ตัวอย่างการตอบข้อสอบ รศ.603 ส่วนของ ศ.ดร.กฤษ เพิ่มทันจิตต์

Post date: 22-Jul-2010 08:49:16

โจทย์

หลังจากที่ระบบเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็งกีสข่าน นักเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้ให้สัมภาษณ์ “รายการสู่ศตวรรษใหม่” ช่อง 100.5 อสมท.เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2542 ว่า ในอนาคตอันใกล้ โลกจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ประเทศไทยควรใช้ศักยภาพโดยธรรมชาติของชีวภูมิศาสตร์ โดยพัฒนาเกษตรให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานการสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งโลก และการผลิตพลังงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยมีภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน และภาคบริการเสริม ทั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาประเทศจากการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร (NAIC) จึงจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดจนอำนาจต่อรอง ในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

  1. ท่านมีความเห็นประการใดต่อทัศนะดังกล่าว
  2. ถ้าท่านเห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว ให้เสนอหลักการและเหตุผลสนับสนุนความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ดังกล่าว ตลอดจนเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ ข้อได้เปรียบและข้อเสียเปรียบของความเป็นประเทศดังกล่าว
  3. ถ้าท่านไม่เห็นด้วย ให้เสนอเหตุผลเชิงขัดแย้ง พร้อมกับเสนอกลยุทธ์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสมตามทัศนะของท่าน ให้เสนอหลักการและเหตุผลสนับสนุน ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ และเสนอแนวทางการขับเคลื่อน พร้อมทั้งวิเคราะห์ ข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของกลยุทธ์ดังกล่าว

ให้เลือกตอบข้อใดข้อหนึ่ง จาก ข้อ 2 หรือ ข้อ 3

วิเคราะห์โจทย์

คำถาม แบ่งเป็น 3 ข้อใหญ่ ต้องทำ 2 ข้อ

ข้อ 1 ทุกคนต้องทำ คือ ตอบว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับทัศนะดังกล่าว

ทัศนะดังกล่าว หมายถึง ข้อความที่ว่า “ในอนาคตอันใกล้ โลกจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ประเทศไทยควรใช้ศักยภาพโดยธรรมชาติของชีวภูมิศาสตร์ โดยพัฒนาเกษตรให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานการสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งโลก และการผลิตพลังงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยมีภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน และภาคบริการเสริม ทั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาประเทศจากการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร (NAIC) จึงจะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดจนอำนาจต่อรอง ในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” ซึ่งหากวิเคราะห์ข้อความดีๆ แล้วจะพบว่า มีประเด็นย่อยๆ เกี่ยวกับทัศนะนี้ ดังนี้

  • ในอนาคตอันใกล้ โลกจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน
  • ประเทศไทยมีศักยภาพโดยธรรมชาติของชีวภูมิศาสตร์ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบ ควรนำมาใช้
  • ประเทศไทยควรเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งโลก
  • ประเทศไทยควรผลิตพลังงานเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ
  • ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคการเกษตร มากกว่าภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยมี “ภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน และภาคบริการเสริม”
  • ประเทศไทยควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จาก NIC มาเป็น NAIC การเป็น NAIC จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจโลก

หากตอบ “เห็นด้วย” ในข้อ 1 ต้องไปทำต่อในข้อ 2 และหากตอบ “ไม่เห็นด้วย” ต้องไปทำต่อในข้อ 3

ข้อ 2 มีข้อย่อย 5 ข้อย่อย ได้แก่ “หลักการและเหตุผลสนับสนุนแนวคิด” “ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของแนวคิด” “เสนอแนวทางการขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์” “วิเคราะห์ข้อได้เปรียบ” และ “วิเคราะห์ข้อเสียเปรียบ”

ข้อ 3 มีข้อย่อย 7 ข้อย่อย ได้แก่ “เสนอเหตุผลเชิงขัดแย้ง” “เสนอกลยุทธ์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสมตามทัศนะของท่าน” “หลักการและเหตุผลสนับสนุนแนวคิด” “ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของแนวคิด” “เสนอแนวทางการขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์” “วิเคราะห์ข้อได้เปรียบ” และ “วิเคราะห์ข้อเสียเปรียบ”

คำตอบ

ข้อ 1. จากทัศนะของ เป็งกีสข่าน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้นำเสนอไว้ข้างต้นนั้น ผมเห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว โดยขอนำเสนอความคิดเห็นต่อทัศนะดังกล่าว ดังนี้

