การกำหนดแนวคิดของโครงการ

Post date: 19-Oct-2010 08:59:15

โดยทั่วไปโครงการในระดับประเทศนั้นจะมาจากนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือมาจากวาระแห่งชาติ (National Agenda) หรืออาจมาจากปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนของประชาชน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำงานประจำของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในการกำหนดแนวคิดของโครงการ จึงจำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่า ปัญหาหรือความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวคืออะไร และจะต้องวิเคราะห์ต่อไปได้ว่าปัญหานั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อที่เราจะสามารถระบุได้ว่าเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นคืออะไร ซึ่งเป้าหมายนั้นจะกลายเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการ และต้องวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าจะให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ จะต้องมีวิธีการอย่างไร แนวคิดทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักอริยสัจสี่ (The Four Noble Truths) ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นั้นเอง

เครื่องมือที่ใช้ในการกำหนดแนวคิดโครงการ ได้แก่ แผนภูมิปัญหา (Problem Diagram: Causes - Effect) และแผนภูมิวัตถุประสงค์ (Objective Diagram: Means - End) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้เรามองเห็นสภาพปัญหาหรือความต้องการ และสามารถแสวงหาวิธีปฏิบัติหรือกลยุทธ์ (Strategy) ในการทำให้ปัญหาหมดไปหรือได้รับผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา

แผนภูมิปัญหา เป็นแผนภูมิที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหากับสาเหตุของปัญหา ในลักษณะของ one to many คือ หนึ่งปัญหาแต่มีหลายสาเหตุได้ (ในความจริง หนึ่งสาเหตุอาจทำให้เกิดหลายปัญหาได้เช่นกัน แต่ในการจัดทำแผนภูมิปัญหา จะทำในรูปแบบหนึ่งปัญหาหลายสาเหตุ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้นได้)

แผนภูมิวัตถุประสงค์ เป็นแผนภูมิที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย ในลักษณะของ one to many เช่นกัน คือ หนึ่งเป้าหมายแต่มีหลายวิธีการ แผนภูมิวัตถุประสงค์จะสร้างขึ้นมาคู่ขนานกับแผนภูมิปัญหา โดยเป้าหมายจะได้มาจากปัญหา (เป้าหมายคือสภาพของประเด็นปัญหาที่เราต้องการเห็นหลังจากที่มีการทำโครงการไปแล้ว) และวิธีการจะได้มาจากสาเหตุ (วิธีการจะต้องไปช่วยเปลี่ยนแปลงสาเหตุของปัญหาให้หมดไป)

หลังจากที่จัดทำแผนภูมิปัญหา และแผนภูมิวัตถุประสงค์แล้ว ลำดับถัดไปจึงนำข้อมูลที่ได้จากแผนภูมิไปใช้ในกรอบเหตุผลสัมพันธ์ (Logical Framework) ต่อไป