วัฒนธรรมองค์การ

Post date: 17-Dec-2010 05:45:39

วัฒนธรรมองค์การ หมายถึง "ความเชื่อหรือค่านิยมหรือฐานคติที่มีร่วมกันในองค์การ เป็นเสมือนกาวที่ยึดองค์การไว้ เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์การในการคิดตัดสินใจ เป็นสิ่งที่คนในชุมชนนั้นร่วมกันสร้างขึ้นและยึดถือกันอย่างกว้างขวางและอย่างมีพันธะผูกพัน สามารถถ่ายทอดลงไปยังคนรุ่นหลังได้ ในหนึ่งองค์การอาจมีวัฒนธรรมย่อยหลายวัฒนธรรม แต่องค์การที่จะประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมีวัฒนธรรมแกร่ง คือ มีค่านิยมหลักที่คนส่วนใหญ่ขององค์การยึดถือร่วมกันอย่างมีพันธะผูกพัน ซึ่งวัฒนธรรมแกร่งนี้จะต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ขององค์การด้วย เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนองค์การให้ไปสู่ความสำเร็จได้ การจะสร้างวัฒนธรรมแกร่งได้นั้น จำเป็นจะต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เข้มแข็ง กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และสามารถแบ่งปันวิสัยทัศน์นั้นให้กับคนในองค์การได้เห็นภาพร่วมกัน สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนในองค์การมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่วิสัยทัศน์นั้นร่วมกัน และมีพฤติกรรมที่เป็นต้นแบบให้กับคนในองค์การเพื่อให้คนอื่นสามารถเลียนแบบได้ นอกจากนี้ยังต้องตระหนักและใช้ความพยายามในการขับเคลื่อนให้การวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนเป็นสถาบันด้วย

วัฒนธรรมองค์การแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับภายนอก (Artifacts) ระดับค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติ (Norms & Values) และระดับฐานคติ (Assumptions) ระดับภายนอกเป็นสิ่งที่เรามองเห็นหรือสัมผัสได้อย่างชัดเจน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ เช่น เครื่องแต่งกาย การตกแต่งสถานที่ โลโก้ เป็นต้น ลักษณะทางด้านพฤติกรรม เช่น พิธีกรรมต่างๆ รูปแบบการติดต่อสื่อสาร ประเพณี เป็นต้น และลักษณะทางด้านภาษา เช่น ศัพท์เทคนิค ชื่อย่อชื่อเล่น เรื่องเล่า/ประวัติศาสตร์ขององค์การ เป็นต้น สำหรับระดับค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติจะลึกลงมามากกว่าระดับภายนอก ค่านิยมจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่คนยึดถือและจะแสดงออกมาเป็นการกระทำ เช่น การให้ความเคารพกับครูผู้สอน จะแสดงออกมาโดยการปิดโทรศัพท์มือถือในขณะเรียน หรือไม่ชวนเพื่อนพูดคุยกัน เป็นต้น เนื่องจากค่านิยมมีความเป็นนามธรรม ทำให้บางครั้งยากแก่การเข้าใจและนำไปปฏิบัติ จึงต้องมีการนำเอาค่านิยมนั้นมาสร้างเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือปทัสถานทางสังคม ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า และในที่สุดอาจจะนำเอาธรรมเนียมปฏิบัตินั้นไปกำหนดเป็นกฎระเบียบต่อได้หากมีความจำเป็น ในระดับสุดท้ายคือระดับฐานคติ จะเป็นระดับที่อยู่ลึกที่สุด ถูกปลูกฝังลงไปในจิตใต้สำนึก จนคนตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ตามฐานคติที่มีอยู่ เช่น คนที่เชื่อเรื่องการทำถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจอสัญญาณไฟแดงก็จะจอดรถ แม้ว่าอาจจะเป็นยามดึกดื่น ซึ่งไม่มีรถอีกด้านวิ่งมาหรือไม่มีตำรวจและกล้องคอยตรวจจับ แต่ก็จะหยุดรถเพื่อให้ถูกต้องตามกฎจราจรนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในองค์การบางครั้งอาจมีความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความแตกต่างของวัฒนธรรมของบุคลากรได้ การจัดการกับปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรม มี ๓ ทางเลือก ได้แก่ การไม่สนใจความแตกต่างของวัฒนธรรม โดยคิดว่าแนวทางของตนเป็นแนวทางเดียวที่จะนำองค์การไปสู่ความสำเร็จ ทางเลือกที่สองคือ สนใจวัฒนธรรมแต่คิดว่าวัฒนธรรมของตนดีที่สุดเหมาะสมที่สุด และทางเลือกสุดท้ายคือ การแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่านั้น จะต้องเริ่มต้นจากการทำให้คนในองค์การรับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาร่วมกันก่อน พร้อมทั้งโน้มนำให้คนที่มีความแตกต่างทางความคิดได้ลองคิดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของอีกฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกัน และพร้อมที่จะร่วมกันหาแนวทางที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา แล้วจึงร่วมกันระดมสมองเพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับกลยุทธ์ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งนั้น สามารถแบ่งได้เป็น ๕ กลยุทธ์ ได้แก่ ใช้วัฒนธรรมตนเองเป็นหลัก ทำตามวัฒนธรรมคนอื่น หาทางประนีประนอมทางวัฒนธรรม หลีกเลี่ยงประเด็นทางวัฒนธรรม และหาทางออกใหม่ให้กับวัฒนธรรม ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในเรื่องความแตกต่างทางด้านภาษาที่เกิดขึ้นในบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยแต่ถือหุ้นโดยคนญี่ปุ่น ทำให้เกิดความแตกต่างกันทางภาษา หากเรายึดภาษาไทยเป็นหลักและให้ญี่ปุ่นที่มาทำงานต้องพูดภาษาไทย จัดเป็นกลยุทธ์แบบใช้วัฒนธรรมตนเองเป็นหลัก แต่หากเราเลือกไปเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อใช้สื่อสารกับผู้บริหารญี่ปุ่น จัดเป็นกลยุทธ์แบบทำตามวัฒนธรรมคนอื่น แต่ถ้าต่างคนต่างเลือกใช้ภาษาของตัวเองแล้วเลือกจ้างล่ามมาเป็นผู้แปลภาษาให้ จัดเป็นกลยุทธ์แบบประนีประนอมทางวัฒนธรรม ถ้าเรามองข้ามความแตกต่างของภาษาแล้วมุ่งหน้าทำงานต่อไป จัดเป็นกลยุทธ์แบบหลีกเลี่ยงประเด็นทางวัฒนธรรม สุดท้ายหากเราตกลงกันว่า ทั้งเราและญี่ปุ่นใช้ภาษากลางที่ต่างฝ่ายต่างพอจะพูดได้เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร หรืออาจมีวิธีการอื่นๆ นอกจากนี้อีก จัดเป็นกลยุทธ์แบบหาทางออกใหม่ให้กับวัฒนธรรม