ปัญหาน้ำมัน ตอนที่ 1: สาเหตุแห่งปัญหาและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ

Post date: 22-Jul-2010 08:22:41

น้ำมันจัดเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากในปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปและภาคเอกชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ในเรื่องการเดินทาง การขนส่งสินค้า การผลิตสินค้า เป็นต้น ปัญหาน้ำมันจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เราไม่อาจละเลยได้ ผมจึงขอนำเสนอแนวความคิดของผมเกี่ยวกับปัญหาน้ำมันไว้ในบทความทั้งสองบทความนี้ สำหรับบทความแรกจะพูดถึงสาเหตุและผลกระทบของปัญหาน้ำมัน และในบทความที่สองจะเป็นการเสนอแนะทางออกของปัญหาในทัศนะของผม

สาเหตุของวิกฤตพลังงาน

น้ำมันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป และมีแนวโน้มที่ใกล้จะหมดแล้วในตอนนี้

ในทางตรงกันข้าม น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการพัฒนาประเทศตามกรอบของทุนนิยมที่เน้นแต่อุตสาหกรรม โดยไม่ใส่ใจดูแลทุนธรรมชาติ ทำให้แนวโน้มการใช้น้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น แต่น้ำมันมีจำกัด ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

ผลกระทบของราคาน้ำมันต่อระบบเศรษฐกิจ

ผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าทั่วไปสูงขึ้น สินค้าจึงขึ้นราคา อัตราเงินเฟ้อจึงสูงขึ้น

ผลต่ออัตราดอกเบี้ย เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น ปริมาณเงินแท้จริง (M/P) จึงลดลง รวมกับผลจากการที่เงินเฟ้อสูงขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

ผลต่อ GDP เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น แต่ประชาชนมีรายได้เท่าเดิม ทำให้การบริโภคของประชาชน (C) ลดลง สินค้าขายได้น้อยลง ทำให้เกิดสินค้าค้างสต็อกมากขึ้น แต่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น บริษัทเอกชนจึงลงทุน (I) ลดลง จึงไม่มีความต้องการแรงงานเพิ่ม ในทางกลับกันบางบริษัทถึงกับปลดพนักงานออกเพื่อลดต้นทุน รวมกับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น GDP จึงลดลง

ผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เมื่อต้นทุนสินค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกลดลง เราขายสินค้าได้น้อยลง ในขณะเดียวกันเรายังต้องนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันจากต่างประเทศในราคาที่สูงขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเงินสะพัดจะขาดดุลมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง หนี้ต่างประเทศจะสูงขึ้น

ผลต่อการกระจายรายได้ อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีรายได้ลดลง ต้นทุนในการประกอบอาชีพของคนที่มีฐานะยากจน เช่น น้ำมันเติมเรือประมง น้ำมันเติมรถไถนา ค่าปุ๋ยและสารเคมีที่ต้องใช้ในการทำไร่นา หรือแม้กระทั่งค่าอาหารสัตว์ สูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น แต่ราคาที่ขายได้กลับเท่าเดิมเพราะถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่หรือพ่อค้าคนกลาง รายได้จึงน้อยลง ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น คนที่ยากจนจึงต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการบริโภคสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ยา เป็นต้น จึงส่งผลให้คนยากจนยิ่งยากจนลง ธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง (SMEs) กลุ่มชาวบ้านโอท็อป (OTOP) ก็ต้องรับผลจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้บางแห่งต้องล้มเลิกไป ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลให้คนยากจนยิ่งยากจนลง ในขณะที่กลุ่มนายทุนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจน้อยมาก หรืออาจได้รับประโยชน์ด้วย เช่น กรณีเซเว่นอีเลเว่น ที่คุณก่อศักดิ์ ชัยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี รายได้ของ 7-11 เพิ่มขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเติบโตอย่างสวนกระแสเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กลุ่มนายทุนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยน้อยลง เนื่องจากสามารถใช้กำลังทุนกับความสามารถในการบริหารจัดการในการแสวงหาและคว้าโอกาสในวิกฤตไว้ได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงยิ่งถ่างกว้างขึ้น

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เมื่อคนต้องตกงาน ไม่มีรายได้ที่จะใช้จ่ายในการบริโภค แต่ราคาสินค้ากลับขึ้นสูงเนื่องจากผลของต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Stagflation ในขณะที่สังคมไทยขาดการปลูกฝังเรื่องจริยธรรม การรู้จักพอเพียง การประหยัดอดออม แต่กลับถูกกระตุ้นด้วยลัทธิบริโภคนิยม จิตใจเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ทำให้คนไม่เลือกวิธีที่จะใช้เพื่อให้ได้เงินทองมา จนอาจก่ออาชญากรรมขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ คุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวมจึงลดลง

ผลกระทบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังยึดเอา GDP เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ทำให้ยังคงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคของประชาชนให้สูงขึ้น ใช้สื่อทุกรูปแบบในการจูงใจให้ประชาชนใช้เงินโดยขาดปัญญา ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งต่างจำเป็นต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญ ทำให้ประเทศไทยต้องใช้น้ำมันในปริมาณที่สูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของการที่ราคาน้ำมันแพงได้เลย และสุดท้ายแล้วประเทศไทยก็จะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ตั้งไว้ได้