Public Management กับ Private Management ความเหมือน และ ความต่าง

Post date: 08-Aug-2010 13:44:43

    1. ความเหมือน (Similarities)
      • Graham Allison ได้นำเสนอความเหมือนของ Public Management และ Private Management ไว้ว่ามีความเหมือนกันในสิ่งที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ความเหมือนกันในมุมมองของ Graham คือ มี General management functions ที่เหมือนกัน เช่นPOSDCORB (Luther Gulick & Al Urwick) ซึ่งประกอบด้วย Planning, Organizing, Staffing, Directing, Coordinating, Reporting และ Budgeting หรือที่ Graham ได้นำเสนอไว้ว่า General Manager ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็มีหน้าที่เหมือนกัน ได้แก่
        • Strategy ครอบคลุมถึง การกำหนดเป้าหมายขององค์การ จัดลำดับความสำคัญ และวางแผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
        • Managing Internal Components ครอบคลุมถึง การจัดโครงสร้างองค์การ การคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับงาน การกำหนดระบบบริหารจัดการบุคลากร และการติดตามควบคุมประเมินผล โดยหัวใจสำคัญของการบริหารองค์ประกอบภายในขององค์การทั้งหมดต้องมุ่งไปที่การทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกประสบความสำเร็จ
        • Managing external constituencies ครอบคลุมถึง การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ภายในองค์การ การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกองค์การ ตั้งแต่ภาครัฐ องค์การอิสระ บริษัทเอกชน รวมไปถึงการติดต่อประสานงานกับสื่อมวลชน และสาธารณะด้วย
      1. ความต่าง (Differences)
      • โดยสรุปจากแนวคิดของ John T. Dunlop และ Richard E. Neustadt
        • ความแตกต่างเรื่องจุดมุ่งหมายของการบริหาร องค์การภาครัฐมีเป้าหมายการบริหารเพื่อประโยชน์สาธารณะ มุ่งการกระจายผลประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกภาคส่วนอย่างเท่าเที่ยมทั่วถึง (Equity) แตกต่างจากภาคเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ขององค์การเป็นหลัก จึงมุ่งเน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำงานเพื่อมุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitive performance)
        • ความแตกต่างเรื่องระยะเวลา ภายใต้ความสัมพันธ์ของฝ่ายการเมืองกับฝ่ายบริหารที่ฝ่ายการเมืองมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงขององค์การ เช่น ในประเทศไทยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีกรม ผู้บริหารระดับสูงขององค์การภาครัฐจะถูกเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายการเมือง ทำให้ระยะเวลาในการที่ได้มีโอกาสบริหารงานมีจำกัด จึงมักมองแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการปฏิบัติภายใต้กรอบนโยบายของฝ่ายการเมือง และไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาซึ่งทำให้เห็นผลงานได้ช้า ต่างกับภาคเอกชนที่ผู้บริหารระดับสูงมักเป็นเจ้าของกิจการเองหรืออาจเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ทำให้มีระยะเวลาในการบริหารงานองค์การได้นานกว่า จึงสามารถให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและสามารถเก็บเกี่ยวผลงานจากการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ ความแตกต่างนี้ทำให้องค์การภาคเอกชนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่องค์การภาครัฐขาดการพัฒนา
