ประมวลกรอบความรู้ส่วนของ อ.ปกรณ์

Post date: 18-Oct-2010 07:28:29

รายงานส่วนของ อ.ปกรณ์ เป็นการสรุปรวบยอดเนื้อหาความรู้ที่ อ.สอนในห้องทั้งหมด จำเป็นที่เราจะต้องรู้เนื้อหา เข้าใจ และมองเห็นความเชื่อมโยงของเนื้อหาทั้งหมดก่อน จึงจะทำให้ทำรายงานได้ดี แน่นอนครับ รวมไปถึงการทำข้อสอบของวิชานี้ด้วย

ผมขอเรียบเรียงเนื้อหาที่ได้จากการฟังบรรยายในส่วนของ อ.ปกรณ์ และจากเอกสารประกอบการบรรยาย ประกอบกับหนังสือ "การบริหารโครงการ: แนวคิดและแนวทางในการสร้างความสำเร็จ โดย ปกรณ์ ปรียากร (2553)" โดยเรียงลำดับตามคำถามสำคัญในรายงานครับ

แผนภูมิการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ (Problem Tree Diagram)

เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาและสาเหตุของปัญหา เพื่อให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรบ้าง และสาเหตุเหล่านั้น เกิดจากสาเหตุย่อยๆ อะไรบ้าง การจัดทำ Problem Tree Diagram จึงเป็นขั้นตอนแรกของการจัดทำ Log Frame

แผนภูมิวัตถุประสงค์และวิธีการ (Objective Tree Diagram)

เป็นแผนภูมิที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และวิธีการที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น โดยการจัดทำ Objective Tree Diagram จะต้องสอดคล้องกับ Problem Tree Diagram กล่าวคือ เป้าหมายของโครงการจะต้องมุ่งแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ วัตถุประสงค์จะต้องตอบสาเหตุของปัญหาที่ทำการวิเคราะห์ไว้ ส่วนวิธีการจะต้องตอบสาเหตุย่อยของสาเหตุที่วิเคราะห์ไว้ด้วยเช่นกัน

เอกสารโครงการ ในรูปแบบ Logical Framework

โดยทั่วไปในระบบราชการ เมื่อเราต้องการทำเอกสารโครงการ เรามักเลือกจัดทำเอกสารโครงการในเชิงพรรณนา ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดต่างๆ ของโครงการด้วยการอธิบายความ เป็นลำดับไป ซึ่งมักทำให้เอกสารโครงการมีเนื้อหาที่ยาวและยากที่จะมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ ได้ รูปแบบการจัดทำเอกสารโครงการอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม เนื่องจากจะช่วยให้สามารถสรุปเนื้อหาได้อย่างกระชับและมองเห็นความสัมพันธ์ของหัวข้อต่างๆ ได้อย่างชัดเจน คือ การจัดทำเอกสารโครงการ ในรูปแบบ Logical Framework

เมื่อจัดทำ Problem Tree Diagram และ Objective Tree Diagram เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเอาข้อมูลในแผนภูมิมาใส่ในเอกสารโครงการในรูปแบบ Logical Framework ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

เอกสารโครงการ ในเชิงพรรณนา

หลังจากที่จัดทำเอกสารโครงการในรูปแบบ Log frame แล้ว เราสามารถนำข้อมูลใน Log Frame มาจัดทำเป็นเอกสารโครงการในเชิงพรรณนาได้ ซึ่งจะทำให้เอกสารโครงการมีความครบถ้วน ชัดเจน และมีความเชื่อมโยงถึงกันในทุกส่วนของเนื้อหา เอกสารโครงการในเชิงพรรณานาประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้

  1. หลักการและเหตุผล
  2. วัตถุประสงค์
  3. เป้าหมาย
  4. วิธีดำเนินงาน
  5. ระยะเวลาการดำเนินงาน
  6. สถานที่หรือพื้นที่ดำเนินงาน
  7. งบประมาณ
  8. ผู้รับผิดชอบ
  9. การติดตามและประเมินผล
  10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ระบบการจัดการโครงการ (Project Management System)

เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารให้ดำเนินการแล้ว ผู้จัดการโครงการจะต้องจัดระบบการจัดการโครงการ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

