข้าไปใน stratum papillare ด้วย นอกจากพบปฏิกริยาแกรนูโลม่าแล้วยังพบการอักเสบเกิดขึ้นรอบหลอดเลือดทั่วๆ ไปในชั้นหนังแท้ รายล้อมไปด้วยลิมโฟซัยท์และอีโอสิโนฟิล ในรายที่โรคเป็นมานานหลอดเลือดจะเพิ่มจำนวนขึ้นและหลอดน้ำเหลืองจะขยายตัวกว้างกว่าปกติ แสดงถึงการอุดตันที่หลอดน้ำเหลืองทั่วไป

ถ้าโรคลุกลามลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนังก็จะพบการอักเสบเกิดขึ้น ไขมันจะลูกทำลายไปบางส่วน และมีไฟโบรสิสตามมาในภายหลัง

ลักษณะทางคลินิค

Chromoblastomycosis เป็นโรคที่มีเอกลักษณ์ทางคลินิคชัดเจนไม่เหมือนโรคผิวหนังชนิดอื่น ยกเว้น tuberculosis verrucosa cutis เท่านั้น

ลักษณะของโรคมีอยู่ 4 ลักษณะด้วยกันคือ

1. เป็นตุ่มขนาดใหญ่ นูน และแข็ง (infiltrative hard papule)

2. เป็นก้อนขนาดใหญ่ยึดติดอยู่ภายใต้ผิวหนัง และมีผิวขรุขระ (infiltrative hard nodules with verrucous surface)

3. ผิวหนังเป็นแผ่นปื้นเนื้อนูนขึ้นมา ผิวหนังลักษณะขรุขระมาก ประกอบด้วยจุดสีดำของเชื้อรา และขุยสะเก็ดซึ่งแคะออกได้ง่าย (verrucous plaques with pigmented grains and crusts)

4. เป็นแผลเป็นแข็ง (dermatosclerosis หรือ depigmented sclerosing scar)

Pedro Lavalle ได้แบ่งการดำเนินโรคไว้เป็น 4 ระยะด้วยกันคือ

ก. ระยะเริ่มต้น (early stage)

ข. ระยะลุกลาม (infective stage)

ค. ระยะสุดท้ายของโรค (late stage)

ง. ภาวะแทรกซ้อน (complication)

ก. ระยะเริ่มต้น

โรคเริ่มต้นตรงบริเวณผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บมาก่อน เช่น หกล้ม หรือถูกหนาม หรือเสี้ยนไม้จากพื้นดินตำ

เชื้อใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1 เดือนจึงเกิดอาการของโรคขึ้นโดยมีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงไม่ปวดหรือคัน

ตำแหน่งของโรคมักพบที่เท้าและขาเป็นส่วนมาก เพราะได้รับบาดเจ็บง่ายกว่าส่วนอื่นของร่างกาย เช่น มือและแขน ในผู้ป่วยของเรารายหนึ่งโรคเกิดขึ้นที่รอบรูทวารหนักและลุกลามจนเป็นเต็มตะโพก เนื่องจากผู้ป่วยใช้เศษไม้จากดินเช็ดก้นทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ

ตุ่มโรคดังกล่าวนี้จะขยายตัวโตขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เป็นหนองจนมีขนาดใหญ่เป็นก้อน (nodule) ยึดติดกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

การลุกลามของโรคนี้ค่อยเป็นค่อยไป และกินเวลานานเป็นแรมเดือนจนถึงปี กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวว่าเป็นโรค

เพราะโรคไม่มีอาการเจ็บปวดรบกวนผู้ป่วย ตุ่มก้อนที่พบนี้มีลักษณะเป็นแกรนูโลม่า ผิวของก้อนโรคจะเพิ่มความหนาตัวขึ้น และสากแข็งขรุขระคล้ายหนังปลากระเบน (ver¬rucous) นอกจากนั้นยังพบจุดสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำของเชื้อราแทรกอยู่ในบริเวณที่เป็นโรค เมื่อเขี่ยจุดเหล่านี้มาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็น sclerotic cell ของเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก

