ทฤษฎีโครงสร้างตามสถานการณ์ (Structural Contingency Theory)

Post date: 16-Dec-2010 11:05:30

เกิดจากฐานคติที่เชื่อว่าองค์การเป็นระบบเปิด จึงได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายนอก เพราะฉะนั้นองค์การที่จะสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิผลได้ จะต้องมีการจัดโครงสร้างองค์การให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมิติที่ใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างองค์การ

มิติที่ใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างองค์การ มี ๓ มิติ ได้แก่ ความซับซ้อน (Complexity) ความเป็นทางการ (Formalization) และการรวมอำนาจ (Centralization)

ความซับซ้อน ง่ายที่สุดให้วิเคราะห์จากผังโครงสร้างองค์การ โดยแบ่งออกได้เป็น ๓ มิติ ได้แก่ ความซับซ้อนในแนวราบ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนหน่วยงานที่อยู่ในระดับเดียวกันว่ามีจำนวนมากหรือน้อย ความซับซ้อนในแนวดิ่ง ซึ่งพิจารณาจากจำนวนลำดับชั้นของสายการบังคับบัญชา และความซับซ้อนเชิงพื้นที่ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนสาขาที่ทำงานอยู่ในต่างพื้นที่กันของหน่วยงานนั้น

ความเป็นทางการ พิจารณาจากกฎระเบียบมีชัดเจนหรือไม่ กระบวนการทำงานมีขั้นตอนที่ชัดเจนตายตัวหรือไม่ อาจแสดงออกมาทางการแต่งกายแบบมียูนิฟอร์ม ต้องมีการตอกบัตรเข้าทำงาน ทำงานตามคู่มือเท่านั้น เป็นต้น ส่วนใหญ่ระบบราชการจะมีความเป็นทางการสูงอยู่แล้ว รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมด้วย

การรวมอำนาจ หรือกระจายอำนาจ พิจารณาจากเวลาที่ต้องมีการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ผู้บริหารอนุญาตให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีการแสดงออกความคิดเห็นหรือเป็นผู้ตัดสินใจในบางเรื่องได้บ้างหรือไม่

ปัจจัยที่มีผลต่อโครงสร้างองค์การ

ปัจจัยที่มีผลต่อโครงสร้างองค์การ มี ๔ ปัจจัย ได้แก่ สภาพแวดล้อมภายนอก กลยุทธ์ขององค์การ ขนาดขององค์การ และเทคโนโลยี

สภาพแวดล้อมภายนอก

แบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ สภาพแวดล้อมทั่วไป ซึ่งทุกองค์การต้องเผชิญเหมือนๆ กัน ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสภาพแวดล้อมเฉพาะ ซึ่งแต่ละองค์การมีไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะหมายถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เกี่ยวข้องกับองค์การโดยตรง อาทิ ลูกค้าหรือผู้รับบริการ ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง ภาครัฐ สหภาพแรงงาน สมาคมผู้ประกอบการ กลุ่มผลักดันต่างๆ การวิเคราะห์จะต้องดูว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่กล่าวมามีผลต่อองค์การมากน้อยขนาดไหน สำหรับราชการ ซัพพลายเออร์ คู่แข่ง สหภาพแรงงาน สมาคมผู้ประกอบการ อาจไม่มีผลกับองค์การมากนัก การวิเคราะห์จะต้องให้เหตุผลประกอบด้วย เช่น การเมืองมีผลต่อองค์การมาก เนื่องจากภารกิจหลักของหน่วยงานจะต้องตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ หากมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายการเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งทำให้งานที่เคยทำมาต้องเปลี่ยนแปลงหรือบางครั้งต้องยกเลิกโครงการไปเลย เป็นต้น

หลังจากที่วิเคราะห์ว่าปัจจัยสภาพแวดล้อมแต่ละอย่างมีผลกระทบมากน้อยอย่างไรต่อองค์การแล้ว จะต้องวิเคราะห์ต่อว่า สภาพแวดล้อมขององค์การเราจัดว่ามีความผันผวนมากน้อยขนาดไหน ซึ่งตรงจุดนี้จะมีผลต่อโครงสร้างองค์การว่า ควรจะใช้โครงสร้างองค์การแบบใด ระหว่างแบบเครื่องจักร หรือแบบสิ่งมีชีวิต การแบ่งประเภทของสภาพแวดล้อมโดยใช้เกณฑ์ของ Emery & Trist สามารถแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท แต่ละประเภทจะเหมาะกับองค์การแต่ละแบบ ดังนี้

