ทฤษฎีแรงจูงใจ ของ Victor Vroom

Post date: 02-Jan-2012 08:30:01

อย่าที่เคยกล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้่ ทฤษฎีแรงจูงใจที่ได้รับการยอมรับและนำมาประยุกต์ใช้ในองค์การต่างๆ มีอยู่หลายทฤษฎี วันนี้จะมาอธิบายถึงอีกหนึ่งทฤษฎีที่น่าสนใจมากครับ นั่นคือ ทฤษฎีที่ชื่อว่า "Expectancy Theory" โดย Victor Vroom

Vroom ได้อธิบายถึงแรงจูงใจ (Motivation) ที่จะทำให้คนทำงาน โดยอธิบายว่าแรงจูงใจเป็นผลมาจากตัวแปรที่สำคัญสามประการ ได้แก่ expectancy, Instrumentality และ Valence โดยตัวแปรทั้งสามตัวมีความสัมพันธ์กันตามสมการดังนี้

Motivation = Expectancy x Instrumentality x Valence

  1. Expectancy เป็นความสัมพันธ์ระหว่างความพยายาม (Effort) กับศักยภาพที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย (Performance) ถ้าหากคนนั้นเชื่อว่า การใส่ความพยายามลงไปในงานนั้นจะทำให้เค้ามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ คนนั้นก็จะยอมทำงานนั้น แต่หากเค้าคิดว่าไม่ว่าเค้าจะพยายามสักเท่าไหร่ ศักยภาพของเค้าก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เค้าก็จะไม่ยอมทำงานนั้น ตัวแปร Expectancy จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ศักยภาพที่คนนั้นมีอยู่จริง ความมั่นใจในตัวเองของคนนั้น และเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากคนนั้นมีศักยภาพเพียงพอและมีความมั่นใจประกอบกับเป้าหมายไม่ไกลเกินไป ก็จะทำให้ Expectancy หรืออาจสรุปได้นัยหนึ่งว่า หากต้องการให้ Expectancy มีค่าสูงจะต้องเพิ่มศักยภาพให้กับคนนั้น อาจโดยการใช้วิธี Training หรือ Coaching เพิ่มความมั่นใจให้กับคนนั้นโดยการสนับสนุนจากผู้นำ และตั้งเป้าหมายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ไกลเกินไป
  2. Instrumentality เป็นความสัมพันธ์ระหว่างการบรรลุเป้าหมายกับผลที่จะได้รับจากการบรรลุเป้าหมายนั้น ผลที่จะได้รับในที่นี้อาจมาในรูปของรางวัล เป็นเงินหรือสิ่งของ หรืออาจเป็นความภาคภูมิใจ เกียรติยศ ชื่อเสียง ตำแหน่ง ก็แล้วแต่ ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อ Instrumentality คือ ความมั่นใจว่าเมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจะได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นใจในตัวผู้นำ ว่ามีความยุติธรรมและเชื่อถือได้ และความมั่นใจนี้จะเพิ่มมากขึ้นหากองค์การมีระบบการประเมินผลที่ชัดเจน และมีการประกาศเป็นนโยบายที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
  3. Valence คือ คุณค่าของผลลัพธ์ที่จะได้รับที่มีต่อคนที่เราต้องการจูงใต ซึ่งอาจมีค่าเป็น -1 , 0 , 1 ก็ได้ ขึ้่นอยู่กับว่า ผลลัพธ์นั้นเป็นที่ต้องการของคนนั้นหรือไม่ ผลลัพธ์ที่เป็นที่ต้องการจะมีค่า Valence = +1 หมายความว่าโดยภาพรวมจะทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะทำงาน แต่หากคนรู้สึกเฉยๆ ต่อผลลัพธ์นั้น (valence = 0) ก็จะทำให้แรงจูงใจที่จะทำงานกลายเป็น 0 และหากคนไม่อยากได้รับผลลัพธ์นั้นเลยจนต้องพยายามที่จะไม่ได้รับผลลัพธ์ (valence = -1) ก็จะทำให้แรงจูงใจกลายเป็นติดลบ หรือแปลว่าคนจะพยายามทำในสิ่งที่ตรงข้ามเพื่อให้ตัวเองไม่ได้ต้องได้รับผลลัพธ์นั้น