ปัญหาน้ำมัน ตอนที่ 2: แนวทางแก้ไขปัญหาในทัศนะของผม

Post date: 22-Jul-2010 08:25:39

แม้ว่าปัญหาน้ำมันจะเป็นปัญหาที่มาควบคู่กับการพัฒนาประเทศ แต่หากเราพิจารณาไปถึงเหตุแห่งปัญหา และแก้ให้ตรงจุดในส่วนที่ประเทศของเราสามารถดำเนินการได้ ก็จะทำให้เรามีหวังที่จะหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้ ซึ่งผมขออนุญาตนำเสนอแนวทางสู่ทางออกของปัญหาในทัศนะของผมไว้ดังนี้

ทางออกของปัญหาในทัศนะของผม

ราคาน้ำมัน ประเทศไทยเราไม่ได้มีแหล่งน้ำมันเป็นของตัวเอง อีกทั้งเราไม่มีกำลังทหารเพียงพอที่จะใช้เพื่อทำสงครามแย่งชิงบ่อน้ำมันเหมือนอย่างที่ประเทศมหาอำนาจบางประเทศได้ทำไป ทำให้เราไม่สามารถไปจัดการกับราคาน้ำมันโดยตรงได้ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่จำหน่ายอยู่ในประเทศเราสามารถกำหนดได้ ความโปร่งใสในการบริหารงานของผู้บริหารของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักของตลาดภายในประเทศ รวมถึงความโปร่งใสของผู้ที่กำหนดนโยบายด้านพลังงาน ได้แก่ กระทรวงพลังงาน จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายในสังคมให้ความสนใจว่าทั้ง ปตท. และ กระทรวงพลังงาน ได้ทำหน้าที่เพื่อบรรเทาปัญหาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือทำเพื่อตัวเอง เช่น ใช้จ่ายงบประมาณของ ปตท. เพื่อความสะดวกสบายของตัวเองและพวกพ้อง ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารงานสูง ราคาน้ำมันจึงสูงตาม หรือมีผลประโยชน์อื่นใดที่ทับซ้อนอีกหรือไม่ รัฐบาลจึงต้องแก้ไขข้อข้องใจของประชาชนในเรื่องนี้ก่อน

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันได้ แต่เราสามารถกำหนดปริมาณน้ำมันที่เราจะใช้ได้ หากเราสามารถลดการใช้น้ำมันได้ ก็จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันน้อยลง อย่างไรก็ดี การพัฒนาประเทศตามแนวทางของทุนนิยม อุตสาหกรรมนิยม จำเป็นต้องใช้น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิต การที่จะลดการใช้น้ำมันได้ จึงต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่แนวทางการพัฒนาประเทศ โดยต้องเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาเสียใหม่ จากเดิมเคยใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาของประเทศ ควรเปลี่ยนไปใช้ GDH (Gross Domestic Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแทน GDH เป็นแนวทางที่ประเทศภูฏานใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก จนนิตยสาร Times จัดลำดับให้สมเด็จพระบรมราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก เป็น 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด

เมื่อเปลี่ยนความหมายของการพัฒนาใหม่แล้ว วิธีการที่จะทำให้ประเทศพัฒนาก็จะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยเน้นการพัฒนาทางวัตถุ กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นกิเลสความโลภของประชาชน ประเทศไทยทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ควรจะน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใส่ใจไว้ ช่วยกันเสริมสร้างค่านิยมของสังคมให้รู้จักบริโภคอย่าง “พอเหมาะ” คือ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น “มีเหตุผล” คือ คิดก่อนใช้ ไม่มีก็ไม่ต้องใช้ ไม่ก่อหนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น และ “มีภูมิคุ้มกัน” คือ รู้จักเก็บออม มีการวางแผนสำรองล่วงหน้าพร้อมรับกับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การตกงาน ฯลฯ โดยการเร่งสร้าง “ความรู้” พร้อมทั้งปลูกฝัง “คุณธรรม” ด้วย เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศพอเพียงแล้ว ก็จะส่งผลให้ GDH ของประเทศไทยสูงขึ้นได้ในที่สุด

นอกจากเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้ GDH สูงขึ้นแล้ว การที่คนมีความสุขในการใช้ชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ก็จะทำให้คนทำบทบาทหน้าที่ของตัวเองอย่างดีอย่างทุ่มเท พนักงานบริษัททุ่มเทกับงาน บริษัทก็เติบโต เกษตรกรทุ่มเทกับการปลูกพืชผักสวนครัว การผลิตก็ดีขึ้น ประชาชนรู้จักเก็บออมรู้จักบริโภคอย่างมีเหตุผล ก็จะทำให้ภาคธุรกิจได้รับรู้ถึงอุปสงค์ที่แท้จริงของตลา ด และสามารถลงทุนในธุรกิจที่เหมาะสมด้วยปริมาณที่เหมาะสม ถึงแม้ธุรกิจจะไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วหวือหวา แต่ก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน การจ้างงานก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะเริ่มอยู่ดีกินดีมากขึ้น GDP ก็จะค่อยๆ สูงขึ้น ในขณะเดียวกันการกระจายรายได้ก็จะเกิดขึ้นอย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย

