Bell's palsy

โรคอัมพาตใบหน้า

Quick Rx: Prednisolone 60 mgx5 day then 40 mg x5day

http://www.aafp.org/afp/2007/1001/p997.html

http://mdnote.wikispaces.com/Bell%27s+palsy

โรคนี้รู้จักกันมานานเกือบ 200 ปีแล้ว โดย น.พ.เซอร์ชาร์ล เบลล์ เป็นคนแรกที่รวบรวมผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นใน พ.ศ.2364 จึงมีชื่อเรียกติดต่อกันมาในภายหลังว่า Bell palsyหรือ อัมพาตของเบลล์

โรคนี้เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนแต่เชื่อว่าเชื้อไวรัสน่าจะเป็นตัวการสำคัญ โดยเฉพาะเชื้อเริม โรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรงแต่มักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นโดยมีอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเพียงซีกเดียวและมักเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน โรคนี้มักจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างสูงขึ้นกับผู้ป่วยเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคอัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมองตามมา ที่อาจทำให้เกิดความพิการจนเดินไม่ได้และต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดไป

โรคอัมพาตใบหน้านี้เป็นโรคคนละกลุ่มกับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตที่คนทั่วๆไปรู้จัก กล่าวคือ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง แต่โรคอัมพาตใบหน้านี้เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า

อุบัติการณ์

อัตราความชุกของโรคอัมพาตใบหน้านี้พบว่าใกล้เคียงกันทั่วโลกคือ เกิดขึ้นบ่อยราวๆ 25 คนต่อประชากรแสนคนในทุกๆ ปี โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายพอๆ กัน และใครที่เคยเป็นโรคนี้แล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกในความเสี่ยงเท่ากับคนทั่วไปมีผู้เคยคำนวณว่าในช่วงชีวิตของคน คนหนึ่งนั้นมีโอกาสที่จะเกิดโรคอัมพาตใบหน้าสูงถึง 1 ใน 500 คน หรือร้อยละ 0.2 และจะมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย และเป็นผู้ป่วยเบาหวาน

ในประเทศไทยเรายังไม่เคยมีการศึกษาสำรวจอย่างแน่นอนถึงสถิติเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของการเกิดโรคนี้ในประชากรแต่อย่างใด แต่คาดว่าตัวเลขจริงๆ คงใกล้เคียงกันกับของต่างประเทศ และโรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมแต่อย่างใด จึงไม่พบบ่อยในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

สาเหตุ

แม้ว่าในปัจจุบันเราจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่ก็มีคนสงสัยว่าอาจเกิดจากเชื้อไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันก็ยังไม่ยืนยันถึงข้อสนับสนุนว่าโรคนี้เกิดจากไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ ล่าสุดมีการศึกษาจากญี่ปุ่นว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม(Herpes simplex typeI)เป็นสาเหตุใหญ่ของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ไวรัสตัวที่สามารถก่อให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าได้แน่นอนคือไวรัสจากโรคงูสวัด แต่พบได้น้อย และเราไม่เรียกว่าเป็นโรค Bell palsy แต่อย่างใด แต่มีชื่อเรียกพิเศษต่างหากออกไปว่า Ramsay-Hunt syndrome

โรคอัมพาตใบหน้าชนิดเบลล์นี้มีข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือสตรีในขณะตั้งครรภ์มีอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

ลักษณะอาการทางคลินิก

ผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้านั้น พบว่ามักจะเกิดอาการขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน หรือแบบทันทีทันใดและไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน กล่าวคืออาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียวเพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิทในเวลาถูกลม หรือมีอาการรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใดข้างหนึ่ง

ต่อมาอาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนปากเบี้ยวและปิดตาไม่สนิท จนสามารถสังเกตมองเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วยพูด ยิ้ม หรือกะพริบตาบางรายอาจมีอาการมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนมาพบแพทย์เพราะสังเกตว่าพูดไม่ชัดหรือผิวปากไม่ดัง หรือดูดโอเลี้ยงไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้ดีเช่นปกติ

หลายคนบ่นว่า มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวมหรือตึงและชาๆ ที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้ เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะมีผลทำให้เลือดมาคั่งในบริเวณนั้นมากกว่าปรกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่บริเวณใบหน้าจึงเกิดลักษณะอาการแบบชาๆ ขึ้นมาได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด

อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าในโรคนี้มักจะมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 2-3 วัน และผู้ป่วยก็มักจะสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการปากเบี้ยวอย่างชัดเจน ผู้ป่วยบางคนอาจเข้าใจผิดและเถียงกับแพทย์ว่าตัวเองปากเบี้ยวไปข้างขวาแต่แพทย์บอกว่าเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าด้านซ้าย เพราะในทางการแพทย์แม้ปากจะเบี้ยวมาทางขวาก็จริงแต่พยาธิสภาพเกิดจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างซ้าย เราก็จะเรียกว่ามีปากเบี้ยวข้างซ้าย ไม่ใช่ปากเบี้ยวข้างขวา

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้าอีกเช่น

1. อาการชาลิ้นและไม่รู้รสที่ลิ้นซีกเดียวกับด้านที่มีอัมพาตของใบหน้า.

