Information Richness & Communication Media

Post date: 28-Aug-2010 04:41:53

Information Richness หรืออาจแปลเป็นไทยว่า ความเข้มข้นของสารสนเทศ หมายถึง ปริมาณของสารสนเทศที่ตัวกลางในการสื่อสารสามารถจะนำสารไปส่งให้ยังผู้รับ และทำให้ผู้รับเข้าใจในสารนั้นตรงกันกับที่ผู้ส่งเข้าใจ ซึ่งความเข้มข้นของสารสนเทศนั้น ขึ้นอยู่กับตัวกลางที่ใช้นำสาร นั่นเอง

หากเราแบ่งตัวกลางในการนำสารออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การสื่อสารแบบพบปะหน้าต่อหน้า (Face-to-Face Communication) การพูดคุยผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ (Spoken communication electronically transmitted) การเขียนข้อความให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง (Personally addressed written communication) และการเขียนข้อความอย่างไม่เจาะจงให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (Impersonal written communication) เราจะพบว่า วิธีการสื่อสารแต่ละแบบจะให้ความเข้มข้นของสารสนเทศ กล่าวคือ ผู้รับจะได้รับสารอย่างถูกต้องครบถ้วนในปริมาณที่แตกต่างกันไป เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย

เมื่อเรารู้แล้วว่าวิธีการสื่อสารผ่านตัวกลางแต่ละประเภทให้ความเข้มข้นของสารสนเทศที่แตกต่าง เราจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ช่องทางในการสื่อสารอย่างเหมาะสมกับสารที่ต้องการสื่อ เช่น ต้องการสื่อสารข้อความถึงพนักงานบางคนและอยากให้เค้าเกิดความรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ จะต้องให้ผู้บริหารเดินลงไปในที่ทำงานเพื่อพูดคุยกับพนักงานคนนั้นโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้มากกว่า แต่ก็เสียเวลาของผู้บริหารมาก สำหรับบางเรื่องที่ต้องการสื่อสารข้อความให้พนักงานทั้งหมดบริษัทได้รับรู้โดยทั่วกัน ก็อาจใช้วิธีเขียนข้อความแบบไม่เฉพาะเจาะจงเป็นประกาศติดให้พนักงานทุกคนได้อ่าน ซึ่งจะทำให้พนักงานได้รับข่าวสารที่ตรงกันทั่วถึง แต่ความเข้มข้นของสารหรือการให้ความสำคัญกับข่าวสารนั้นก็จะค่อนข้างน้อยนั่นเอง