นอกจากการกำหนดนิยามใหม่ให้กับการพัฒนาประเทศ ปลูกฝังให้คนยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศแล้วประเทศไทยก็จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะขาดแคลนน้ำมันที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า โดยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนด้วย เช่น การใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล หรือแม้กระทั่งพลังงานนิวเคลียร์ โดยที่รัฐบาลจะต้องทำการศึกษาถึงผลดีผลเสีย ความคุ้มทุน ผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างละเอียดรอบคอบ รวมถึงทำการประชาสัมพันธ์โครงการให้กับประชาชนรับทราบอย่างตรงไปตรงมา และให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ

ตัวอย่างการพัฒนาพลังงานทางเลือกของประเทศจีน จากข้อมูลในหนังสือ “สู่สังคมยั่งยืน” ในบทความเรื่อง “สงครามน้ำมันกับพลังงานทางเลือกในจีน” รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศจีนในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำมัน ซึ่งเกิดจากการพัฒนาประเทศจนเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันของจีนกลายเป็นอันดับสองของโลก ตั้งแต่ปี 2547 นอกจากการเร่งจัดซื้อน้ำมันนำเข้าให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว จีนยังได้พัฒนา “พลังงานทางเลือก” เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตไว้ โดยการตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานทางเลือก เช่น การใช้พลังงานจากกังหันลม จาก 1.5% ให้กลายเป็น 10% ในปี 2553 การใช้พลังงานน้ำ จาก 7.7% ให้เป็น 24-29% จากก๊าซธรรมชาติ 2.9% ให้เป็น 5% รวมถึงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น การวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบของประเทศจีนทำให้คาดได้ว่าจีนจะมีพลังงานเพียงพอที่จะรองรับกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของจีนในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลจะต้องมองหาช่องทางในการช่วยเหลือคนยากจนที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในปัจจุบันด้วย เช่น การลดราคาแก๊ซหุงต้ม (LPG) การลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้สำหรับเครื่องจักร เรือประมง รถไถนา รถบรรทุก เป็นต้น โดยการสนับสนุนจากกองทุนน้ำมัน และเพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันขาดเสถียรภาพทางการเงิน รัฐบาลจะต้องหารายได้เพิ่มเติม หนึ่งในวิธีที่น่าจะเป็นไปได้ คือ การเก็บภาษีรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อใช้ส่วนตัว ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางจนถึงคนรวย ทำให้ราคารถแพงขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆ ให้เป็นภาษีทางตรงมากขึ้น เร่งรัดการออกนโยบายภาษีมรดก และภาษีที่ดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกลุ่มนายทุนใหญ่ หรือกลุ่มคนรวย เปรียบเสมือนการดึงเงินออกจากกระเป๋าคนรวยมาช่วยคนจน

อีกหนึ่งวิธีที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าได้นั้น ในช่วงเวลานี้รัฐบาลจะต้องใช้เงินกู้ 8 แสนล้านบาทให้คุ้มค่าที่สุด โดยการพิจารณาถึงโครงการที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เช่น การลงทุนปรับปรุงโครงสร้างระบบขนส่งสินค้าภายในประเทศ โดยการสร้างถนน ปรับปรุงพื้นผิวการจราจร การซ่อมแซมหรือสร้างระบบราง (รถไฟ) เพิ่มเติม การสร้างกองเรือพานิชย์นาวีสำหรับการส่งออกของสินค้าไทย สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น หลุดพ้นจากสภาพ Stagflation ได้แล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการขนส่งให้กับธุรกิจไทยในระยะยาวด้วย หลังจากนั้นจึงใช้นโยบายการเงินการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเห็นประเทศไทยของเราพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น

การจะดำเนินการตามแนวทางต่างๆ ที่กล่าวมาได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความโปร่งใสจริงใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ มีความกล้าที่จะนำการเปลี่ยนแปลง มีความเข้มแข็งที่จะต้านทานแรงเสียดทานจากกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ช่วงแรกๆ ประชาชนอาจจะยังไม่เข้าใจ ทำให้เกิดการบ่นต่อว่า แต่ผู้นำนั้นจะต้องสามารถยืนหยัดจนกระทั่งพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นถึงผลลัพธ์อันดีที่คนไทยได้เก็บเกี่ยวร่วมกันในที่สุด นั่นคือ ความสุข และ สันติสุข