2. อาการน้ำตาแห้งหรือไม่มีน้ำตาไหลข้างเดียวกับที่มีอัมพาตใบหน้า, แต่บางรายกลับมีน้ำตาไหลออกมามากอันเนื่องจากมีการระคายเคืองจากลมหรือฝุ่นละอองที่มีผลต่อลูกนัยน์ตาที่ปิดไม่สนิท.

3.อาการมีเสียงดังในหูข้างเดียวกับด้านที่มีอัมพาตของใบหน้า(hyperacusis)

4.มีอาการปวดบริเวณหลังหู(posterior auricular pain) อาการอาจมีก่อนหรือหลังหน้าเบี้ยวก็ได้

ผู้ป่วยรายใดที่มีอาการน้ำตาแห้งหรือมีเสียงดังในหูหรือลิ้นชาไม่รู้รสครึ่งซีกร่วมด้วยกับอาการอัมพาตใบหน้านั้น มักจะมีการพื้นตัวของโรคได้ไม่ดี สู้ผู้ป่วยรายที่มีแต่อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างเดียวไม่ได้

Diagnosis

การวินิจฉัยโดยการซักประวัติตรวจร่างกาย ร่วมกับการแยกโรคอื่นที่ทำให้เกิดเส้นประสาทเป็นอัมพาตออกไป

Differential diagnosis

ผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้านั้นจำเป็นต้องแยกจากโรคอื่นๆ ที่อาจมีอาการนำหรืออาการแสดงของโรคแบบอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าได้แก่ โรคหูน้ำหนวก กรณีเกิดตามหลังอุบัติเหตุต่อศีรษะ โรคเรื้อน โรคมะเร็งโพรงจมูก โรคเนื้องอกของประสาทสมอง และโรคเนื้องอกของต่อมน้ำลายหน้าหู ตลอดจนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

(Ramsey-Hunt syndrome, lymphoma, sarcoidosis, Lyme disease, Guillain-Barré syndrome)

อย่างไรก็ตามการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ทั่วๆไปก็จะสามารถให้การวินิจฉัยแยกโรคต่างๆ ดังกล่าวออกไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจโดยวิธีพิเศษ เช่น เอกซเรย์สมองด้วยคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

การรักษา

การรักษาประคับประคอง ให้ยาหยอดตาเช่น น้ำตาเทียมป้องกันตาแห้ง ปิดตาป้ายยาก่อนนอน

การให้ยา prednisolone 60-80 mg/day 7-10 วัน Ex. Prednisolone 4x3 pc โดยเริ่มภายใน 72 ชั่วโมงอาการจะหายเร็วขึ้น และการพยากรณ์โรคในระยะยาวจะดีกว่าไม่ได้ใช้ยา และเนื่องจากเชื่อว่าในผู้ป่วยบางรายมีความสัมพันธักับการติดเชื้อ herpes virus บางครั้งจึงมีการให้ยา acyclovir และ valacyclovir ร่วมกับ steroid แต่จากการศึกษายังไม่พบว่าช่วยทำให้การพยากรณ์โรคดีกว่าการใช้ steroid เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีบางรายงานว่าหากให้ทั้งสองตัวอาการหาย 100% หากให้ภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ และ 84 % ถ้าให้หลังจาก 3 วัน

การผ่าตัด เมื่อผลการตรวจทาง electrodiagnosis ในผู้ป่วย complete paralysis มีการพยากรณ์โรคไม่ดี

วิธิการผ่าตัด โดยการทำ decompression ตลอดทางเดินเส้นประสาท เริ่มจาก internal acoustic meatus ลงมาจนเส้นประสาทพ้นกระโหลกศีรษะ

การผ่าตัดทาง middle cranial fossa และ mastoidectomy เพื่อเปิด nerve sheat ให้เส้นประสาทที่บวมอยู่ไม่ถูกรัดแน่นภายในช่องกระดูก(facial canal)

การพยากรณ์โรค

พบว่าผู้ป่วยราวร้อยละ 80-85 จะมีการหายของโรคได้อย่างสมบูรณ์คือหายสนิทจนเป็นปกติ ระยะเวลา recovery ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และดีขึ้นจนหายเป็นปกติใน 3-6 เดือน, ยกเว้นผู้ป่วยบางรายราว 10-15% ที่มีอาการบ่งชี้ของการพยากรณ์โรคที่เลว อันได้แก่

ก) รายที่มีอาการอัมพาตกล้ามเนื้อชนิดรุนแรงจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อใบหน้าได้เลย

ข) รายที่มีโรคประจำตัว อันได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

ค) รายที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้าเกิดขึ้นด้วย (ยกเว้นอาการปวดบริเวณหู)

พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ในขนาดสูงๆ ตั้งแต่ต้น คือภายในสัปดาห์แรกของการเกิดโรคมักจะมีการฟื้นและหายได้อย่างดีถึงร้อยละ 95

สรุป

โรคอัมพาตใบหน้าเป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่พบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ทุกอาชีพและทุกเชื้อชาติ ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 1 ใน 500 คน อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงหรือรุนแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ 100% ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา

โรคนี้ต่างจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดเป็นอัมพาตของร่างกายครึ่งซีก ซึ่งมักจะมีความพิการทางสมองตามมาอย่างถาวร แต่โรคอัมพาตใบหน้าเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่มีความผิดปกติของการทำงานอันเนื่องมาจากมีการบวม และขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงโดยที่เรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริงในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่