ข. ระยะลุกลาม

ในระยะนี้ก้อนโรคที่มีลักษณะเป็นก้อนหรือตุ่มแกรนูโลม่าจะลุกลามขยายตัวกลายเป็นปื้นกว้าง (plaque) โดยมีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงเป็นขนาดใหญ่ เท่าฝ่ามือก็ได้ ผิวของแผ่นเนื้อที่หนาขึ้นนี้มีความขรุขระมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมเรียกว่า papillomatosis โรคสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามกาลเวลาและแพร่ตัวออกไปจนเต็มขา แขน หรือก้น ซึ่งอาจพบลักษณะของโรคได้ดังนี้คือ

1. Verrucous หรือ papillomatosis

2. Tuberculoid

3. Syphiloid

4. Psoriasiform

ค. ระยะสุดท้ายของโรค

อาการของโรค chromoblastomycosis ในผู้ป่วยบางรายจะหยุดการแพร่ตัวและหายได้เองเป็นบางส่วน

และเหลือแต่รอยแผลเป็นที่ผิวหนังมีลักษณะแข็งตาย (dermatosclerosis) เอาไว้

ง. ภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีที่โรคมีอาการรุนแรงและเป็นลึกลงไปใต้ผิวหนังจนถึงชั้นไขมัน หลอดนํ้าเหลืองต่างๆ ของขาหรือแขนอาจถูกทำลายและอุดตัน ทำให้ผิวหนังมีลักษณะบวมแข็งและกดไม่มีรอยบุ๋ม (elephantiasis) เนื่องจากเกิดอาการคั่งของนํ้าเหลือง

เมื่อผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคถูกทำลายไป การป้องกันการติดเชื้อของร่างกายก็ตํ่าลงทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่าย เช่น erysipelas, cellulitis หรือ pyoderma ซึ่งเป็นปัญหายุ่งยากในการรักษาในภายหลัง

การวินิจฉัย

1. อาศัยลักษณะทางคลินิคและประวัติของการบาดเจ็บ

2. พยาธิสภาพของโรคที่มีลักษณะเป็นแกรนูโลม่าโดยมีเชื้อราร่วมอยู่ด้วย

3. โดยการเพาะเลี้ยงและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ

การวินิจฉัยแยกโรค

1. Tuberculosis verrucosa cutis วัณโรคที่ผิวหนังชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ chromoblastomycosis มาก แทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากอาศัยการตรวจพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อโดย อาศัยลักษณะของแกรนูโลม่าและการพบเชื้อ ซึ่งในวัณโรคจะไม่พบเชื้อรา ส่วนการทดสอบทูเบอร์คูลิน นั้นแปลผลได้ยากเพราะโดยทั่วไปมักให้ผลบวกในคนไทยที่ไม่เป็นวัณโรคอยู่แล้ว

2. Cutaneous leishmaniasis ปัจจุบันมีคนไทยไปทำงานในประเทศตะวันออกกลางและติดโรคนี้กลับมาบ้านหลายคน โรคนี้ในระยะเริ่มต้นมีลักษณะทางคลินิคคล้ายคลึงกับ chromoblastomycosis อยู่มาก แต่ก็สามารถแยกออกจากกันได้โดยการตรวจพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อหรือย้อมเชื้อจากแผลที่เป็นโรค โดยพบ Leishmania tropica

3. Syphilitic gumma และ psoriasiform syphilides แยกจากกันโดยพยาธิสภาพและการตรวจซีรั่มของโรคซิฟิลิส

4. Mycetoma ซึ่งพบมี sinus และ fistula ผิวหนังไม่ขรุขระ และประการสุดท้ายต้องอาศัยการวินิจฉัยและแยกเชื้อในวุ้นเพาะเลี้ยงเชื้อ

5. Candida granuloma มีลักษณะเป็นแผ่นสะเก็ดนํ้าเหลือง โรคมักกระจายไปทั่วตัว โดยเฉพาะที่ปากและขอบเล็บ เชื้อที่แยกได้คือ Candida albicans

6. Papillomatosis nigra เป็นสภาพของผิวหนังที่หนา มีผิวขรุขระเป็นครีบละเอียดสีดำ (verrucous growth) เกิดขึ้นที่แขนและขา เนื่องจากมีการอุดตันที่หลอดนํ้าเหลืองเป็นเวลานานๆ

7. Hypertrophic neurodermatitis (lichen simplex chronicus) เป็นการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังที่มีลักษณะหนาสากและคันมาก โรคนี้ไม่พบกลุ่มเชื้อราที่บริเวณพยาธิสภาพ

Cutaneous Phaeohyphomycosis

(Phaeomycotic Cyst, Cystic Chromomycosis, Subcutaneoues Mycotic Abscess)

