ความเป็นสาธารณะ (Res Publica)

Post date: 05-Nov-2010 06:17:44

ความเป็นสาธารณะ เป็นองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาว่าในแต่ละสังคมจะมีขอบเขตหน้าที่ของระบบราชการมากน้อยขนาดไหน ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นสาธารณะน้อย ขอบเขตหน้าที่ของระบบราชการก็จะน้อย ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นสาธารณะมาก จะมีขอบเขตหน้าที่ของระบบราชการมากด้วยเช่นกัน

ในแต่ละสังคมจะมีมุมมองที่เกี่ยวกับความเป็นสาธารณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน ระหว่าง ความเท่าเทียมกันในสังคม (Equality) หรือ อิสระในการเลือก (Freedom / Freedom of choices)

ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม มักจะมีกรอบความคิดพื้นฐานว่า คนเราเกิดมาไม่มีความเท่าเทียมกัน มีคนจน คนรวย คุณภาพชีวิตคนในสังคมไม่เท่ากัน โอกาสที่ได้รับก็ไม่เท่ากัน รัฐจึงต้องเป็นผู้ที่เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ผ่านทางนโยบายสาธารณะต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ระบบราชการซึ่งเป็นผู้ที่ต้องนำนโยบายสาธารณะมาดำเนินการ จึงมีขอบเขตงานที่กว้าง และจำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากรสาธารณะจำนวนมากด้วยเช่นกัน ทำให้รัฐต้องเก็บภาษีมาก โดยเฉพาะภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่มีฐานะดีหรือชนชั้นนำ อาทิ ภาษีมรดก เป็นต้น เพื่อนำเอาเงินจากคนรวยมาสร้างบริการสาธารณะให้กับคนจน ช่วยสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะบริการสาธารณะที่เป็นตัวหลักในการสร้างโอกาสให้กับคนด้อยโอกาส ได้แก่ การศึกษา ประชาชนทุกคนในประเทศจะต้องมีโอกาสได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และบริการสาธารณะที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนด้อยโอกาส ได้แก่ สาธารณสุข ประชาชนทุกคนในประเทศจะต้องมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เช่นกัน ตัวอย่างของประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม ได้แก่ ประเทศในแถบแสกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เป็นต้น ซึ่งประเทศเหล่านี้มีลักษณะเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) อย่างไรก็ดี ประเทศที่เลือกให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม ประชาชนก็จะต้องจ่ายภาษีมาก ทำให้เหลือเงินที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยน้อย เสรีภาพในการเลือกจึงมีน้อยลงตามไปด้วย

ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพ หรือเสรีภาพในการเลือก มักจะมีกรอบความคิดพื้นฐานว่า คนเราเกิดมาเท่าเทียมกัน คนรวยเพราะขยัน คนจนเพราะขี้เกียจ จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ควรจะปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามกลไกตลาด ควรมีกฎระเบียบต่างๆ น้อยหรือไม่มีเลย เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวก และอนุญาตให้รัฐเข้ามาแทรกแซงได้เฉพาะในเวลาที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ทำให้ระบบราชการจึงมีขอบเขตหน้าที่แคบ งานบริการสาธารณะมีน้อย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกเก็บภาษีจำนวนมาก เมื่อเก็บภาษีน้อย ประชาชนจึงมีเงินเหลือสำหรับการจับจ่ายใช้สอยมาก ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพที่จะเลือกจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งบริการสาธารณะอย่าง การศึกษา และการรักษาพยาบาล ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพมาก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศให้ความสำคัญกับเสรีภาพมาก ก็จะมีทรัพยากรสาธารณะที่จะนำมาใช้จัดสรรบริการสาธารณะน้อย ทำให้คนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ทั้งทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น เกิดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยมากขึ้น คนจนยิ่งจนเพราะขาดโอกาส คนรวยยิ่งรวยเพราะได้รับโอกาสมาก

ประเทศแต่ละประเทศจะต้องเลือกว่าจะดำเนินนโยบายโดยให้ความสำคัญกับความเป็นสาธารณะในทิศทางใด และด้วยความเข้มข้นในระดับใด

สำหรับประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่ายังขาดความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นสาธารณะนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของพรรค ประชาชนต้องการรับสวัสดิการจากภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการจ่ายภาษีหรือหาหนทางในการจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด การเก็บภาษีจากชนชั้นนำก็ทำได้ยาก เนื่องจากชนชั้นนำส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองด้วย ทำให้ไม่ยินยอมผ่านกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อความร่ำรวยของตน เช่น การเก็บภาษีมรดก หรือภาษีที่ดิน ทำให้ภาครัฐขาดทรัพยากรสาธารณะที่จะมาใช้สร้างบริการสาธารณะ ปัจจุบันเงินที่นำมาใช้ในการสร้างบริการสาธารณะจึงเป็นเงินภาษีที่ได้จากชนชั้นกลาง เนื่องจากกลุ่มพนักงานกินเงินเดือนไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ จึงกลายเป็นการนำเอาเงินของชนชั้นกลางไปช่วยคนจน หรืออาจมีบางโครงการที่นำเอาเงินรายได้จากสลากกินแบ่งรัฐบาลมาใช้ จึงกลายเป็นการนำเงินของคนจนกลับมาช่วยคนจนเอง ซึ่งไม่ส่งผลในการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดในสังคมอย่างแท้จริง