  • การที่เป็งกีสข่านได้แสดงทัศนะไว้ว่า “ในอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน”
    • ในประเด็นของการขาดแคลนอาหารนั้นสอดคล้องกับ แนวคิดของ Thomas Robert Multhus ในเรื่อง กับดักของประชากร (Population Trap) ซึ่งได้ทำการศึกษาถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร เปรียบเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของสมรรถนะของสังคมในการผลิตอาหาร และพบว่าอัตราการเจริญเติบโตของตัวแปรทั้งสองเป็นไปในคนละลักษณะ ทำให้เชื่อได้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจะมากกว่าสมรรถนะของสังคมในการผลิตอาหาร จนนำไปสู่สภาวะขาดแคลนอาหารได้ “The power of population is indefinitely greater than the power in the earth to produce subsistence for man”
    • นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นยังส่งผลให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การบุกรุกเขตป่าสงวนเพื่อมาแปลงเป็นที่ดินทำกิน การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย การจับสัตว์น้ำมาขายโดยเน้นปริมาณเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนไม่เลือกวิธีการที่ใช้ จนทำให้สัตว์และพืชบางชนิดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วหรือสูญพันธุ์ไปในที่สุด รวมไปถึงการผลิตสารพิษจำนวนมากอันเป็นผลพลอยได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ความสมดุลของระบบนิเวศน์ถูกทำลาย และปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของการขาดแคลนอาหารและพลังงานในที่สุด
    • อีกสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ได้แก่ แนวทางการพัฒนาประเทศซึ่งให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงตัวชี้วัด คือ ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product : GDP) มากกว่าผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังปลูกฝังให้ประชาชนตกอยู่ในบ่วงความคิดแบบบริโภคนิยม วัตถุนิยม เพื่อจะให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นจนทำให้ GDP เพิ่มมากขึ้น การให้ความสำคัญกับการเติบโตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก จึงเกิดการไหลของแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม ประชากรโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวหลั่งไหลจากชนบทเข้ามาสู่เมืองใหญ่ โดยคาดหวังว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ ตัวแบบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง (Structural Change Model) จนทำให้ภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของประเทศขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ เหลือเพียงแต่ผู้สูงอายุและเด็กที่ยังอยู่ในชนบทเพื่อทำหน้าที่ผลิตอาหารให้กับประเทศ
    • นอกจากปัญหาเรื่องแรงงาน การเน้นการเติบโตทางอุตสาหกรรมยังส่งผลให้ พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือใช้ในการก่อสร้างที่พักอาศัย สร้างถนนหนทางรองรับความเจริญเติบโตของสังคมเมือง
    • อุตสาหกรรม นับเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ทั้งพลังงานไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งในกระบวนการผลิต การเก็บรักษา ตลอดจนการขนส่งสินค้า ยิ่งอุตสาหกรรมเติบโตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่พลังงานหลักของโลกนั้น ยังมาจากแหล่งพลังงานที่มีปริมาณจำกัด เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ทำให้ปริมาณพลังงานของโลกลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พลังงานเหล่านั้นก็จะหมดไปในที่สุด
    • ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทนเข้ามาแก้ไขปัญหาพลังงาน โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่ ไบโอดีเซล ซึ่งได้มาจากพืชบางชนิด เช่น อ้อย เมื่อความต้องการปริมาณไบโอดีเซลมีมากขึ้น ก็จะทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชที่ใช้ในการทำไบโอดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ในการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารลดน้อยลงไปแทน จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารได้
    • ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนสนับสนุนทัศนะของเป็งกีสข่านที่ว่า “โลกจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน” ได้เป็นอย่างดี
  • เป็งกีสข่าน ได้ให้ทัศนะต่อไปอีกว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพโดยธรรมชาติของชีวภูมิศาสตร์” กล่าวคือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นผลมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์ที่หลากหลาย มีสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก นานาชนิด จนกล่าวได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในเขตอู่ข้าวอู่น้ำ ดังคำโบราณที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ความหลากหลายทางชีวภาพนี้เองที่ถือเป็นข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันของประเทศไทยที่ไม่มีใครสามารถมาแย่งจากเราไปได้ คำถามจึงมีอยู่ว่า เราจะใช้ความได้เปรียบนี้เพื่อสร้างพื้นที่อันมั่นคงในเวทีเศรษฐกิจและการเมืองโลก หรือเลือกจะเดินตามแนวทางการพัฒนาของชาติตะวันตกที่เน้นให้เติบโตในภาคอุตสาหกรรมจนละเลยทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่าไป
