1. แนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
Post date: 21-Jul-2010 17:02:49
ในการศึกษาวิชาทางด้านเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็นที่จะต้องเข้าใจกรอบแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ก่อน แนวคิดดังกล่าวมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่
- "ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีจำกัด" หรือ ทรัพยากรมีจำกัด เมื่อทรัพยากรมีจำกัด จึงต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เปรียบได้กับตัวเราเอง หากเรามีเงินใช้ไม่จำกัด เราก็ไม่จำเป็นต้องคิดก่อนใช้ อยากได้อะไรก็ซื้อได้เลย แต่เพราะในความจริงเรามีเงินอยู่จำกัด สมมติว่าเรามีเงินแค่วันละร้อยบาทมาทำงาน เราก็คงต้องวางแผนว่าจะใช้จ่ายอะไรบ้างในแต่ละวัน ส่วนหนึ่งเป็นค่ารถ ส่วนหนึ่งเป็นค่าอาหารกลางวัน จะให้ไปกินสตาร์บัคส์แก้วละเกือบร้อยก็คงไม่ได้เป็นแน่
- "ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรี" เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ทรัพยากรแต่ละอย่างก็สามารถนำไปทำอะไรบางอย่างได้ เมื่อใช้ไปแล้วก็หมดไป และบางอย่างก็ไม่สามารถเอาทรัพยากรอื่นมาใช้แทนได้ ดังนั้น ทุกอย่างจึงมีต้นทุน อย่างน้อยที่สุดก็คือ ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ตัวอย่างเช่น เวลา เรามักคิดว่าเราได้มาฟรีๆ เราจึงเลือกใช้เวลาทำอะไรก็ได้ตามใจเรา แต่หากเราใช้เวลาเป็น เราจะสามารถเอาเวลาที่เราว่างอยู่ เช่น เวลาเดินเล่น นั่งเหม่อลอย นอนจนมากเกินพอ ดูทีวี แชต บีบี ฯลฯ มาใช้ทำงานเสริม เราก็จะได้เงินเพิ่ม เพราะฉะนั้น การใช้เวลาว่างของเราจึงมีต้นทุนค่าเสียโอกาส เท่ากับ มูลค่าเงินที่เราจะได้จากการนำเอาเวลานั้นไปใช้ทำงานพิเศษ
- "ค่าของเงิน แปรผันกับ เวลา" เงินหนึ่งล้านบาทในวันนี้ กับหนึ่งล้านบาทในอีกสิบปีข้างหน้า จะมีมูลค่าไม่เท่ากัน เมื่อเอาไปใช้ในวัตถุประสงค์เดียวกัน เช่น ซื้อข้าวกิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อสิบปีก่อนเราสามารถทานอาหารมื้อหนึ่งอิ่มได้ด้วยเงินเพียง 10-20 บาท แต่เดี๋ยวนี้ 10-20 บาท แทบจะซื้ออะไรทานไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ถ้าจะให้อิ่มก็อาจจะต้องเสียเงิน 30 บาทเป็นอย่างน้อย ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถประเมินค่าของเงินหรือสิ่งของหรือโครงการในเวลาที่แตกต่างกันได้ หากต้องการเปรียบเทียบกันจะต้องปรับมูลค่าให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน (present value) เสียก่อน
สามแนวคิดนี้จัดเป็นแนวคิดพื้นฐานเบื้องต้นที่เราจะต้องเข้าใจก่อนจะศึกษาลงลึกไปในวิชาเศรษฐศาสตร์ต่อไป