ทฤษฎีแรงจูงใจ Herzberg's Two-Factor Theory

Post date: 23-Dec-2010 06:26:56

ถ้ากล่าวถึงทฤษฎีแรงจูงใจ ชื่อนักวิชาการคนแรกที่คนมักนึกถึงคงหนีไม่พ้น Maslow เจ้าของทฤษฎี Hierarchy of Needs ซึ่งมักถูกหยิบยกมาใช้ในมิติต่างๆ ของการบริหารองค์การ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีของมาสโลว์มุ่งเน้นที่ระดับปัจเจกบุคคล การนำมาใช้ในระดับองค์การจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

Herzberg ได้เล็งเห็นถึงความจริงในข้อนี้ จึงได้ทำการศึกษาองค์การต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา กว่า 250 องค์การ จนเกิดเป็น Herzberg's Two-Factor Theory ขึ้น ทฤษฎีดังกล่าวได้พยายามอธิบายว่า แรงจูงใจในการทำงานที่สำคัญ คือ ความพึงพอใจของคนทำงาน ถ้าพึงพอใจก็จะยินดีทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน โดย Herzberg ได้แบ่งปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ทำให้ไม่พึงพอใจในงาน และปัจจัยที่ทำให้พึงพอใจในงาน

ปัจจัยที่ทำให้ไม่พึงพอใจในงาน จะเกี่ยวข้องกับ "บริบทของงาน (Job Context)" อาทิ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานดีหรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในทำงานดีหรือขัดแย้งกัน นโยบายขององค์การถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมหรือไม่ การบังคับบัญชามีความยุติธรรมหรือไม่ ฐานเงินเดือนเป็นอย่างไร เป็นต้น บริบทของงานที่ไม่ดี จะทำให้คนไม่พึงพอใจในงาน ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงาน งานที่ได้จึงไม่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ร่างกายใดรับสารอาหารไม่เพียงพอก็จะเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมานั่นเอง Herzberg จึงเรียกปัจจัยนี้ว่า "Hygiene Factors"

อย่างไรก็ดี ถึงแม้บริบทของงานจะดี แต่ก็ทำได้เพียงแค่ ทำให้คนไม่ "ไม่พึงพอใจในงาน" ยังไม่ได้ทำให้คน "พึงพอใจในงาน"

ปัจจัยที่ทำให้พึงพอใจในงาน จะเกี่ยวข้องกับ "ตัวเนื้องาน (Job Content)" อาทิ งานนั้นทำแล้วรู้สึกว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ทำแล้วได้รับเกียรติหรือไม่ ทำแล้วงานมีความคืบหน้าหรือไม่ ทำแล้วตัวเองมีความก้าวหน้าหรือไม่ งานนั้นใช่งานที่เค้าถนัดและชอบหรือไม่ เป็นต้น เนื้องานที่ทำแล้วเห็นโอกาสสำเร็จ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คนทำได้รับเกียรติ ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นผลตอบแทน ก็จะทำให้งานนั้นเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข และเมื่อมีความสุขในการทำงาน คนจึงมุ่งมั่นทุ่มเททำงานนั้นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยได้นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ หากเราต้องการให้องค์การของเรา เต็มไปด้วยคนที่มีแรงจูงใจในการทำงาน เราจะต้องพยายามที่จะทำให้เค้าไม่เกิดความ "ไม่พึงพอใจในงาน" ด้วยการสร้างบริบทของงานที่ดี และต้องพยายามทำให้เค้าเกิดความ "พึงพอใจในงาน" โดยการออกแบบงานให้เหมาะสมกับบุคลากรแต่ละคน หรือการจัดวางคนให้เหมาะสมกับเนื้องาน