Tetanus toxoid

Tetanus toxoid

คำถาม

ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม เกิดเหตุปีที่ 3 ต้องฉีดใหม่อย่างไร

ตอบ

ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีน Tetanus toxoid 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือนประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน จะมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ (0.01 IU/ml) และจะคงอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 3 ปี และหากได้รับครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงเกินกว่าระดับป้องกันโรคได้มากขึ้น และจะคงอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 5 ปี1

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก จะมีวิธีการฉีดดังนี้ คือ ให้ฉีดเข้าในกล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มล. รวม 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1-2 เดือน จากนั้นฉีดอีก 1 ครั้ง ด้วยขนาดเดียวกัน 6-12 เดือน หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งในกรณีผู้ป่วยรายนี้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มซึ่งไม่ครบ 3 เข็ม ให้เริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักตั้งแต่เข็มแรกใหม่

รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีใช้ในเมืองไทย2

- Anatetall® (Chiron Vaccines) --> Tetanus vaccine absorbed

Amp: 0.5 ml (1 dose) Vial: 5 ml (10 dose), 10 ml (20 dose)

- Tetanol® (Chiron Vaccines) --> Tetanus toxoid absorbed

Amp: 0.5 ml (1 dose) Vial: 5 ml (10 dose), 10 ml (20 dose)

- Tetavax® (Aventis Pasteur) --> Absorbed tetanus toxoid

Amp: 0.5 ml (1 dose)

- Te Anatoxal Berna® (Berna/Swiss Serum) --> 10 Lf antigen titanic purificat et adsorbat

Amp: 0.5 ml (1 dose) Vial: 5 ml (10 dose)

ข้อมูลเพิ่มเติม

Tetanus toxoid

เป็นวัคซีนที่ใช้เพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก หรือกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก

ชนิดของวัคซีน

เป็นวัคซีนชนิดผลิตจากพิษ (toxin) ของเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งทำให้หมดพิษโดย formaldehyde3 และผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์และ absorbed ใน aluminium salts มี purified tetanus toxoid ชนิดเดียว

ลักษณะทางกายภาพ

เป็นวัคซีนชนิดน้ำ สีขาว ขุ่น เนื่องจาก aluminium ที่ใส่ลงไปเป็น adjuvant

ส่วนประกอบของวัคซีน

ใน 0.5 มล. ประกอบด้วย purified tetanus toxoid ในปริมาณ 10 Lf

Lf ปริมาณของ toxoid โดยใช้วิธี flocculation ในการวัดปริมาณ

Flocculation test : เป็นวิธีการเปรียบเทียบ potency ของตัวอย่างกับ reference standard โดย referenceที่ใช้ของ tetanus toxoid คือ Reference 1st International Reference Reagent 1998 --> Lyophilized 1,000 Lf/ampoule

โดยนำสาร reference ไป dilute ที่ความเข้มข้นต่างๆ หรือจะใช้ความเข้มข้นเดียวก็ได้ นำสาร reference ฉีดเข้าไปในสัตว์ทดลอง ( guinea pigs or Mice) หลังจากนั้นนำเลือดของสัตว์ทดลองไปวัดความสูงของการตกตะกอนของปฏิกิริยาที่เกิดจา Ag+Ab แล้วนำมา plot graph ระหว่าง ความเข้มข้นกับความสูงของตะกอน นำสารตัวอย่างไปฉีดสัตว์ทดลองเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นนำความสูงของตะกอนที่ได้ไปเปรียบเทียบกับ graph มาตรฐาน ซึ่งจะทราบความเข้มข้นของสารตัวอย่าง

ขนาดและวิธีใช้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก

1. การฉีดวัคซีนชุดแรก (primary immunization)

สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน หรือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักมาก่อน ให้ฉีดเข้าในกล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มล. รวม 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1-2 เดือน จากนั้นฉีดอีก 1 ครั้ง ด้วยขนาดเดียวกัน 6-12 เดือน หลังจากฉีดเข็มที่ 2

2. การฉีดกระตุ้น (reinforcing dose หรือ booster dose )

ให้ฉีดครั้งละ 0.5 มล. ทุก ๆ 10 ปี เพื่อคงระดับภูมิต้านทานโรคตลอดไป

3. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในหญิงมีครรภ์

เพื่อป้องกันโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิด

ให้ซักประวัติการได้รับวัคซีนโดยละเอียด

3.1 ถ้าหญิงมีครรภ์ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเข้ากล้ามเนื้อ ให้ครั้งละ 0.5 มล. รวม 3 ครั้ง โดยเริ่มฉีดครั้งที่ 1 ให้ในโอกาสแรกที่พบ จะเป็นระยะตั้งครรภ์เดือนไหนก็ไ ด้ ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งที่ 1 อย่างน้อย 1 เดือนและครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน (ถ้าฉีดให้ไม่ทันในขณะตั้งครรภ์ ก็ให้หลังคลอด)

3.2 ถ้าหญิงมีครรภ์เคยได้รับวัคซีนบ้องกันโรคบาดทะยักมาแล้ว 1 ครั้ง ควรให้อีก 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในระหว่างตั้งครรภ์

3.3 ถ้าหญิงมีครรภ์เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้ว 2 ครั้ง ควรให้อีก 1 ครั้งในระหว่างตั้งครรภ์

