ประเภทของระบบสารสนเทศ

Post date: 21-Aug-2010 10:02:15

การจำแนกระบบสารสนเทศสามารถทำได้หลายวิธี หากเราจำแนกตามการให้การสนับสนุนของระบบสารสนเทศแล้ว จะสามารถจำแนกระบบสารสนเทศได้เป็น 3 ประเภทย่อย ได้แก่

1. ระบบสารสนเทศแบบประมวลรายการ (Transaction Processing Systems – TPS)

TPS เป็นระบบสารสนเทศที่มุ่งเน้นกระบวนการบันทึกและประมวลข้อมูลที่เกิดจากธุรกรรมหรือการปฏิบัติงานประจำหรืองานขั้นพื้นฐานขององค์การ เพื่อจัดหาสารสนเทศที่องค์การต้องการ เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานประจำให้มีความรวดเร็ว ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง เป็นอันหนึ่งเดียวกัน และรักษาความลับได้ และใช้เป็นสารสนเทศสำหรับป้อนเข้าสู่ระบบสารสนเทศที่ใช้ในการตัดสินใจอื่น

กระบวนการประมวลข้อมูลของ TPS มี 3 แบบ แบบแรกเป็นแบบ batch processing ใส่ข้อมูลเป็นชุดเพื่อให้คอมพิวเตอร์ประมวลผล มีการตรวจสอบก่อนส่งไปประมวลผล ทำให้ช้าแต่ชัวร์ แบบที่สองเป็นแบบ on-line processing (Real time) คีย์ข้อมูลทันทีเมื่อเกิดธุรกรรม เครื่องประมวลผลทันที แสดงผลทันที ปรับข้อมูลทันที เช่น ATM แต่มีข้อเสียคือ ผิดพลาดง่าย ผิดพลาดแล้วตรวจสอบกลับยาก และแบบที่สาม คือ Hybrid systems เป็นวิธีการผสมผสานโดยป้อนข้อมูลทันทีที่เกิดธุรกรรมขึ้น แต่จะทำการประมวลผลในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ระบบแคชเชียร์ ที่จะป้อนข้อมูลทันทีที่ลูกค้าซื้อสินค้า แต่ทำการประมวลผลเมื่อเลิกงาน เป็นต้น

ปัจจุบัน TPS ได้ถูกพัฒนาต่อยอดเป็น CIS หรือ Customer Integrated Systems ซึ่งเป็นระบบที่ให้ลูกค้าเป็นผู้ป้อนข้อมูลและสั่งให้ระบบทำการประมวลผลด้วยตัวเอง เช่น ตู้เอทีเอ็ม ระบบลงทะเบียนนักศึกษา เป็นต้น

2. ระบบสารสนเทศแบบรายงานเพื่อการจัดการ (Management Reporting Systems – MRS)

MRS เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยในการทำรายงานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยการสรุปสารสนเทศที่มีอยู่ในฐานข้อมูล (ใช้ข้อมูลจาก TPS) นอกจากนี้ยังสามารถช่วยในการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ทราบล่วงหน้าหรือมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน รายงานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารทราบถึงสถานการณ์และปัญหา ตลอดจนโอกาสที่เกิดขึ้น

MRS สามารถจัดทำรายงานออกมาได้หลายประเภท ได้แก่

· รายงานที่จัดทำเมื่อต้องการ (Demand reports) เป็นรายงานที่มีรูปแบบที่ชัดเจนจัดเตรียมไว้ล่วงหน้า สามารถนำสารสนเทศมาจัดทำเป็นรายงานได้ทันทีที่ผู้บริหารต้องการ

· รายงานที่ทำตามระยะเวลากำหนด (Periodic reports) เป็นรายงานที่จัดทำทุกช่วงเวลาที่มีการกำหนดไว้ เช่น ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เป็นต้น

· รายงานสรุป (Summarized reports)

· รายงานเมื่อมีเงื่อนไขเฉพาะเกิดขึ้น (Exception reports) เป็นการจัดทำรายงานเมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะขึ้น เช่น สารสนเทศแสดงว่ามีค่าบางอย่างที่มากเกินกว่ากำหนดหรือน้อยเกินกว่าที่กำหนดไว้ รายงานประเภทนี้เป็นเหมือนสัญญานเตือนให้กับผู้บริหารว่าอาจจะมีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นเพื่อให้ทำการตรวจสอบได้ทันท่วงที

· รายงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc reports) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นในกรณีพิเศษความต้องการของผู้บริหาร เช่น รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัด 2009

· รายงานเชิงเปรียบเทียบ (Comparative reports)

· รายงานการคาดการณ์หรือพยากรณ์ล่วงหน้า (Projection reports)

3. ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support Systems – DSS)

DSS เป็นระบบสารสนเทศที่ช่วยในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ตามสถานการณ์ที่มีลักษณะไม่มีโครงสร้าง (unstructured situations) ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า และต้องการการตอบสนองด้วยความรวดเร็วสูง DSS จะนำเสนอสารสนเทศที่จำเป็นพร้อมทั้งทางเลือกต่างๆ และให้ผู้บริหารใช้วิจาณญาณในการตัดสินใจต่อไป

DSS มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้ Sensitivity Analysis ซึ่งมี 2 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่ What-if analysis เป็นการวิเคราะห์ว่าถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยนำเข้าจะมีผลกระทบต่อผลผลิตอย่างไร หรือ เมื่อเปลี่ยนแปลง x จะเกิดผลอย่างไรกับ y อีกประเภทได้แก่ Goal-seeking analysis ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตจำนวนหนึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงปัจจัยนำเข้าอย่างไรถึงจะได้ผลผลิตตามต้องการ หรือ จะต้องเปลี่ยนแปลง x อย่างไรจึงจะทำให้ได้ y ที่กำหนดไว้

ประเภทของ DSS แบ่งตามจำนวนของผู้ใช้ได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นระบบที่สนับสนุนการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร (Executive Information Systems: EIS) ซึ่งจะสนับสนุนการวางแผนกลยุทธ์ การควบคุมเชิงกลยุทธ์ การสร้างเครือข่าย การติดตามสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งอย่างใกล้ชิด ตลอดจนช่วยในการจัดการกับวิกฤต อีกประเภทได้แก่ ระบบสารสนเทศสำหรับกลุ่มบุคคลในการตัดสินใจ (Group Decision Support Systems: GDSS) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่ต้องตัดสินใจ สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้นและมีคุณภาพมากขึ้น อาทิ ระบบห้องการตัดสินใจ (Decision room) ระบบการประชุมทางไกล (Teleconferencing) เป็นต้น

DSS อีกประเภทหนึ่งที่ถูกออกแบบมาสำหรับสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ เรียกว่า ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information Systems (GIS)