  • เป็งกีสข่าน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก และเล็งเห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงของประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นทางออกของปัญหาเหล่านั้น คือ การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและพลังงานโดยอาศัยพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้นำเสนอกรอบแนวคิดที่สำคัญ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน นั่นคือ “ประเทศไทยควรใช้ศักยภาพโดยธรรมชาติของชีวภูมิศาสตร์ โดยพัฒนาเกษตรให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานการสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร เพื่อเลี้ยงปากท้องของคนทั้งโลก และการผลิตพลังงานขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ” ซึ่งผมเห็นด้วยกับแนวทางนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการวางกลยุทธ์ที่ใช้จุดแข็ง (Strengths) คือ ความหลากหลายทางชีวภาพ มาคว้าเอาโอกาส (Opportunities) คือ การขาดแคลนอาหารและพลังงานของโลก ได้อย่างสวยงาม อีกทั้งกรอบแนวคิดของเป็งกีสข่านยังสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย และปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าควรน้อมนำเอามาใส่ใจและนำไปปฏิบัติอีกด้วย
  • ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมาสนใจต่อไป คือ เราจะทำให้กรอบแนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้อย่างไร เป็งกีสข่านได้นำเสนอคำตอบที่จะนำไปสู่การปฏิบัติไว้ว่า “มีภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน และภาคบริการเสริม ทั้งนี้จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาประเทศจากการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร (NAIC)” แล้ว NAIC คืออะไร
  • ตัวแบบประเทศอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ NAIC (Newly Agro Industrialized Country) Model เกิดจากการบูรณาการทางความคิดของ ศ.ดร.กฤษ เพิ่มทันจิตต์ โดยได้บูรณาการตัวแบบประเทศ 2 ตัวแบบ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ NIC (Newly Industrialized Country) และ ประเทศเกษตรกรรมใหม่ หรือ NAC (Newly Agricultural Country) เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นตัวแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น ไม่ได้เน้นเพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลดีกับคนเพียงกลุ่มน้อย จนทำให้เกิดสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” แต่ใช้อุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรให้สูงขึ้น ซึ่งเหมาะสมกับประเทศที่กำลังพัฒนาและมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย บวกกับใช้วัฒนธรรมไทยที่โดดเด่นในเรื่องการให้บริการด้วยหัวใจและรอยยิ้ม จนเป็นที่ประทับใจของคนทั้งโลกมาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าเข้าไปอีกด้วย ดังคำกล่าวของเป็งกีสข่านที่ว่า “ภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน และภาคบริการเสริม”
  • ศ.ดร.กฤษ เพิ่มทันจิตต์ ได้นำเสนอ NAIC Model ไว้โดยสรุปดังนี้
    • เป้าหมาย : สร้างดุลยภาพของประสิทธิภาพในการผลิตและความเท่าเทียมกันในสังคม
    • แนวคิด : เกษตรกรรมนำ อุตสาหกรรมหนุน บริการเสริม
    • องค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อน NAIC :
      • รัฐบาล เป็นผู้กำหนด/ออกนโยบายต่างๆ ที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่มในสังคม รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานและเป็นสื่อกลางในการเจรจาต่อรองในเวทีการค้ากับตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น WTO หรือการทำ FTA กับประเทศต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
      • ระบบราชการ เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐไปสู่ภาคประชาชน โดยการสนับสนุน/ส่งเสริม การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยและพัฒนา (R&D) และแหล่งทุน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อคนทุกระดับในสังคม
      • ชุมชนเกษตร มีหน้าที่ในการสร้างศักยภาพการผลิต การพัฒนาและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดความเข้มแข็งในภาคการเกษตร เพื่อให้เป็นฐานที่มั่นคงสำหรับภาคอุตสาหกรรม
    • กลยุทธ์ :
      • ลดการพึ่งพาต่างชาติ โดยลดการส่งออก หันมาสร้างค่านิยมการใช้สินค้าและบริการของไทย รวมถึงเที่ยวเมืองไทย อันจะส่งผลให้ประเทศไทยไม่ต้องอยู่ภายใต้อาณานิคมทางเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจอีกต่อไป
      • สนับสนุน SMEs / ชุมชน ให้เข้มแข็ง กลายเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ช่วยลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ประชาชนในทุกพื้นที่มีอำนาจในการซื้อหรือบริโภคสินค้าต่างๆ มากขึ้น
