ความหมายของคำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้”

Post date: 29-Apr-2011 04:43:40

จากการทบทวนวรรณกรรม ทำให้ผมพบความหมายของคำว่าองค์การแห่งการเรียนรู้ไว้พอสมควรทีเดียว ผมเลยขอเอามานำเสนอที่นี่ด้วยครับ

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 มาตรา 11 เป็นกฎหมายที่ส่งผลให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานจำเป็นที่จะต้องเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ โดยในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้อธิบายถึงลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ดังนี้

“ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกันทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้"

Peter M. Senge (2537, อ้างถึงใน สุจิตรา ธนานันท์, 2552) ได้อธิบายถึงความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า

“องค์การแห่งการเรียนรู้ คือ สถานที่ซึ่งคนได้ขยายขีดความสามารถของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์สำหรับพวกเขาอย่างแท้จริง ซึ่งส่งเสริมให้มีรูปแบบการคิดที่แปลกใหม่และขยายวงออกไป เปิดอิสระให้กับความปรารถนาร่วมกันโดยรวม และเป็นแหล่งที่คนจะได้เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง (Learning Organization is organizations where people continually expand their capacity to create the results they truly desire, where new and expansive patterns of thinking are nurtured, where collective aspiration is set free, and where people are continually learning how to learn together)”

Marquardt and Reynolds (2549, อ้างถึงใน สุจิตรา ธนานันท์, 2552) ได้ให้ความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า

“องค์การแห่งการเรียนรู้ คือ องค์การที่มีการเรียนรู้อย่างยิ่ง นอกจากนั้นยังมีการคัดสรรและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการใช้ความรู้เพื่อสร้างความสำเร็จให้แก่องค์การ โดยมีการมอบอำนาจในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานขององค์การให้แก่พนักงานโดยการเรียนรู้จากทั้งภายในและภายนอก นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้และการสร้างผลผลิตให้เกิดผลสูงสุด”

Garvin (2547, อ้างถึงใน ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์, 2552) ได้เสนอความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ว่า

“องค์การแห่งการเรียนรู้ คือ องค์การที่มีทักษะในการสร้าง การได้มา และการถ่ายโอนความรู้ รวมทั้งการปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อสะท้อนถึงความรู้ใหม่และความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (A learning organization is organization skilled at creating, acquiring, and transferring knowledge, and at modifying its behavior to reflect new knowledge and insights.)”

สุจิตรา ธนานันท์ (2552) ได้สรุปความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้ คือ องค์การที่มีความโดดเด่นทางด้านการเรียนรู้ในระดับที่สูง เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง และการเรียนรู้นั้นเป็นไปโดยพร้อมเพรียงกันทั้งองค์การ”

กล่าวโดยสรุป องค์การแห่งการเรียนรู้ หมายถึง “องค์การที่มีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อการให้บุคลากรทั่วทั้งองค์การสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างสะดวกทั่วถึง ทำให้บุคลากรในองค์การเกิดการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นำผลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาใช้ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่องค์การเผชิญอยู่ ตลอดจนนำมาใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ กระบวนการ นวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์การ อันจะส่งผลให้องค์การสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ”