สรุปภาพรวมการประเมินผลโครงการ

Post date: 20-Oct-2010 02:50:09

การประเมิน หมายถึง การแสวงหาคำตอบรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ทราบคุณค่าและสิ่งที่ถูกประเมิน โดยอาศัยเกณฑ์และมาตรฐาน

ในขั้นตอนการวิจัยประเมินผลนั้น เมื่อเรากำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจะต้องทำการระบุเกณฑ์มาตรฐานสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบเพื่อวัดความสำเร็จของโครงการ หลังจากนั้นจึงทำการวางแผนและออกแบบการวิจัยประเมินผล ลงมือเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แปลผลและตีความผลการวิเคราะห์ จนนำไปสู่การสรุปผลการประเมิน การอภิปรายผล และการเสนอแนะเพื่อการตัดสินใจต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือการระบุว่า เกณฑ์ที่จะใช้วัดคุณค่าของโครงการนั้นคืออะไร และต้องใช้ตัวชี้วัดอะไรที่จะสามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม

การประเมินผลโครงการในช่วงแรกนั้น มักเน้นที่การประเมินความพยายาม (Effort Evaluation) ว่าได้ทำอะไรในโครงการนั้นไปแล้วบ้าง แต่ไม่ได้สนใจในผลของความพยายามนั้น ในระยะถัดมาเมื่อประชาชนชนมีปัญหาและความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในขณะที่งบประมาณมีจำกัด จึงเริ่มเห็นความสำคัญของการประเมินผลลัพธ์ (Effect Evaluation) และในปัจจุบัน การประเมินผลโครงการได้พัฒนามาเป็นการประเมินภาพรวม (Comprehensive Evaluation) ซึ่งเป็นการประเมินโครงการทั้งหมดในภาพรวม ตั้งแต่การประเมินบริบทของโครงการ (Context) การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) การประเมินกระบวนการ (Process) การประเมินผลลัพธ์ (Product) และการประเมินผลกระทบ (Impact)

การประเมินควรจะกระทำตั้งแต่ก่อนที่จะมีโครงการ จนกระทั่งทำการประเมินถึงผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการ ลำดับขั้นของการประเมิน ประกอบด้วย

  1. การประเมินความจำเป็นต้องมีโครงการ (Assessment of Need for the Program)
  2. การประเมินการออกแบบและทฤษฎีของโครงการ (Assessment of Program Design and Theory)
  3. การประเมินกระบวนการดำเนินงานและการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Assessment of Program Process and Implementation)
  4. การประเมินผลลัพธ์/ผลกระทบของโครงการ (Assessment of Program Outcome/Impact)
  5. การประเมินค่าใช้จ่ายของโปรแกรมและประสิทธิภาพ (Assessment of Program Cost and Efficiency)

เกณฑ์เพื่อการประเมินคุณค่าของโครงการ ประกอบด้วย เกณฑ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ประสิทธิผล (Effectiveness)
  • ประสิทธิภาพ (Efficiency)
  • ความเท่าเทียมกัน (Equity)
  • ความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice)
  • ความพอเพียง (Adequacy)
  • ความครอบคลุม (Coverage)
  • ความเสียหายที่โครงการทำให้เกิดขึ้น (Damage)
  • ความก้าวหน้าของโครงการ (Progress)
  • ความสอดคล้องกับปัญหา (Relevance)
  • ต้นทุนทางสังคม (Social Cost)
  • ความพึงพอใจ (Satisfaction)
  • ความยั่งยืน (Sustainability)
  • ผลกระทบ (Impact)

ต่อคำถามที่ว่า แล้วเราจะกำหนดเป้าหมายของโครงการอย่างไร จึงจะถือได้ว่าโครงการนั้นสำเร็จจริง มีเกณฑ์การประเมินมาตรฐานผลการดำเนินโครงการ ดังนี้

  1. ความจำเป็นหรือความต้องการของกลุ่มประชาชนเป้าหมาย
  2. เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ
  3. มาตรฐานทางวิชาชีพ
  4. วิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานที่ได้จากโครงการอื่น
  5. ข้อกำหนดตามกำหมายหรือกฎระเบียบ
  6. คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรม ความยุติธรรมทางสังคม ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
  7. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ข้อมูลทางประวัติศาสตร์
  8. เป้าหมายที่ผู้จัดการโครงการตั้งไว้
  9. ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
  10. ระดับเส้นฐานก่อนการดำเนินโครงการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
  11. สภาพที่คาดคิดว่าจะเป็นหากไม่มีการดำเนินงานโครงการ
  12. ค่าใช้จ่าย (ต้นทุน) หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยเปรียบเทียบ

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (2529) ได้สรุปเกณฑ์การวิจัยประเมินผล 5 ประการ พร้อมทั้งยกตัวอย่างคำถามไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอนำเสนอตัวอย่างตัวชี้วัดเชิงประจักษ์ของแต่ละเกณฑ์ โดยอาศัยโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลปัจจุบันมาเป็นกรณีศึกษาไปควบคู่ด้วย เกณฑ์ทั้ง 5 เกณฑ์ได้แก่

  1. ประสิทธิผล เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการกับวัตถุประสงค์ของโครงการ เกณฑ์ประสิทธิผลจะช่วยให้เราทราบว่าโครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี สมมติว่ามีวัตถุประสงค์ของโครงการ “เพื่อเพิ่มจำนวนเด็กไทยทั้งประเทศที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบจากจำนวนในปี 2552 ภายในปี 2555” หากมีวัตถุประสงค์ของโครงการเช่นนี้ ตัวชี้วัดของโครงการนี้ก็จะต้องเป็น “จำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อเทียบกับปี 2552” และโครงการนี้จะมีประสิทธิผลก็ต่อเมื่อทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2555 แล้วพบว่า มีจำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลายเพิ่มขึ้นจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 80 หรือมากกว่า
  2. ประสิทธิภาพ เป็นการเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยนำเข้า กับผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่าผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการที่ได้มาคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวอย่างตัวชี้วัดของโครงการที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพของโครงการ เช่น จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นต่องบประมาณที่ให้แต่ละโรงเรียน สมมติว่ามีเกณฑ์มาตรฐานจากประเทศอื่นๆ อยู่ว่า ในหนึ่งรร.หากให้งบประมาณไปหนึ่งแสนบาท จะช่วยให้มีเด็กนักเรียนเพิ่มมากขึ้น 50 คน หากทำการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว รร.ต่างๆ ในประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น 55 คนต่องบประมาณที่ได้รับไปหนึ่งแสนบาท ลักษณะนี้ถือว่าโครงการนี้มีประสิทธิภาพ
  3. ความพอเพียง เป็นการเปรียบเทียบระหว่างผลลัพธ์และผลกระทบของโครงการกับความต้องการทั้งหมดของสังคม ซึ่งจะช่วยให้เราทราบว่าโครงการสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้มากน้อยเพียงใด สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวอย่างตัวชี้วัดของโครงการที่สะท้อนถึงความพอเพียง เช่น จำนวนเด็กไทยที่มีโอกาสได้เข้าโครงการเทียบกับจำนวนเด็กไทยที่มีความต้องการทั้งหมด ซึ่งหากในการสำรวจความต้องการของประชาชนก่อนเริ่มต้นทำโครงการพบว่า มีเด็กไทยที่ต้องการเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้ขาดโอกาสที่จะเรียนต่อ จำนวนทั้งสิ้น 100,000 คนต่อปี แต่เมื่อจัดสรรงบประมาณแล้วพบว่ามีงบประมาณเพียงพอสำหรับเด็กไทยแค่ 30,000 คนต่อปี โครงการนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า ไม่ประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ของความพอเพียงของโครงการ
  4. ความเสมอภาค เป็นการเปรียบเทียบโอกาสในการที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับบริการสาธารณะตามโครงการว่ามีความเท่าเทียมกันทางโอกาสหรือไม่ สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี หากสมมติตามตัวอย่างที่แล้วว่า มีความต้องการทั้งหมด 100,000 คนต่อปี แต่มีงบประมาณสำหรับเพียง 30,000 คนต่อปี ตัวชี้วัดสำหรับเกณฑ์ความเสมอภาค เช่น อัตราส่วนเด็กที่ได้เข้าโครงการต่อเด็กที่มีความต้องการทั้งหมด เปรียบเทียบกันในแต่ละภูมิภาค หากพบว่าทุกภูมิภาคมีอัตราส่วนเด็กที่ได้เข้าโครงการต่อเด็กที่มีความต้องการทั้งหมดในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ก็สามารถกล่าวได้ว่า โครงการนี้ผ่านเกณฑ์ความเสมอภาค (ที่จำเป็นต้องคิดเป็นอัตราส่วนเนื่องจากในแต่ละภูมิภาคอาจมีจำนวนเด็กที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่เท่ากัน การกระจายสิทธิ์โดยการแบ่งไปแต่ละภูมิภาคเท่าๆ กันจึงไม่เหมาะสม)
  5. ความเป็นธรรม เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างผู้ที่ได้รับผลลัพธ์และผลกระทบจากโครงการซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบในสังคม กับผู้ได้เปรียบในสังคม สำหรับโครงการเรียนฟรี 15 ปี ตัวชี้วัดที่สะท้อนเกณฑ์ความเป็นธรรม เช่น จำนวนที่ลดลงของเด็กที่ขาดโอกาสเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการให้ความช่วยเหลือกับผู้เสียเปรียบในสังคม ทำให้อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ผ่านเกณฑ์ความเป็นธรรมได้