เป็นโรคเชื้อราที่เกิดจากกลุ่ม pigmented fungus ดังกล่าวมาแล้ว โดยที่โรคมีลักษณะเป็นโพรงหนองเกิดขึ้นในผิวหนังชั้นลึกจนถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง

พยาธิสภาพ

Cutaneous phaeohyphomycosis มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นในชั้นหนังแท้ หรืออาจลึกลงไปจนถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ชั้นหนังกำพร้าหนาตัวขึ้น (acanthosis) บ้างเล็กน้อย ในบริเวณพยาธิสภาพจะพบการ ตายของเนื้อชั้นหนังแท้ซึ่งย้อมติดสีชมพูอ่อน (hyalinized necrosis) และแสดงลักษณะเป็นโพรงหนอง โดยมีเยื่อพังผืดหุ้มล้อม มีลักษณะคล้ายผนังของฝี การอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นชนิด mixed-cell granuloma นอกจากนี้ยังพบเชื้อราที่ก่อโรคมีรูปร่างเป็นสปอร์และท่อนปล้องมีผนังกั้นแยก มีสีน้ำตาล กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น แต่ไม่รวมกันเป็นโค โลนีอย่างใน mycetoma

ส่วนใน phaeohyphomycotic colonization พบแต่โคโลนีของเชื้อรางอกตัวลงไปในแผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น

ลักษณะทางคลินิค

โรคเริ่มต้นตรงแผลที่ผิวหนังที่ถูกทิ่มตำ (puncture wound) และมีเชื้อราเข้าไป โรคนี้มีระยะฟักตัวสั้นกว่า chromoblastomycosis บริเวณที่พบโรคได้บ่อยคือ ขาและเท้า แต่ที่มือก็พบได้

โพรงหนองมักจะเกิดขึ้นเพียงแห่งเดียวแต่อาจมากกว่านั้นก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง อักเสบในระยะแรก และกลายเป็นโพรงหนองที่น่วม ในเวลาต่อมา ระยะนี้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเจ็บและปวด เนื่องจากความตึงของก้อนโรค โพรงหนองไม่มีขนาดที่แน่นอน อาจจะเล็กหรือใหญ่ก็ได้ขึ้นอยู่กับเวลาที่เป็นโรค จำนวนของเชื้อและภูมิต้านทานของร่างกาย เมื่อเป็นนานๆ ผิวหนังบนส่วนของโรคจะแตกออก กลายเป็นแผลและมีหนองปนกับโคโลนีสีนํ้าตาลของเชื้อราไหลออกมา ซึ่งมีทั้งสปอร์ที่กลมและท่อนปล้องอันเป็นลักษณะของเชื้อ E. jeanselmei หรือ W. dermatitidis โดยทั่วไปเชื้อไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมนํ้าเหลืองใกล้เคียงนอกจากในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานตํ่า เช่นในโรคเบาหวานหรือลิมโฟม่า

Rippon ได้เน้นว่าในการเจาะโพรงหนอง ต้องระวังให้มากเพราะจะเกิด sinus และ fistula ขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับยาประเภทสตีรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะภายใน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การวินิจฉัย

เช่นเดียวกับโรค chromoblastomycosis

Cutaneous Phaeohyphomycotic Colonization

เป็นโรคที่เกิดจาก pigmented fungus เช่นเดียวกัน ซึ่งมักพบเกิดขึ้นที่ผิวหนังที่มีโรคอื่นอยู่ก่อน เช่น แผลเรื้อรัง ร่องแตกที่เท้า โรคผิวหนังเรื้อรัง (Lichen simplex chronicus) เชื้อเหล่านี้จะงอกเข้าไปและฝังตัวอยู่ในบริเวณนั้นเกิดเป็นโคโลนีกระจายทั่วไปในผิวหนังบริเวณที่เป็นโรค พยาธิสภาพของโรคนี้มักอยู่ตื้นๆ ที่ผิวหนังโดยไม่มีอาการรุนแรง แต่ถ้าสภาพของร่างกายอ่อนแอมีภูมิต้านทานตํ่า โรคนี้ก็สามารถกระจายตัวเป็นมากขึ้นได้

การวินิจฉัยแยกโรค

1. Cystic disease ทั่วๆ ไป การแยกโรคต้องอาศัยการเจาะหาเชื้อราและศึกษาพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อ