3.4 ถ้าหญิงมีครรภ์เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด ( 3 ครั้ง) มาแล้วเกิน 5 ปี ให้ฉีดกระตุ้นอีกเพียง 1 ครั้ง แต่เคยฉีดครบชุดมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น

3.5 ในกรณีที่ประวัติไม่ชัดเจน ให้ถือว่าไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาก่อน แล้วให้วัคซีนตามข้อ 3.1

4. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักในผู้ที่มีบาดแผล

ก. สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีด tetanus toxoid อย่างเดียวหรือรวมกับวัคซีนอื่นมาครบชุดแล้ว ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำอีก

ข. ถ้าเคยได้รับการฉีด tetanus toxoid อย่างเดียว หรือรวมกับวัคซีนอื่นมาครบชุดแล้วตั้งแต่ระยะเวลาหลังเข็มสุดท้าย 5 ปีขึ้นไปให้ฉีดกระตุ้น 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว

ค. สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีด tetanus toxoid ไม่ครบชุด หรือไม่เคยฉีดมาเลยหรือไม่ทราบว่าเคยฉีดมาก่อนหรือไม่ ให้ฉีด tetanus toxoid 1 ชุด ตามข้อ (1) และหากบาดแผลฉกรรจ์ให้ฉีด antitoxin ให้ด้วย

วิธีผสมวัคซีน

ก่อนใช้ต้องเขย่าขวดจนตะกอนกระจายทั่วเสียก่อน

ข้อควรระวัง

การฉีด tetanus antitoxin ควรถามประวัติการแพ้ต่าง ๆ หรือประวัติเป็นลมพิษและต้องทำการทดสอบผิวหนัง

(intracutaneous sensitivity test) ก่อนทุกครั้ง การทดสอบการแพ้ซีรั่มโดยวิธีฉีดเข้าในหนัง (intracutaneous) อาจทำได้โดยเจือจาง tetanus antitoxin ด้วย normal saline ให้ได้น้ำยา 1 : 100 แล้วฉีดเข้าในหนังขนาด 0.1 มล. จากนั้นเฝ้าดูอาการเป็นเวลา 10-30 นาที ถ้ามีอาการแพ้ หนังบริเวณที่ฉีดจะมีรอยนูนแดง โดยมีส่วนที่นูน (wheal) เกิน 1 ซม. (น้ำยา 1 : 100 ทำได้โดยใช้กระบอกฉีดยาดูด tetanus antitoxin 0.1 มล. แล้วดูด normal saline เข้าไปจนครบ 10 มล.)

ในการฉีดวัคซีนทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการฉีดเข้าในหนังเพื่อทดสอบอาการแพ้หรือฉีดเข้าใต้หนังเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคก็ตาม ต้องเตรียม adrenaline ไว้ให้พร้อมที่จะใช้ได้ทันทีเมื่อผู้รับการฉีดเกิดแพ้

การฉีด tetanus antitoxin ต้องฉีดคนละข้างกับ tetanus toxoid และไม่ผสมปนในกระบอกฉีดเดียวกัน เพราะจะทำให้เสื่อมฤทธิ์

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น

ภูมิคุ้มกันจะเกิดดีที่สุดก็คือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่หัวไหล่ โดยเริ่มเกิดประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนครั้งแรก

1.ถ้าได้รับวัคซีน 3 ครั้ง ภูมิคุ้มกันจะสูงประมาณ 16 เท่าของที่ต้องการในการป้องกันโรค

2.ถ้าฉีด 4 ครั้ง จะให้ภูมิคุ้มกันสูงประมาณ 150 เท่า เด็กที่ฉีดครบ 4 เข็มจะมีภูมิคุ้มกันไปเกิน 10 ปี

3.ในผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีน Tetanus toxoid 2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือนประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน จะมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรคได้ (0.01 IU/ml) และจะคงอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 3 ปี หากได้รับครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 อย่างน้อย 6 เดือน ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีน จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงเกินกว่าระดับป้องกันโรคได้มากขึ้น และจะคงอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนั้นในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงได้แนะนำให้หญิงมีครรภ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน Tetanus toxoid มาก่อนเลย ควรได้รับวัคซีนดังกล่าว 3 ครั้ง หากได้รับไม่ทันในระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ก็จะต้องกลับมารับวัคซีนจนครบ 3 ครั้ง โดยมีระยะห่างตามที่กำหนด

การเก็บและการหมดอายุ

ให้เก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4-8 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะถ้าแช่วัคซีนนี้ให้แข็งจะเสื่อมคุณภาพทันที ถ้าเก็บถูกต้องตามนี้จะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปี นับแต่วันที่ผลิต

ให้ดูฉลากวันหมดอายุด้วย

ความคงตัวของวัคซีน

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 0-8 องศาเซลเซียส มีความคงตัว 3-7 ปี

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 22-25 องศาเซลเซียส มีความคงตัวหลายเดือน

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 35-37 องศาเซลเซียส มีความคงตัวหลายสัปดาห์

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 45 องศาเซลเซียส มีความคงตัว 2 สัปดาห์

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 53 องศาเซลเซียส จะสูญเสียความแรงภายใน 2-3 วัน

เมื่อเก็บวัคซีนที่ 60-65 องศาเซลเซียส จะสูญเสียความแรงภายใน 2-3 วัน

http://drug.pharmacy.psu.ac.th/Question.asp?ID=7044&gid=1

http://www.pharmacafe.com/board/viewtopic.php?f=18&t=14253