แนวคิด/ทฤษฎีที่สำคัญด้าน HRM

Post date: 15-May-2011 18:03:58

1. ระบบคุณธรรม (Merit System)

ระบบคุณธรรมเป็นระบบที่มีหลักการที่จะเลือกสรรคนดีเข้าปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐ ต่างกับระบบเดิมที่การแต่งตั้งข้าราชการตามความพอใจของผู้มีอำนาจ หรือที่เรียกกันว่า ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) หรือ ระบบเล่นพวก (Spoils System) ซึ่งมีข้อเสียหลายประการเช่น ข้าราชการขาดสมรรถภาพ ถูกใช้ไปในทางส่วนตัว ฐานะข้าราชการคลอนแคลน ขาดหลักประกันความมั่นคง ไม่ได้รับความยุติธรรม ข้าราชการมุ่งทำงานเพื่อประจบผู้มีอำนาจ เป็นต้น ระบบคุณธรรมตั้งอยู่บนรากฐานสำคัญ 4 ประการ คือ

  1. การเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการโดยการสอบแข่งขัน (Competence) เพื่อเลือกเฟ้นเอาคนดีมีความรู้ความสามารถสูงกว้าผู้อื่นเข้ารับราชการ ตามตำแหน่งที่เหมาะสม
  2. ความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity) คือ สิทธิในการสมัครเข้ารับราชการต้องเปิดทั่วไป (Open to all) ไม่มีความเหลื่อมล้ำ
  3. หลักประกันความมั่นคง (Security) ตราบเท่าที่ยังปฏิบัติงานดี มีความประพฤติดี จะไม่ถูกให้ออกราชการโดยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลทางการเมือง
  4. ความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) ต้องจัดให้ข้าราชการประจำอยู่นอกความควบคุมทางการเมือง ป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงทางการเมือง

2. ระบบคุณธรรมของการบริหารงานบุคคล ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551

  1. การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ
  2. การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์การและลักษณะของงานโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
  3. การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม โดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ และจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้
  4. การดำเนินการทางวินัย ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ
  5. การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

3. ระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Information System : HRIS)

เป็นระบบที่ถูกนำเข้ามาช่วยในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจหรือคาดการณ์แนวโน้ม การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีฐานข้อมูลที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ขั้นตอนการพัฒนา HRIS มีดังนี้

  1. การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis)
  2. การออกแบบระบบฐานข้อมูล (System Design)
  3. การนำระบบฐานข้อมูลมาใช้งาน (System Implementation)
  4. การประเมินผล (System Evaluation)