Creative Economy # 5: กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์..สู่สังคมไทยในระดับฐานราก

Post date: 17-Dec-2010 04:28:25

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมาหลากหลายโครงการแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เห็นผลในภาพรวม ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการโดยตรงส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อยู่ในสังคมเมืองขนาดใหญ่ ประชาชนในระดับฐานรากยังไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เท่าที่ควร สาเหตุหลักประการหนึ่งอาจมาจากการขาดกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เหมาะสมหลังจากที่ผมได้พิจารณาแนวทางในการพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว ผมมีความคิดเห็นว่า การจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยในระดับฐานรากได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากลไกที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เกิดผลสำเร็จได้ โดยผมขอนำเสนอความคิดเห็นว่า กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ จำเป็นจะต้องใช้กลไกการประสานพลังแบบเบญจภาคี อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

จุดเริ่มต้นของการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะต้องเริ่มต้นจากกลไกภาครัฐ อันประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ โดยฝ่ายการเมืองจะต้องกำหนดนโยบายที่มีความชัดเจน จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็น “ประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์” พร้อมทั้งประกาศให้การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของฝ่ายการเมืองก็ตาม นอกจากการฝ่ายการเมืองระดับประเทศแล้ว การเมืองท้องถิ่นเองก็นับได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันการนำนโยบายไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงควรที่จะสนับสนุนให้การเมืองท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัดตามแนวทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยอีกทางหนึ่ง ในส่วนของข้าราชการประจำ จะต้องมีการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับกระทรวง เพื่อแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวง พร้อมทั้งผลักดันยุทธศาสตร์ลงไปยังหน่วยงานระดับกรม และหน่วยงานในส่วนภูมิภาค ตลอดจนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

ภาคเอกชนเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เจริญก้าวหน้า โดยบทบาทแรกที่ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม คือ การวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านงานสร้างสรรค์ โดยภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลคุณลักษณะของบุคลากรที่ต้องการ และจำนวนบุคลากรที่ต้องการในอนาคต เพื่อให้ภาควิชาการสามารถนำไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนได้ ซึ่งในการนี้ภาคเอกชนควรจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยการประกันการจ้างงานให้กับบุคลากรที่ผ่านกระบวนการพัฒนาตามแนวทางที่กำหนดร่วมกันระหว่างภาควิชาการกับภาคเอกชน ประการที่สอง ได้แก่ การสร้างเครือข่ายความรับผิดชอบทางสังคม (CSR Networking) ของภาคเอกชน แต่ละเครือข่ายจะประกอบด้วยกลุ่มของธุรกิจที่มีความมุ่งมั่นที่จะแสดงความรับผิดชอบทางสังคม ให้มาประสานพลังเพื่อสร้างโครงการเพื่อสังคมร่วมกัน โดยให้แต่ละเครือข่ายเลือกแผนงาน/โครงการที่สนใจจากแผนปฏิบัติการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนำเสนอรูปแบบที่เครือข่ายต้องการจะสนับสนุนโครงการ ตัวอย่างของการสนับสนุนโครงการ เช่น การให้เงินทุนสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับชุมชน หรือค่าใช้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมของชุมชน หรือการสนับสนุนบุคลากรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านต่างๆ ให้กับภาคประชาชน

บทบาทสำคัญของภาควิชาการซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การผลิตบุคลากรด้านงานสร้างสรรค์ การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนนักศึกษาในทุกสาขาวิชาได้รับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทั้งการสร้างสรรค์กระบวนการในการพัฒนาประชาชนทั่วไปในชุมชนให้สามารถต่อยอดการพัฒนาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสู้ผลิตภัณฑ์และบริการสร้างสรรค์ได้

สำหรับภาคประชาสังคม ซึ่งมีความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับชุมชนมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ การให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้นำนโยบายบางด้านไปดำเนินการ จะช่วยให้โอกาสในการที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนมีมากยิ่งขึ้น

กลไกสุดท้ายได้แก่ ตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้แผนงาน/โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ แนวทางที่จะช่วยขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แนวทางหนึ่งได้แก่ การสร้างทูตสร้างสรรค์ชุมชน (Community Creative Ambassador) เพื่อถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้กับชุมชน การใช้กลไกตัวแทนจะช่วยให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