Food allergy 2

ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000130053

การแพ้อาหารในทารก

กุมารแพทย์ยันอาการแพ้ในเด็ก 100% เกิดจากแพ้อาหาร อย่ารักษาผิดทาง

- ชี้เจาะเลือดทำสกินเทสต์โอกาสตรวจเจอแค่ 10% พ่อแม่อย่าวางใจให้ลูกกินอาหารปกติหากไม่พบการแพ้

- แนะตรวจหาอาหารทำให้เด็กแพ้ได้ผลชัวร์กว่า ระบุอาการแพ้หายเองได้เมื่อโตขึ้น

- เตือนห้ามทดสอบลองให้อาหารกินเอง เมื่อหายจากอาการแพ้เอง พบ 1 ใน หมื่นมีสิทธิ์ช็อกใน ชม.แรก

ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ สาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า อาการแพ้ต่างๆ ของทารกที่เกิดขึ้น เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นคันเรื้อรัง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น ยืนยันว่า 100% เกิดจากการแพ้อาหารการกินทั้งสิ้น เช่น โปรตีนนมวัว ถั่วต่างๆ ไข่ เป็นต้น ไม่ใช่การเจ็บป่วยธรรมดา แต่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองมักไม่คิดถึงเรื่องการแพ้อาหาร แต่พาลูกไปรักษาที่ปลายเหตุจึงไม่หายจากการเจ็บป่วย ดังนั้น หากลูกมีอาการแพ้ขอให้นึกถึงอาหารการกินก่อนและพามาตรวจว่าเด็กแพ้อาหารอะไรบ้าง แต่ที่น่าห่วงคือพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาลูกไปทำสกินเทสต์ หรือเจาะเลือดเพื่อหาการแพ้นั้น จริงๆ แล้วโอกาสที่ผลการตรวจจะพบการแพ้มีเพียงแค่ 10% เท่านั้น ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่าตรวจไม่เจอการแพ้ก็วางใจ กลับไปให้เด็กกินอาหารเช่นเดิม แต่สุดท้ายเด็กก็ยังเจ็บป่วยอยู่

"การเจาะเลือดทำสกินเทสต์เพื่อหาการแพ้ของเด็กนั้นไม่คุ้ม และผลที่ได้ก็ไม่ชัดเจนเท่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจริง จึงควรมาตรวจรักษาว่าเด็กแพ้อาหารตัวใดกันแน่ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานสิ่งนั้น และให้เด็กรับประทานอาหารอย่างอื่นเพื่อไม่ให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและการพัฒนาของเด็ก อย่างเด็กที่แพ้โปรตีนนมวัวและอาหารหลายชนิด ศิริราชก็จะให้รับประทานนมข้าวอะมิโน เพราะมีโปรตีนที่ไม่เหมือนกับโปรตีนนมวัว ที่สำคัญมีปริมาณน้อยมาก แต่ยังมีคุณค่าสารอาหารอย่างอื่นครบถ้วน ซึ่งหลังจากเปลี่ยนอาหารก็จะทำการตรวจเช็กอาการแพ้เรื่อยๆ ว่าหายแล้วหรือไม่ เพราะอาการแพ้อาหารต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับทารกจนถึงอายุ 2-3 ปีจึงจะหายได้เอง" ศ.นพ.พิภพ กล่าว

ศ.นพ.พิภพ กล่าวอีกว่า การตรวจเช็กว่าเด็กหายจากอาการแพ้แล้วหรือไม่ จะทำการตรวจอาหารที่เด็กแพ้ทีละตัว โดยจะตรวจทุก 3 เดือน แต่หากเป็นเด็กที่โตเกิน 3 ขวบแล้วยังไม่หายก็อาจตรวจทุก 6 เดือน ซึ่งการตรวจใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ทราบผล หากเด็กไม่มีอาการแพ้แล้วก็สามารถให้เด็กรับประทานตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือมีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กหลายรายเมื่อรักษาไปสักระยะแล้ว ลองให้ลูกกลับมากินอาหารเหมือนเดิม เพื่อตรวจเองว่าลูกหายจากอาการแพ้แล้วหรือยัง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะหากเด็กยังไม่หายก็อาจเกิดอาการแพ้ขึ้นใหม่ได้ ที่สำคัญคือ 1 ใน 10,000 ราย มีสิทธิ์เกิดอาการช็อกจากการแพ้ได้ภายในชั่วโมงแรก เพราะแม้แต่การทดสอบการแพ้ในโรงพยาบาล แพทย์ยังต้องเตรียมบุคลากร เครื่องมือ รวมถึงยาแก้แพ้ไว้ช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือหากเด็กเกิดอาการช็อก

"พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรเปลี่ยนให้ลูกกลับมากินอาหารเหมือนเดิมเอง หรือแม้จะผสมลงไปเล็กน้อยก็ไม่ได้ บางรายลองผสมนมวัวกับนมข้าวอะมิโนที่ให้เด็กรับประทาน ซึ่งสุดท้ายเด็กก็ยังเกิดอาการแพ้ หากเกิดอาการช็อกขึ้นมาและช่วยชีวิตไม่ทันเด็กก็อาจเสียชีวิตได้ จึงควรรอผลตรวจจากแพทย์ที่โรงพยาบาลเท่านั้นว่าเด็กหายจากอาการแพ้แล้วจริงๆ จึงให้เด็กรับประทานอาหารได้ตามเดิม" ศ.นพ.พิภพ กล่าว