กรอบในการวิเคราะห์ระบบการเมือง 3: กรอบการแบ่งอำนาจทางการเมือง

Post date: 05-Nov-2010 06:58:54

การใช้กรอบการแบ่งอำนาจทางการเมือง ทำให้สามารถแบ่งระบบการเมืองออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. รัฐเดี่ยว รัฐบาลกลางกุมอำนาจทางการเมืองอย่างชอบธรรม โดยสามารถมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้กับหน่วยราชการในระดับอื่นๆ ได้ เช่น หน่วยงานส่วนภูมิภาค เป็นต้น ของไทยจัดอยู่ในประเภทนี้ แม้ว่าจะมีการแบ่งเป็นจังหวัด แต่จังหวัดก็เป็นเพียงแขนขาของส่วนกลาง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลางด้วยเช่นกัน
  2. สาธารณรัฐ มีการแบ่งอำนาจทางการเมืองอย่างชัดเจน ระหว่างรัฐบาลกลาง และรัฐบาลในระดับอื่นๆ เช่น มลรัฐ
  3. สหพันธรัฐ หมายถึง การมารวมกันของประเทศต่างๆ อย่างหลวมๆ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันบางอย่าง

สาธารณรัฐ (Federation) เป็นรูปแบบการแบ่งอำนาจทางการปกครองประเภทหนึ่ง นอกจากรัฐเดี่ยว (Unitary State) และสหพันธรัฐ (Confederation) ซึ่งรูปแบบการแบ่งอำนาจทางการปกครองเหล่านี้ สามารถนำมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ระบบการเมืองได้

ในรูปแบบของสาธารณรัฐจะประกอบไปด้วย รัฐบาลกลาง และรัฐบาลในระดับท้องถิ่น เช่น มลรัฐ โดยมีการแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลระดับมลรัฐหรืออื่นๆ และเนื่องจากมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประสานงานกันอย่างมาก ทั้งการประสานงานระหว่างมลรัฐ และการประสานงานระหว่างมลรัฐกับรัฐบาลกลาง

สาธารณรัฐอาจเกิดจากการที่ประเทศนั้นมีขนาดใหญ่มาก ทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถดูแลประเทศได้อย่างทั่วถึงจึงต้องมีการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่น เช่น บราซิล แคนาดา อินเดีย เป็นต้น หรืออาจเกิดจากการที่มลรัฐต่างๆ มีความเข้มแข็งตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว ต่างรัฐต่างเข้มแข็งแต่ตัดสินใจมารวมกัน และมอบอำนาจส่วนหนึ่งของมลรัฐให้กับรัฐบาลกลาง เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้สาเหตุของการเกิดสาธารณรัฐ อาจมาจากการรวมกันเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกันก็ต้องการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความแตกต่างของมลรัฐของตัวเอง เนื่องจากมีความแตกต่างที่หลากหลาย เช่น อินเดีย หรืออาจเกิดจากการที่มารวมกันเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน หรืออาจเกิดจากการต้องการแบ่งแยกอำนาจออกจากรัฐบาลกลางซึ่งมีอำนาจมากเกินไป เช่น กรณีของเยอรมันนี หลังจากยุคของฮิตเลอร์ เป็นต้น