องค์การบริหารตนเอง (Self Organization)

Post date: 17-Dec-2010 05:47:08

องค์การบริหารตนเอง เป็นองค์การที่สามารถทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ เมื่อพบปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง และบริหารงานได้เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายโดยไม่ต้องรอรับคำสั่งในการดำเนินงานแต่ละครั้ง ใช้หลักการจัดการตนเอง ทำให้ลดความจำเป็นในการควบคุมจากภายนอกลง ตัวอย่างที่ดีขององค์การบริหารตนเองได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งสามารถบริหารจัดการองค์การของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหรือถูกควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุข แต่อาศัยกลไกความร่วมมือจากทั้งเอกชนและประชาคมในการบริหารจัดการองค์การ

สิ่งที่สำคัญขององค์การบริหารตนเอง ได้แก่ การตัดสินใจ ซึ่งจะต้องมีแนวทางในการคิดและตัดสินใจอย่างเหมาะสมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตัดสินใจนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายหลักขององค์การ และเมื่อมีการตัดสินใจแล้ว ควรจะต้องมีการป้อนกลับผลของการตัดสินใจนั้นให้กับคนในองค์การได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาตนเองของบุคลากร และในกรณีที่กระบวนการตัดสินใจขององค์การยังไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดการแสวงหาแนวทางที่ดีกว่า เกิดเป็นการเรียนรู้แบบสองวงจรขึ้น และเมื่อพัฒนาองค์การในแนวทางนี้ไปอย่างต่อเนื่องประกอบกับการนำเอาแนวคิดขององค์การแห่งความรู้และการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเข้ามาผสมผสานแล้ว ก็จะขับเคลื่อนให้องค์การกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ได้ในที่สุด

การขับเคลื่อนให้องค์การบริหารตนเองสามารถทำงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ขององค์การได้นั้น เราสามารถหยิบเอาแนวคิดของ ปีเตอร์ เซงกี้ (Peter M.Senge) ในเรื่องวินัยห้าประการ (The 5th Disciplines) เข้ามาประยุกต์ใช้ได้ โดยการสนับสนุนให้บุคลากรในองค์การมีวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลและมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจนมีทักษะความสามารถพิเศษที่เป็นประโยชน์กับองค์การ แล้วจึงทำการสร้างโลกทัศน์ที่พึงประสงค์ให้กับบุคลากร ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรสามารถคิดและตัดสินใจโดยใช้โลกทัศน์ที่ถูกต้องได้ เมื่อแต่ละคนมีวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล มีทักษะความรู้ความสามารถ และมีโลกทัศน์ที่เหมาะสมกับองค์การแล้ว จึงเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวคิดของตนเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การ และบูรณาการความคิดและวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลที่หลากหลาย ให้กลายเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันขององค์การ เพื่อให้เกิดทิศทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานขององค์การ ระหว่างที่ดำเนินงานไปจะต้องพัฒนาทีมงานให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพของทีมงานและทำให้เกิดการประสานงานที่ดี และสิ่งที่สำคัญสุดท้ายคือ การสร้างให้บุคลากรในองค์การมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพรวมขององค์การ เข้าใจผลกระทบของการดำเนินการหรือการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์การ สามารถมองเห็นรากของปัญหาและรู้ว่าควรทำการแก้ไขปัญหาที่จุดไหน จึงจะทำให้ปัญหานั้นคลี่คลายลงไปโดยใช้แรงผลักดันน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดีแนวคิดองค์การบริหารตนเองนี้ยังอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ในระบบราชการได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากกฎระเบียบที่มีมากมาย ซึ่งในหลายส่วนยังมีความจำเป็นต้องคงไว้ เนื่องจากหน่วยงานราชการมีขนาดใหญ่มาก การควบคุมประสานงานจะทำได้ยากหากขาดกฎระเบียบหรือมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน ประกอบกับการทำงานของราชการเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะ จึงต้องมีความระมัดระวังในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดผลประโยชน์สาธารณะสูงสุด จึงยังคงต้องอาศัยการควบคุมที่ดีและเหมาะสมเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์การของระบบราชการโดยภาพรวมให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม และการเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะเป็นหลักได้ก่อน