สมมติฐานการบัญชี

Post date: 29-Jan-2011 06:33:41

สมมติฐานการบัญชี เป็นข้อตกลงที่ใช้ในการทำบัญชี ซึ่งต้องยอมรับ ไม่เช่นนั้นก็ทำบัญชีไม่ได้ เช่น หลักการใช้หน่วยเงินตรา หลักการใช้หลักฐานอันเที่ยงธรรม หลักการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ เป็นต้น สมมติฐานการบัญชีในบางเรื่องอาจจัดได้ว่าเป็นจุดอ่อนของการบัญชี และอาจกลายเป็นกับดักทางการบัญชีที่ทำให้ผู้บริหารรวมถึงบุคลากรในหน่วยงานใช้ข้อมูลทางการบัญชีผิดผลาด หรืออาจไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของการบัญชีไป ตัวอย่างเช่น หลักโดยประมาณ และหลักราคาทุน หลักราคาทุน ระบุว่าตัวเลขของสินทรัพย์และหนี้สินที่อยู่ในงบดุลจะต้องเป็นราคาต้นทุนที่เกิดจากหลักฐานจริง เช่น ซื้อที่ดินมา 10 ไร่มาในราคา 1 ล้านบาท ย่านรัชดา เมื่อสามสิบปีที่แล้ว ในงบดุลก็จะลงราคาที่ดินไว้ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาจริงในตลาดปัจจุบันแล้ว หลักโดยประมาณ เป็นหลักที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าตัวเลขทางการบัญชีไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องเป็นจริงทั้งหมด อาจมีตัวเลขบางส่วนที่เป็นตัวเลขโดยประมาณ เช่น ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ซึ่งโดยมากมักคิดค่าเสื่อมราคาที่ 5 ปี ดังนั้นตัวเลขในงบดุลจึงเป็นค่าเฉลี่ยในแต่ละปี ซึ่งในความเป็นจริงการเสื่อมของรถยนต์ในแต่ละปีไม่ได้เท่ากัน อย่างไรก็ดี หากจะตรวจสอบตามความเป็นจริงทั้งหมดคงต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ดังนั้นสมมติฐานการบัญชีจึงยอมรับหลักโดยประมาณได้ การที่ผู้บริหารมีความเข้าใจเรื่องสมมติฐานทางการบัญชีจะทำให้ผู้บริหารทราบถึงที่มาของข้อมูล และสามารถนำข้อมูลที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการวางแผนได้