การวางแผนและวิเคราะห์โครงการโดยแนวทางกรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework)

Post date: 19-Oct-2010 06:33:00

ความหมายของกรอบเหตุผลสัมพันธ์

กรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework หรือ Log-Frame) มาจากคำว่า Logical ซึ่งหมายถึง ตรรกะ และ Framework ซึ่งหมายถึง กรอบแนวคิด ดังนั้น Log-Frame ก็คือ การแสดงความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผล นั่นเอง

Log-Frame เป็นกรอบแนวคิดที่ได้รับความนิยมในการวางแผนและวิเคราะห์โครงการ นำเสนอในรูปแบบตาราง 4x4 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ในตาราง โดยแบ่งเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง (Vertical Logic) และความสัมพันธ์แนวนอน (Horizontal Logic)

องค์ประกอบที่สำคัญของกรอบเหตุผลสัมพันธ์

องค์ประกอบที่สำคัญของ Log-Frame มีดังนี้

  1. เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ในภาพรวม (Goal / Overall Objective)
  2. วัตถุประสงค์เฉพาะ (Specific Objective / Project Purpose)
  3. ผลผลิต (Outputs / Results)
  4. กิจกรรม (Activities)
  5. ตัวชี้วัด (Indicators)
  6. วิธีการ (Means) และค่าใช้จ่าย (Costs)
  7. ฐานคติ (Assumptions) หรือเงื่อนไขความสำเร็จ

จากองค์ประกอบทั้งหมด สามารถนำมาสร้างเป็นความสัมพันธ์ ได้ดังนี้

  1. ความสัมพันธ์แนวดิ่ง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างแผนงานในภาพรวม กับโครงการ โดยความสัมพันธ์อยู่ในรูปแบบ "ถ้า..แล้ว (If..then)"
    • สามารถแตกย่อยได้เป็น 4 ระดับ
      1. ระดับนโยบาย ได้แก่ เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ ของแผนงานในภาพรวม ในหนึ่งแผนงานอาจประกอบไปด้วยโครงการกี่โครงการก็ได้
      2. ระดับวัตถุประสงค์ ได้แก่ วัตถุประสงค์ของโครงการ ในหนึ่งโครงการอาจมีหลายวัตถุประสงค์ และแต่ละวัตถุประสงค์ก็อาจต้องการผลผลิตที่มากกว่าหนึ่งผลผลิตได้
      3. ระดับผลงาน ได้แก่ ผลผลิตของโครงการ ในแต่ละผลผลิตของโครงการอาจต้องการกิจกรรมและทรัพยากรจำนวนมากได้
      4. ระดับปัจจัย ได้แก่ กิจกรรมและทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงาน
    • ในการวางแผนจะต้องคิดจากบนลงล่าง (1-2-3-4) แต่เวลาดำเนินการจะต้องทำจากล่างขึ้นบน (4-3-2-1) กล่าวคือ จะต้องเริ่มจากจัดสรรปัจจัยนำเข้า (ทรัพยากรต่างๆ ทั้งเงิน คน เวลา เครื่องมือ) เข้าสู่กระบวนการหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้เป็นผลผลิตขึ้นมาตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้อย่างครบถ้วนถูกต้อง จึงจะถือว่าโครงการนั้นประสบความสำเร็จ และเมื่อแต่ละโครงการในแผนงานประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะทำให้เป้าหมายของแผนงานในภาพรวมประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน
    • Tips: เวลาเขียน LogFrame ควรเขียนแบบ 1 วัตถุประสงค์ต่อหนึ่งตาราง ไม่ควรเขียนหลายวัตถุประสงค์ในตารางเดียวเพราะจะทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ต่างๆ
  2. ความสัมพันธ์แนวนอน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายละเอียดต่างๆ ของแผนงานและโครงการ
    • สามารถแตกย่อยได้เป็น 4 องค์ประกอบ
      1. คำสรุป (Narrative Summary : NS) เป็นคำอธิบายโดยสรุปขององค์ประกอบตามความสัมพันธ์แนวดิ่ง (เป้าหมาย วัตถุประสงค์โครงการ ผลผลิต กิจกรรม และทรัพยากร) ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการจะเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือไปแทรกแซง จึงมักเรียกว่า Logical Intervention
      2. ตัวชี้วัด (Objectively Verifiable Indicators : OVI) เป็นดัชนี้ชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงาน เพื่อให้บอกได้ว่าแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร
      3. แหล่งข้อมูลหรือวิธีพิสูจน์ (Sources of Verification : SOV / Means of Verification : MOV) เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของข้อมูลในตัวชี้วัด เช่น จากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ หรือ ต้องลงไปเก็บข้อมูลเชิงปฐมภูมิเอง
      4. เงื่อนไขความสำเร็จ (Important Assumptions : IA) หมายถึงปัจจัยภายนอกที่ไม่อยู่ในการควบคุมของโครงการ แต่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