พฤติกรรมปัจเจกบุคคล

Post date: 17-Dec-2010 05:34:43

พฤติกรรมปัจเจกบุคคลมีรากฐานมาจาก ๕ ส่วน ได้แก่ ๑. คุณสมบัติทางชีวภาพ เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิด ความรู้สึก ค่านิยม วัฒนธรรม เช่น การทักทาย คนไทยใช้การไหว้ คนตะวันออกกลางใช้การจุมพิตที่แก้ม ตอนเป็นเด็กจะคึกคะนอง กระตือรือล้น พออายุมากขึ้นจะสุขุมรอบคอบมีเหตุผลมากขึ้น เป็นต้น ๒. ความสามารถ ซึ่งแบ่งได้เป็นความสามารถทางปัญญา เช่น ความจำ การเรียนรู้เร็ว การคำนวณ เป็นต้น ความสามารถทางร่างกาย เช่น ความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น เป็นต้น และความสามารถที่เหมาะสมกับงาน ซึ่งในองค์การเราควรให้ความสำคัญกับความสามารถที่เหมาะกับงานมากที่สุด ๓. บุคลิกภาพ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก กรรมพันธุ์ การเลี้ยงดู และสถานการณ์ ๔. อารมณ์ มีทฤษฎีเหตุการณ์ทางอารมณ์ที่ทำให้เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์การให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ๕. การเรียนรู้ แบ่งได้เป็น ๓ ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีการกำหนดเงื่อนไขแบบดั้งเดิม ทฤษฎีการกำหนดเงื่อนไขในการทำงาน และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม

การเรียนรู้เรื่องพฤติกรรมปัจเจกบุคคล มีความมุ่งหวังเพื่อทำงานให้สำเร็จ โดยทุกฝ่ายสบายใจมีความสุข (แนวคิด Happy Workplace ซึ่งนิด้าเองก็นำมาใช้) ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่า แต่ละคนมีรากฐานมาอย่างไร เมื่อเรามีงานตำแหน่งหนึ่ง เราจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่า งานนั้นจำเป็นต้องใช้ความสามารถด้านไหน ต้องใช้คนที่มีบุคลิกภาพแบบใด แล้วจึงเลือกคนที่เหมาะสมมาทำงานในตำแหน่งนั้นๆ แต่หากเป็นตำแหน่งเดิมที่มีคนทำงานอยู่แล้ว แต่คนนั้นยังไม่เหมาะสมกับงาน เราอาจต้องเลือกแนวทางการพัฒนาคนนั้นให้มีความสามารถและบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับงาน โดยการพูดคุยชี้แจงให้เค้ารับทราบว่า อะไรคือความสามารถและบุคลิกภาพที่องค์การคาดหวังจากตัวเค้า แล้วจึงช่วยเค้าหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพต่างๆ โดยนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้และการเสริมแรงเข้ามาช่วย และเพื่อให้คนทำงานเองก็มีความสุขในการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คนนั้นทุ่มเทกับการทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงต้องมีการคำนึงถึงวัฒนธรรมและค่านิยมหรือความเชื่อของพนักงานที่มีความหลากหลาย แล้วสร้างวัฒนธรรมให้คนในองค์การเกิดการยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน ทำให้สามารถทำงานร่วมกันประสานกันได้เป็นอย่างดี ผสมผสานกับการสร้างบรรยากาศฝ่ายกายภาพให้ดี เพื่อช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้คนที่ทำงานมีความสุข เมื่อคนมีความสามารถสอดรับการงานและมีความสุขในการทำงาน ก็เชื่อว่าจะทำให้ผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด และจะส่งผลให้องค์การประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ในที่สุด

วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แบ่งได้เป็น ๒ รูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบชั่วคราว เช่น ต้องการให้คนยินดีทำโอทีในช่วงสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ให้ใช้การเปลี่ยนแปลงแบบเป็นครั้งคราว ซึ่งจะสร้างพลังในการตอบสนองได้ดีกว่า แต่ผลที่ได้จะไม่ยั่งยืน หากต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน จะต้องใช้การปรับพฤติกรรมแบบต่อเนื่อง มีการวางแผนการในการดำเนินการเพื่อให้ค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง จนได้การเปลี่ยนแปลงที่ถาวรในที่สุด

แนวทางในการแทรกแซงพฤติกรรมทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์มี ๔ แนวทาง แบ่งเป็น

  • แนวทางสำหรับเสริมแรงให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ๒ แนวทาง ได้แก่ การเสริมแรงในทางบวก คือ การให้รางวัลเมื่อทำสิ่งที่ดีหรือทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น ลูกสอบได้คะแนนดี ก็ให้รางวัลลูก โดยการพาไปเที่ยวสวนสนุก เป็นต้น แนวทางการเสริมแรงในทางลบ คือ เมื่อทำสิ่งที่ดีแล้ว จะลดสิ่งที่ไม่ชอบให้ เช่น เคยกำหนดให้ลูกดูการ์ตูนได้วันละครึ่งชั่วโมง แต่เมื่อลูกสอบได้คะแนนดีเป็นพอใจ ก็ลดความเข้มข้นของกฎจำกัดการดูการ์ตูนลง โดยอาจไม่จำกัดการดูการ์ตูนอีก เป็นต้น
  • แนวทางสำหรับกำจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ๒ แนวทาง ได้แก่ การลงโทษอย่างตรงไปตรงมา เช่น ขาดงานบ่อยตัดเงินเดือน การเรียนตกก็ตีลูก เป็นต้น อีกแนวทางได้แก่ การใช้การลงโทษทางบวก คือ การลงโทษโดยการงดให้ผลประโยชน์ที่เคยได้ เช่น เคยได้โบนัสสองเดือน ปีนี้ลางานบ่อยไม่ค่อยตั้งใจทำงาน เลยลดโบนัสเหลือเดือนเดียวหรือไม่ให้เลย หรือจากเดิมที่เคยให้สิทธิ์ดูการ์ตูนไม่จำกัดกับลูกไป แต่เมื่อลูกดูการ์ตูนจนการเรียนตก ก็ริบสิทธิ์นั้นคืน เริ่มนำกฎดูการ์ตูนวันละครึ่งชั่วโมงกลับมาใช้อีก เป็นต้น