2. Cold abscess (ฝีสบาย) จากวัณโรค

3. Phlegmon จากแบคทีเรียเชื้อหนอง (pyogenic bacteria)

4. Pyoderma เช่น ฝี (furunculosis) ขนาดใหญ่

5. Botryomycosis จากเชื้อ Staphylococcus

การรักษา

โรคเชื้อราทั้ง 3 ชนิดที่เกิดจาก dematiaceous fungus นี้สามารถรักษาได้ตามวิธีการดังต่อไปนี้

1. ตัดออกโดยวิธีทางศัลยกรรมพลาสติค วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดและสิ้นค่าใช้จ่ายน้อย นิยมทำในกรณีที่โรคมีขนาดเล็กและเป็นตำแหน่งเดียว ในกรณีที่โรคมีขนาดเล็กมากและอยู่ตื้นอาจจี้ด้วยไฟฟ้า แต่จะทำให้เกิดแผลเป็นในภายหลัง

2. ใช้ยาทาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ วิธีนี้ไม่ค่อยได้ใช้กันแล้ว เพราะโรคอยู่ลึกเกินไปที่ยาจะเข้าไปถึงเชื้อ ยาที่ใช้ได้แก่ ครีมหรือขี้ผึ้งผสมกับตัวยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เช่น กรดซาลิซัย์ลิค 10%, oxyquinoline, thiabendazole หรือ imidazole ยากลุ่มนี้ ใช้ได้ผลบ้างในระยะเริ่มต้นของ cutaneous phaeohyphomycotic colonization เท่านั้น และควรใส่ dimethyl sulfoxide เข้าไปด้วยเพื่อช่วยการซึมของตัวยา

3. การใช้ยารักษาภายใน วิธีนี้ใช้รักษาเมื่อโรคเป็นมากโดยที่ไม่สามารถใช้วิธีที่ 1 และ 2 ได้ ยาที่ใช้ในการรักษามีดังต่อไปนี้

ก. Amphotericin B เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้หยดเข้าทางหลอดเลือดดำในน้ำยากลูโคส 5% 500 มล. เริ่มต้นด้วยขนาด 0.25 มก.จนถึง 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. (ขนาดของยาไม่เกิน 50 มก.) อาจให้ยาวันเว้นวันหรือน้อยกว่าตามแต่ผู้ป่วยจะทนยาได้ การรักษาใช้เวลาค่อนข้างนาน อาจเป็นแรมเดือนหรือปี เมื่อโรคยุบหายแล้วควรให้ยาต่อไปอีกประมาณ 2-3 เดือน เพื่อป้องกันการกลับของโรค ซึ่งปรากฏอยู่เสมอ เมื่อหยุดยาเนิ่นนานเกินไป

ยานี้ได้ผลดีมากต่อเชื้อ F. pedrosoi, P. verrucosa และ F. compactum

ข. 5-Fluorocytosine เป็นยาเม็ดสังเคราะห์มีขนาดเม็ดละ 500 มก. ได้ผลดีมากต่อเชื้อทั้ง 3 ชนิดในข้อ ก. โดยใช้ขนาด 8-12 กรัม/วัน ข้อเสียของยานี้คือ เชื้อดื้อต่อยาได้ค่อนข้างเร็ว จึงควรใช้ร่วมกับ amphotericin B

ค. Thiabendazole ยานี้ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกันนิยมใช้กันมากในการรักษาโรค chromoblastomycosis และรายงานว่าได้ผลดี โดยใช้รับประทานในขนาด 1 กรัม/วัน แต่พิษและผลข้างเคียงของยาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

ง. โปแตสเซียม ไอโอไดด์ (KI) เป็นยาที่ใช้กันมานานและได้ผลบ้างในการคุมโรคที่เกิดจาก pigmented fungus เช่น E. jeanselmei, F. pedrosoi และ P. verrucosa แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ จึงค่อยๆ หมดความนิยมลงไป ขนาดที่ใช้เริ่มตั้งแต่ 1-9 กรัม/วัน

จ. Ketoconazole เป็นยาสังเคราะห์ในกลุ่ม imidazole และเพิ่งจะเริ่มนำออกมาใช้ ผลของการรักษาจึงยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน โดยใช้รับประทานในขนาด 200 มก./วัน

ที่มา:เมระนี เทียนประสิทธิ์

http://www.healthcarethai.com/chromoblastomycosis/