  1. ระบุจุดมุ่งหมายในระดับแผนงาน (Program Goal) และตัวชี้วัดต่างๆ ตามแผน
  2. ระบุวัตถุประสงค์ของโครงการ (Project Objective) และตัวชี้วัดต่างๆ ตามแผน
  3. ขอบข่ายโครงการ (Project Scope) โดยใช้โครงสร้างการจำแนกงาน (WBS) ระดับผลผลิตและกิจกรรม
  4. กำหนดรูปแบบองค์กรโครงการ โครงสร้าง ทีมงาน หน้าที่
  5. วางระบบการควบคุมโครงการ โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาได้แก่ เวลา ค่าใช้จ่าย (CSPEC: Cost and Specification) และคุณภาพ
  6. ปรึกษาหารือกับผู้รับบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจ วัดได้โดย การยอมรับในผลผลิตของโครงการ และการใช้ประโยชน์จากผลผลิตของโครงการ

ตัวแบบสิบสองปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ตัวแบบสิบสองปัจจัยแห่งความสำเร็จ เป็นผลจากการประมวลตัวแบบปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการ ของนักวิชาการระดับโลก ได้แก่ ตัวแบบบัญญัติสิบประการของ Paul C.Dinsmore ตัวแบบสิบปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Jeffery K.Pinto and Dennis P.Slevin ตัวแบบการจัดการเชิงบูรณาการของ Linn Stuckenbruck และตัวแบบการจัดการโครงการขนาดใหญ่ของ Peter W.G.Morris โดย อ.ปกรณ์ได้ประมวลปัจจัยร่วมของแต่ละตัวแบบ กับปัจจัยที่แตกต่างของแต่ละตัวแบบแต่มีความสำคัญ โดยใช้กรอบบรรทัดฐานสี่ด้านของการวัดความสำเร็จของโครงการควบคู่ไปด้วย อันได้แก่ เวลา ค่าใช้จ่าย คุณภาพ และความพึงพอใจของผู้รับบริการ ตัวแบบสิบสองปัจจัยแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

  1. ผู้จัดการโครงการและทีมงานเข้าใจภารกิจร่วมกันอย่างชัดเจน
  2. การสนับสนุนของผู้บริหารระดับสูง
  3. การจัดทำกำหนดการ
  4. การปรึกษาหารือและสร้างการยอมรับของผู้รับบริการ
  5. รู้พื้นฐาน สภาพแวดล้อมของชุมชน
  6. การจัดการทรัพยากรมนุษย์
  7. การจัดการด้านเทคนิค งบประมาณ และการบริหารสัญญา
  8. การจัดวางระบบควบคุม
  9. กำหนดระบบการสื่อสารและรายงาน
  10. การแก้ไขปัญหาที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย
  11. การแก้ไขความขัดแย้ง
  12. การอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนโครงการสู่ภาระงานประจำ

โครงสร้างการจำแนกงานโครงการ (Project or Work Breakdown Structure : WBS)

การจัดองค์กรโครงการ

เมื่อเราทราบถึงขอบข่ายงาน และได้ชุดของกิจกรรมโครงการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การจัดองค์กรโครงการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ตามความเห็นของ Goodman and Love ที่ว่า "Organizations are the ENGINE of management"

การจัดองค์กรโครงการจะต้องคำนึงถึงความคล่องตัว ความยืดหยุ่น การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการของบุคลากรโครงการ เพื่อให้ง่ายต่อการประสานงานและการสร้างโยงในสัมพันธ์ (Integration) ด้านต่างๆ ด้วย