กลยุทธ์ขององค์การ

กลยุทธ์ขององค์การย่อมส่งผลต่อโครงสร้างองค์การตามแนวคิดของ Chandler ซึ่งการวิเคราะห์กลยุทธ์จะใช้กรอบของ Miles & Snow หรือ Michael E.Porter สำหรับหน่วยงานราชการอาจไม่มีกลยุทธ์ชัดเจน โดยเฉพาะตามแนวคิดของพอร์เตอร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์เชิงการแข่งขัน แต่ยังอาจสามารถวิเคราะห์ตามกรอบของไมล์และสโนว์ได้ เช่น หน่วยงานของท่านเน้นกลยุทธ์ป้องกัน กลยุทธ์แสวงหาโอกาสใหม่ กลยุทธ์วิเคราะห์ หรือกลยุทธ์ตั้งรับ โดยจะต้องยกตัวอย่างได้ว่า อย่างไรที่เรียกว่าเป็นการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกหรือรับ และจะต้องบอกต่อได้ว่า รูปแบบขององค์การของท่านเหมาะกับแนวทางการดำเนินกลยุทธ์หรือไม่ เช่น เน้นกลยุทธ์เชิงรุก แต่ใช้โครงสร้างแบบเครื่องจักรจะไม่เหมาะสม ต้องใช้โครงสร้างแบบสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะทำให้คนที่อยู่ภายในองค์การมีความกระตือรือล้น มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าแสดงออกมากกว่า จึงจะสามารถแสวงหาโอกาสดีๆ ให้กับองค์การได้เป็นต้น

สำหรับองค์การที่เป็นบริษัทเอกชน ซึ่งต้องแข่งขันในตลาดอาจจะเลือกอธิบายโดยใช้กรอบของพอร์เตอร์ ได้แก่ กลยุทธ์ผู้นำด้านราคา สร้างความแตกต่าง หรือสร้างตลาดเฉพาะ และอาจจะยังคงต้องนำเอากรอบของไมล์กับสโนว์มาอธิบายเพิ่มด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกลับไปที่โครงสร้างองค์การได้

ขนาดขององค์การ

ในเรื่องขนาดขององค์การ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายลักษณะโครงสร้างขององค์การได้ เช่น เนื่องจากองค์การของเรามีขนาดใหญ่ มีบุคลากรจำนวนมาก แต่มีลักษณะงานที่จำกัดเพียงไม่กี่ด้าน (ความซับซ้อนในแนวราบน้อย) ทำให้แต่ละหน่วยงานมีบุคลากรอยู่จำนวนมาก จึงทำให้สายการบังคับบัญชายาวขึ้น หรือมีขอบข่ายการควบคุม (Span of control) สูง เป็นต้น

เทคโนโลยีขององค์การ

หรือระบบการผลิตขององค์การ มีแนวคิดหลักอยู่ ๒ แนวคิดที่ใช้ในการแบ่งประเภทของระบบการผลิต ได้แก่ การแบ่งประเภทตามลักษณะความซับซ้อนของระบบการผลิต ของ Joan Woodward ซึ่งแนวคิดนี้จะเหมาะในการวิเคราะห์องค์การที่เป็นการผลิตสินค้าต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น และการแบ่งประเภทของระบบการผลิตตามลักษณะขององค์ความรู้ ของ Charles Perrow ซึ่งสามารถใช้อธิบายองค์การทั่วๆ ไปได้กว้างขวางมากขึ้น

ในส่วนของ Woodward แบ่งระบบการผลิตออกเป็น ๓ รูปแบบ ตามลักษณะความซับซ้อน ได้แก่ ระบบการผลิตเป็นหน่วย (Unit Production) ซึ่งจะผลิตสินค้าแต่ละชิ้นตามคำสั่งของลูกค้า ระบบการผลิตเป็นทีละจำนวนมาก (Mass Production) ซึ่งจะผลิตสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใดทีละจำนวนมาก และระบบการผลิตเป็นกระบวนการ (Process Production) ซึ่งใช้ปัจจัยนำเข้าตัวหนึ่ง ในการผลิตสินค้าหลายตัว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีลักษณะต่อเนื่อง จากการที่ระบบการผลิตมีความแตกต่างกัน การที่จะทำให้องค์การสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีโครงสร้างองค์การที่เหมาะสมด้วย

สำหรับ Perrow นำเสนอระบบการผลิตตามลักษณะขององค์ความรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท มีเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ๒ เกณฑ์ ได้แก่ ความผันผวนของลักษณะงานที่ทำ (Task Variability) และความชัดเจนของวิธีการปฏิบัติในการแสวงหาวิธีการตอบรับความผันผวนของลักษณะงานที่ทำ (Problem Analyzability)

  • สำหรับงานที่มีความผันผวนต่ำ และงานมีความชัดเจนต่ำ จะเรียกว่า ระบบการผลิตแบบใช้ฝีมือ (Craft Technologies)
  • งานที่มีความผันผวนต่ำแต่มีความชัดเจนสูง จะเรียกว่า ระบบการผลิตที่เป็นแบบแผน (Routine Technologies)
  • งานที่มีความผันผวนสูงแต่มีความชัดเจนต่ำ จะเรียกว่าระบบการผลิตที่เป็นแบบระบบ (Engineering Technologies)
  • และสุดท้ายงานที่มีความผันผวนสูงและมีความชัดเจนสูง จะเรียกว่าระบบการผลิตที่ไม่เป็นแบบแผน (Non-Routine Technologies)