      • กระจายอุตสาหกรรมสู่ชนบท เพื่อให้ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ประหยัดต้นทุนทำให้สินค้ามีศักยภาพในการแข่งขันด้านราคามากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานในการขนส่งอีกด้วย
      • มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นครัวโลก โดยอาศัยจุดแข็งทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มาคว้าโอกาสได้อย่างเหมาะสม
      • สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปฐมภูมิ โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสานกับการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
      • เปลี่ยนทัศนคติค่านิยมของสังคมไทยจากบริโภคนิยม วัตถุนิยม อันเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศโดยมุ่งหวังให้ GDP เติบโตเพียงอย่างเดียว ให้รู้จัก “พอประมาณ” “มีเหตุผล” และ “มีภูมิคุ้มกัน” คิดตัดสินใจบนพื้นฐานของ “ความรู้ คู่ คุณธรรม” อันเป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้คนเห็นความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจ ชีวิต สังคม กับระบบนิเวศน์ และอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
      • เปลี่ยนตัวชี้วัดของสังคม จาก GDP เป็น GDH (Gross Domestic Happiness) หรือ ความสุขมวลรวมประชาชาติ อันเป็นแนวคิดของสมเด็จพระบรมราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก อดีตพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 ของประเทศภูฏาน (องค์ปัจจุบัน ได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก) โดยนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับสังคมไทย กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศโดยใส่ใจความต้องการพื้นฐานของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง โดยต้องมุ่งแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ให้ผลของการพัฒนาประเทศไปอยู่กับคนที่เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาประเทศ ได้แก่ ภาคเกษตรกร ส่งเสริมให้คนทำมาหากินในภูมิลำเนาของตนเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของครอบครัว เร่งพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างคนรุ่นหลังให้มีความรู้ความสามารถ ควบคุมสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับสังคมพร้อมทั้งสร้างสื่อใหม่ๆ ที่จะใส่ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับสังคม กระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทและฟื้นฟูธรรมชาติโดยการให้สิทธิพิเศษบางประการ เช่น การอนุญาตให้นำเอาค่าใช้จ่ายในการทำโครงการเพื่อชุมชนหรือธรรมชาติมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะทำให้ GDH ของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และจะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
  • อย่างไรก็ดี แนวคิดการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมใหม่ (NAIC) นั้น อาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคขวางกั้น จากกลุ่มคนที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น กลุ่มนายทุนใหญ่ กลุ่มทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่กระทั่งจากรัฐบาลเอง เนื่องจากการพัฒนาประเทศให้เป็น NAIC นั้น ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ในขณะที่รัฐบาลไทยส่วนใหญ่ขาดเสถียรภาพทางการเมือง มักจะอยู่ในอำนาจหน้าที่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ การที่จะทำให้ประชาชนเลือกตนเองกลับมาอีกครั้งนั้น จึงต้องดำเนินนโยบายที่เห็นผลจับต้องได้ชัดเจนก่อน ถึงแม้จะรู้ว่านโยบายเหล่านั้นอาจเกิดผลไม่คุ้มค่าหรือเกิดผลเสียในระยะยาวกับสังคมก็ตาม เช่น นโยบายเช็คช่วยชาติของนายกอภิสิทธิ์ ที่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายในการบริโภคสินค้ามากขึ้น แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้คนที่ควรได้รับการช่วยเหลือจริงๆ กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ คนที่ได้เช็คไปส่วนหนึ่งก็เอาไปเก็บไว้เป็นเงินสำรองในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่เกิดผลอันใดต่อระบบเศรษฐกิจ คนที่เลือกที่จะใช้จ่ายเช็คนั้น ส่วนใหญ่ก็นำไปซื้อสินค้าของต่างประเทศหรือซื้อสินค้าในห้างร้านของต่างประเทศ ทำให้เงินไหลออกไปนอกประเทศ ไม่เกิดการหมุนเวียนภายในอย่างที่คาดหวังไว้ เป็นต้น
  • กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยควรจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใหม่ จากการมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ประเทศกลายเป็น NICs เป็นการพัฒนาโดยใช้ภาคเกษตรกรรมนำ ภาคอุตสาหกรรมหนุน ภาคบริการเสริม ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก โดยการอาศัยข้อได้เปรียบทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และโอกาส คือ การที่โลกกำลังจะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ทำให้ประเทศไทยสามารถมีพื้นที่ยืนอย่างมั่นคงบนเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกได้ ตามคำกล่าวของ เป็งกีสข่าน นั่นเอง