        • ความแตกต่างเรื่องอำนาจการบริหาร ผู้บริหารองค์การภาครัฐมักจะติดขัดในเรื่องของกฎหมายกฎระเบียบของหน่วยงาน อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย ให้คุณให้โทษ เช่น ให้โบนัสกับคนที่ทำงานดีขยันขันแข็ง หรือไล่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานออก ทำให้การดำเนินนโยบายถูกจำกัดอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกฎระเบียบกำหนดไว้ การทำให้คนในองค์การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์การจึงต้องใช้วิธีการเชิญชวน (Persuasion) ขอความร่วมมือ เป็นต้น ในขณะที่ผู้บริหารภาคเอกชนมักจะมีสิทธิอำนาจอย่างเต็มที่ในการบริหารงานจัดการองค์การของตัวเอง (ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย) ตั้งแต่กระบวนการรับเข้าทำงาน การจัดสรรโยกย้ายตำแหน่ง การให้รางวัล การลงโทษจนถึงขั้นไล่ออก ทำให้การบริหารงานภาคเอกชนมีความยืดหยุ่นคล่องตัวสูงกว่า
        • ความแตกต่างเรื่องวิธีการทำงาน ภาครัฐจะต้องทำงานภายใต้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การทำงานนอกกฎระเบียบอาจเป็นเหตุให้ถูกตรวจสอบและลงโทษ เมื่อเจอสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาตรฐานการทำงานมาก่อน จึงไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ ในขณะที่ภาคเอกชนจะทำงานโดยมุ่งเป้าประสงค์ขององค์การมากกว่า โดยไม่ได้คำนึงถึงวิธีปฏิบัติ จึงสามารถยืดหยุ่นปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้
        • อิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก ภาครัฐมักถูกจับตาโดยสังคม ผ่านทางสื่อต่างๆ การคิดการตัดสินใจทำอะไรมักจะได้รับความสนใจจากสังคมรอบข้างและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่สื่อขาดความเป็นกลางมีการนำเสนอความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปปะปนกับข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสารที่ผิดพลาดในบางครั้ง และทำให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ในขณะที่การดำเนินการของภาคเอกชนมักไม่ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อมวลชน และถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังสามารถตัดสินใจทำในสิ่งที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์การได้เนื่องจากผู้ตัดสินใจเป็นเจ้าของบริษัทนั้นเอง
        • การวัดผลความสำเร็จขององค์การ ภาคเอกชนมีการวัดผลความสำเร็จอย่างชัดเจนมากกว่า โดยการวัดจากเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ การสร้างผลกำไรให้กับบริษัท เป็นต้น ในขณะที่ภาครัฐจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งเป็นปัจจัยที่วัดและประเมินได้ยาก เช่น จริยธรรม ความเป็นธรรม เป็นต้น
      1. การเปรียบเทียบระหว่างการจัดการภาครัฐและเอกชนในทัศนะของนักศึกษา
      • ผมมีความคิดเห็นสอดคล้องกับแนวคิดของ Henry Mintzberg กล่าวคือ การจัดการภาครัฐไม่ได้ไม่ดีเสมอไป การจัดการภาคเอกชนก็ไม่ได้ดีเสมอไป ทั้งการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน เป้าหมายหลักของการบริหารจัดการก็มีความแตกต่างกัน การจะเลือกใช้แนวคิดใดนั้นจำเป็นที่จะต้องดูบริบทขององค์การนั้นๆ และสังคมโดยรวมประกอบ พร้อมทั้งผสมผสานแนวความคิดของการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกันเพื่อประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์การที่เราต้องบริหารจัดการ
      • ยกตัวอย่างเช่น องค์การที่เป็นองค์การด้านบริการประชาชน ควรจะนำเอาแนวคิดการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer Satisfaction) มาใช้ โดยการสนับสนุนให้ข้าราชการมีจิตสำนึกการบริการ (Service Mind) และการปรับลดกระบวนการทำงานให้กระชับมากขึ้น ลดการใช้หลักฐานเอกสารที่ไม่จำเป็น ลดการที่ประชาชนต้องไปติดต่อหลายๆ หน่วยงานในเรื่องๆ เดียวโดยการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมขึ้น เป็นต้น
      • อย่างไรก็ดีแนวคิดบางอย่างก็ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับภาครัฐ เช่น การเน้นประสิทธิภาพ ความคุ้มทุนของดำเนินการ จนลืมคำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นธรรมในการให้บริการ โดยเฉพาะในบริการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า หรือการเดินทาง