Public administration กับ Public management เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ในทัศนะของนักศึกษาประเทศไทยควรเลือกใช้แนวทางไหน อย่างไร

Post date: 09-Aug-2010 12:32:42

Jan-Erik Lane ได้นำเสนอความแตกต่างของ PA กับ PM ไว้ในหลายประเด็น สรุปได้ดังนี้

  • PA จะเน้นกฎระเบียบ (Rules) มีขั้นตอน วิธีปฏิบัติ ระยะเวลาของแต่ละกระบวนการ (Due Process) จำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการประชาชน ในขณะที่ PM เสนอให้เน้นวัตถุประสงค์ (Objectives) เป็นหลัก โดยให้ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและทำให้ล่าช้าออกไป เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ (Efficiency) มากขึ้น
  • PA จะเน้นว่าการทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับ (Legality) บางครั้งแม้การพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดีแต่เนื่องจากกฎหมายไม่รองรับก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ในขณะที่ PM เน้นประสิทธิผล (Effectiveness) คือให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นสำคัญ ทำให้บางครั้งอาจมีการล้ำเส้นกฎหมายบ้าง
  • PA เน้นการทำงานอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็น 1 ในลักษณะขององค์การแบบ Bureaucracy ตามแนวคิดของ Max Weber การทำงานอย่างเป็นทางการ การสื่อสารแบบเป็นลายลักษณ์อักษร การมีกรอบการปฏิบัติที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ขาดความคิดสร้างสรรค์และไม่กล้าคิดนอกกรอบ การพัฒนานโยบายหรือบริการสาธารณะจึงพัฒนาไปได้ช้า ในขณะที่ PM นำเสนอให้เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) คือเน้นให้คนในองค์การใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ คิดนอกกรอบ ไม่ติดอยู่กับระบบเดิมๆ พร้อมทั้งกล้านำเสนอแนวความคิดนั้นออกมา ความคิดที่ดีก็นำมาใช้ปฏิบัติจริง
  • PA เมื่อมีโครงการหรือแผนงานใหม่ๆ จะเริ่มจากการหาผู้รับผิดชอบที่จะเป็นผู้ดำเนินโครงการ (Responsibility) ก่อน แล้วจึงให้ผู้รับผิดชอบไปคิดหาทางดำเนินการเอง ซึ่งหากได้ผู้รับผิดชอบที่ดีทีความสามารถก็อาจทำให้โครงการนั้นสำเร็จได้ แต่หากได้ผู้รับผิดชอบที่ไม่ดีโครงการนั้นก็จะล้มเหลวไป ต่างจาก PM ซึ่งเสนอให้กำหนดทิศทางในการดำเนินการก่อน (Direction) เมื่อได้ทิศทางและวิธีการสู่ความสำเร็จแล้วจึงเลือกบุคลากรที่มีความเหมาะสมมารับผิดชอบในการดำเนินการตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว
  • PA เน้นการวางแผนแบบคาดการณ์ไปล่วงหน้า (Anticipation) และยึดแผนนั้นในการดำเนินการ ทำให้ขาดความยืดหยุ่นเมื่อเจอสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ PM เน้นความยืดหยุ่นในการปรับตัว (Adaptive) โดยปรับเปลี่ยนแผนการไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์
  • ในกรณีที่ผู้ใช้บริการเกิดความไม่พึงพอใจต่อนโยบายหรือบริการของภาครัฐ หากยึดตามแนว PA ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ให้บริการ และส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการผูกขาดบริการสาธารณะนั้นๆ ผู้มารับบริการจึงทำได้เพียงบ่นต่อว่าหรือร้องเรียน (Complain: Voice) แต่หากเป็นแนวทางของ PM ซึ่งสนับสนุนการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้รับบริการ เมื่อผู้รับบริการไม่พอใจบริการของผู้ให้บริการรายหนึ่ง ก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้บริการ (Exit) ผู้ให้บริการรายนั้นได้
  • PA เน้นให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นลูกจ้างมืออาชีพ (Vocation/Professional) คือไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากกิจการของรัฐ แต่แนวทางของ PM เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้
  • PA เน้นการเปิดเผยโปร่งใส (Openness) ตรวจสอบได้ ในขณะที่ PM เปิดโอกาสให้ปิดบังข้อมูล (Secrecy) บางส่วนได้หากข้อมูลส่วนนั้นจะกระทบกับผลประโยชน์หรือความมั่นคงขององค์การ
  • เป้าหมายหลักของ PA ซึ่งเป็นศาสตร์ของการปกครองประเทศนั้น มุ่งการสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน การดำเนินการต่างๆ ต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) เป็นสำคัญ ในขณะที่ PM ซึ่งประยุกต์มาจากภาคเอกชนจะมุ่งเน้นการสร้างผลกำไร (Profit) สูงสุดให้กับองค์การ

ทางเลือกสำหรับการประยุกต์ใช้กับระบบราชการไทย ในทัศนะของนักศึกษา ผมเห็นด้วยกับทัศนะของ Henry Mintzberg ที่กล่าวว่า ภาครัฐไม่ได้เลวเสมอไป ภาคเอกชนก็ไม่ได้ดีเสมอไป ภาครัฐมีส่วนต้องเรียนรู้จากภาคเอกชน ภาคเอกชนก็สามารถเรียนรู้จากภาครัฐได้เช่นกัน ดังนั้นการจัดการภาครัฐของไทยจึงควรเลือกใช้การผสมผสานระหว่างแนวคิด PA กับ PM เข้าด้วยกัน โดยเลือกเอาส่วนที่ดีของแต่ละแนวคิดมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทย ผมขอเสนอความคิดเห็นดังนี้

สิ่งที่ประเทศไทยควรปรับจากแนวคิด PA เป็น PM

  • เปลี่ยนจากการยึดกฎเกณฑ์ (Rules) ระเบียบขั้นตอนปฏิบัติ (Due Process) มาเป็นยึดเอาวัตถุประสงค์เป็นหลัก โดยปรับลดกฎเกณฑ์ ระเบียบขั้นตอนที่ไม่จำเป็นไม่ทันสมัยออกไป เหลือไว้เพียงขั้นตอนที่สำคัญจำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประเทศให้มากขึ้น
  • เปลี่ยนจากการทำงานภายใต้กรอบ เน้นความเป็นทางการ เป็นการสร้างโอกาสให้บุคลากรได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอันสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริง จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางนโยบายหรือบริการสาธารณะ
  • ฯลฯ