เส้นตรงสามเส้น วงกลมสองวง (For NIDA MPA only !!!)

Post date: 20-Nov-2011 17:05:05

สำหรับบทความนี้ ผมเรียบเรียงจากเนื้อหาที่ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ได้บรรยายไว้อย่างยอดเยี่ยมนะครับ ส่วนจะถ่ายทอดได้สักครึ่งของอาจารย์หรือไม่ จะพยายามเต็มที่นะครับ

เชื่อว่าทุกคนที่ได้เรียนวิชาการวิเคราะห์การเงินและงบประมาณ กับอ.มนตรี คงจะคุ้นกับวลีว่า "เส้นตรงสามเส้น วงกลมสองวง" กันเป็นอย่างดี สำหรับความหมายของวลีนี้ อธิบายได้จากรูปนี้ครับ

สำหรับการบริหารจัดการการเงินภาคเอกชนนั้น เป้าหมายสูงสุดของการบริหารจัดการ ได้แก่ Maximize Profit หรือกำไรสูงสุด ซึ่งจากเป้าหมายนี้ จึงเป็นภารกิจของนักการเงินที่จะต้องบริหารจัดการ แหล่งเงินทุน (Source of Fund) และการใช้เงิน (Use of Fund) โดยจะต้องหาเงินให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุด และจะต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจะทำให้บริษัทได้รับกำไรสูงสุดได้

สำหรับการหาเงินนั้น แหล่งเงินที่ต้นทุนต่ำสุดได้แก่ ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) เนื่องจากเป็นแหล่งเงินที่ไม่ต้องมีดอกเบี้ยและไม่มีภาระหนี้มาคอยตามหลอกหลอน (อาจมีก็เพียงค่าเสียโอกาสในการใช้เงินด้านอื่นๆ บ้าง) วิธีการรวบรวมเงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นเรียกว่า Equity Financing ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง ทุนคนเดียว ทุนหลายคน หรือทุนมหาชน ก็ได้

หากส่วนของผู้ถือหุ้นยังไม่เพียงพอต่อธุรกิจ อาจเริ่มใช้วิธีการก่อหนี้ (Debt Financing) ซึ่งก็อาจใช้ได้ทั้งการกู้ยืมเงินจากธนาคาร (เงินที่ธนาคารนำมาให้กู้เป็นเงินฝากของลูกค้า เมื่อนำมาปล่อยกู้จะบวกค่าส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก หรือที่เรียกว่า Spread ซึ่งเป็นส่วนของค่าบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคาร และกำไรของธนาคาร Spread นี้ทำให้ต้นทุนในการได้มาซึ่งเงินทุนสูงขึ้น) หรือใช้การออกตราสารหนี้ ซึ่งเป็นเสมือนการกู้ยืมเงินจากลูกค้า (ผู้ฝากเงินในธนาคาร) โดยตรง จึงไม่ต้องเสียค่า Spread ทำให้ต้นทุนต่ำลง

หลังจากได้เงินมาแล้ว จึงนำเงินที่ได้มาไปลงทุน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการลงทุนทางตรง และการลงทุนทางอ้อม แต่จะต้องเป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นรายได้ของธุรกิจและกำไรของบริษัทได้ในที่สุด

ในอดีต เพียงใช้เส้นตรงสามเส้นก็อาจเพียงพอ แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การทำธุรกิจเริ่มไม่มีขอบเขตของประเทศมากีดกั้น ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มวงกลมสองวงเข้าไปด้วย โดยวงกลมแรก หมายถึง การจัดการแหล่งเงินและการใช้เงินภายในประเทศ และวงกลมวงที่สอง หมายถึง การจัดการแหล่งเงินและการใช้เงินภายนอกประเทศ

จากภาพนี้ (สามารถคลิ๊กที่ภาพเพื่อดูลำดับการนำเสนอแบบภาพเคลื่อนไหวได้) สามารถลำดับการไหลของเงินได้ดังนี้

  1. เริ่มจากแหล่งเงินแหล่งแรก คือ เงินทุน ซึ่งอยู่ในส่วนของทุน (หรือส่วนของผู้ถือหุ้น) ในการเริ่มต้นธุรกิจนั้น ทุกบริษัทจำเป็นที่จะต้องมีเงินทุนสักส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เสียก่อน ในกรณีที่เงินทุนจากผู้ถือหุ้นไม่เพียงพอ ก็อาจใช้วิธีการกู้ยืมเงินระยะยาว ทำให้เกิดหนี้สินระยะยาวขึ้น
  2. สินทรัพย์ถาวรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการผลิตสินค้าขึ้น เมื่อผลิตแล้วจะต้องจัดเก็บไว้เป็นสินค้าคงคลัง ซึ่งในกรณีที่เงินทุนจากผู้ถือหุ้นไม่เพียงพอ ก็อาจใช้วิธีการกู้ยืมเงินระยะสั้น ทำให้เกิดหนี้สินระยะสั้น เพื่อนำมาใช้ในการซื้อปัจจัยการผลิต เป็นต้น
  3. เมื่อมีสินค้าเพียงพอ จึงเริ่มทำการวางตลาดหรือออกขาย และเมื่อสินค้าขายได้ หากเป็นลูกค้าที่จ่ายเงินสด ก็จะทำให้บริษัทได้เงินสดเข้ามา แต่หากลูกค้าขอเครดิตการชำระเงินหรือผ่อนจ่าย ก็จะทำให้บริษัทได้ลูกหนี้การค้ามา ซึ่งในที่สุดลูกหนี้การค้าก็จะแปลงสภาพเป็นเงินสดในที่สุดเมื่อครบกำหนดชำระเงิน
  4. เงินสดที่ได้มา อาจเรียกได้อีกอย่างว่า ยอดขาย ซึ่งเมื่อนำมาหักต้นทุนสินค้า ก็จะทำให้ได้กำไรขั้นต้น
  5. ในการทำธุรกิจ ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่างๆ เช่น ค่าเอกสารประกอบการขาย ค่าเดินทางของพนักงานขาย เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเหล่านี้จะต้องถูกนำไปหักออกจากกำไรขั้นต้น แล้วจึงได้เป็น กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี
  6. จากการก่อหนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระหนี้คืนบวกกับดอกเบี้ย ซึ่งนับได้ว่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของบริษัท จึงต้องนำดอกเบี้ยไปหักออกจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี จนได้เป็น กำไรก่อนหักภาษี
  7. บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้น จึงต้องนำภาษีมาหักออกจากกำไรก่อนหักภาษี และได้เป็นกำไรหลังหักภาษีในที่สุด
  8. จากกำไรหลังหักภาษีที่ได้มานั้น ธุรกิจจะต้องบริหารจัดการกำไรนี้ โดยเลือกเก็บส่วนหนึ่งไว้สำหรับการลงทุนต่อไป อีกส่วนหนึ่งต้องใช้ในการชำระหนี้ต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินปันผลคืนกลับให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งหากเงินปันผลดีน้ัน ก็จะจูงใจให้ผู้ถือหุ้นลงทุนเพิ่มได้ในอนาคต