การจัดรูปแบบองค์กรโครงการ สามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  1. การจัดองค์กรโครงการตามภาระหน้าที่ (Functional Organization) เป็นการจัดรูปแบบโดยยึดเอางานตามภาระหน้าที่ของหน่วยงานประจำเป็นฐานในการทำงานโครงการ เช่น โครงการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ก็อาจมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
    • ข้อได้เปรียบ : เนื่องจากบุคลากรโครงการเป็นบุคลากรในหน่วยงานเดียวกัน จึงมีโอกาสที่จะมีความชำนาญเฉพาะด้านใกล้เคียงกัน จึงสามารถทำงานทดแทนกันได้ และสามารถประสานงานกันได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากรโครงการได้ด้วย เนื่องจากสามารถใช้ทรัพยากรของฝ่ายประจำได้
    • ข้อควรระวัง : เนื่องจากโครงการผูกอยู่กับฝ่ายประจำทำให้มักไม่มีบุคลากรผู้รับผิดชอบโครงการโดยตรง ไม่มีผู้จัดการโครงการ บุคลากรโครงการจะต้องทำงานทั้ง 2 ด้าน คืองานประจำและงานโครงการ การใช้ทรัพยากรร่วมกับฝ่ายประจำก็อาจสร้างความขัดแย้งในการจัดสรรทรัพยากรโครงการได้ โดยเฉพาะเมื่อในหน่วยงานนั้นมีโครงการที่ต้องดำเนินการมากกว่า 1 โครงการ จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างโครงการได้
  2. การจัดองค์กรเพื่อจัดทำโครงการโดยตรง (Projectized Organization or Project Task Force) เป็นการจัดองค์กรที่แยกออกจากงานประจำอย่างชัดเจน มีการจัดสรรทรัพยากรกับบุคลากรให้กับโครงการโดยเฉพาะเจาะจง ผู้จัดการโครงการมีอำนาจควบคุมโครงการและมีอิสระสูงกว่าการจัดองค์กรรูปแบบอื่น
    • ข้อได้เปรียบ : เนื่องจากมีการจัดสรรทรัพยากรกับบุคลากรให้กับโครงการโดยเฉพาะ ทำให้ทั้งผู้จัดการโครงการและบุคลากรโครงการมีความรับผิดชอบต่อกิจกรรมโครงการโดยตรง สามารถแบ่งงาน กำหนดช่องทางการสื่อสาร ภายใต้การจัดการของผู้จัดการโครงการ และทำให้บุคลากรโครงการเกิดความผูกพันและจงรักภักดีต่อองค์กรโครงการค่อนข้างสูง
    • ข้อควรระวัง : การจัดสรรทรัพยากรให้กับแต่ละโครงการโดยตรงอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ขาดความยืดหยุ่นในการถ่ายโอนตัวบุคลากร และการถ่ายโอนความรู้กับทักษะระหว่างโครงการกับงานประจำ ความผูกพันต่อโครงการอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างโครงการ และสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมากได้แก่ ความมั่นคงในการทำงานของบุคลากร โดยเฉพาะเมื่อโครงการใกล้ยุติ
  3. การจัดองค์กรโครงการแบบผสมผสาน (Matrix Organization) เป็นรูปแบบที่ผสมผสานข้อได้เปรียบของ 2 รูปแบบแรกเข้าด้วยกัน โดยให้ผู้จัดการโครงการและผู้จัดการฝ่ายประจำทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อโครงการอย่างชัดเจน
    • ข้อได้เปรียบ : การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายโครงการกับฝ่ายประจำ ช่วยให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้จัดการโครงการยังสามารถจัดการวางแผนและควบคุมโครงการตามสภาพที่ได้รับมอบหมาย บุคลากรโครงการรับผิดชอบงานโครงการโดยตรง ง่ายต่อการประสานงาน และการถ่ายโอนความรู้และทักษะระหว่างงานโครงการกับฝ่ายประจำ ที่สำคัญสามารถช่วยสร้างความมั่นคงและความมั่นใจให้กับบุคลากรโครงการได้มากขึ้น เพราะเมื่อหมดภารกิจในโครงการแล้ว ก็สามารถกลับไปทำงานในฝ่ายประจำได้
    • ข้อควรระวัง : บุคลากรในโครงการจะต้องเผชิญกับสภาวะที่เสมือนมีเจ้านายสองคนในเวลาเดียวกัน ซึ่งหากมีการขัดแย้งระหว่างฝ่ายประจำกับฝ่ายโครงการ จะทำให้บุคลากรโครงการเกิดความลำบากในการทำงาน ต้องระวังเรื่องดุลยภาพของอำนาจหน้าที่ และการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ระหว่างฝ่ายประจำกับฝ่ายโครงการ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ง่าย
      • Goodman & Love ได้เสนอรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรโครงการแบบผสมผสาน ดังนี้
  1. ข้อพิจารณาในการตัดสินใจเลือกรูปแบบขององค์กรโครงการ
    1. ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดรูปแบบองค์กรโครงการ ทักษะของผู้จัดการโครงการและทีมงาน กับระบบการวางแผนโครงการและการรายงาน
    2. ข้อได้เปรียบและข้อจำกัดของรูปแบบองค์กรโครงการแต่ละประเภท
    3. ปัจจัยเปรียบเทียบดังต่อไปนี้