ทำความรู้จักกับ องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)

Post date: 07-Dec-2010 17:03:45

ความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้

Peter M. Senge ได้ให้ความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า "องค์การแห่งการเรียนรู้เป็นองค์การที่คนในองค์การได้ขยายขีดความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์การ เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่บุคคลในระดับต่างๆ ต้องการอย่างแท้จริง องค์การแห่งการเรียนรู้เป็นองค์การที่มีความคิดใหม่ๆ รวมถึงมีการแตกแขนงของความคิด และเป็นที่ซึ่งบุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในเรื่องของวิธีการที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันทั่วทั้งองค์การ"

สุจิตรา ธนานันท์ ได้สรุปความหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า "องค์การที่มีความโดดเด่นทางด้านการเรียนรู้ในระดับที่สูง เป็นการเรียนรู้อย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง และการเรียนรู้นั้นเป็นไปโดยพร้อมเพรียงกันทั้งองค์การ"

แนวคิดการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้แบบ "The Systems-Linked Organization Model" ของ Marquardt

Marquardt ได้นำเสนอองค์ประกอบหลัก 5 ประการขององค์การแห่งการเรียนรู้ ได้แก่

  1. Learning Dynamics | พลวัตรแห่งการเรียนรู้ : องค์การจะต้องให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ มีการจัดบรรยากาศในองค์การให้เอื้อต่อสมาชิกในองค์การเกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งองค์การ ประกอบกับบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ สามารถมีวิธีการส่งเสริมและเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งมีความสามารถในการคิดและปฏิบัติงานที่สลับซับซ้อนร่วมกับทีมงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
  2. Organization Transformation | การปรับเปลี่ยนองค์การ : องค์การจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสายบังคับบัญชาให้มีลักษณะแนวราบ เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกคนในองค์การ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกันในองค์การ
  3. People Empowerment | การเพิ่มอำนาจแก่บุคคล : ผู้บริหารต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ผู้สอนแนะ (Coach) และมีการทำงานร่วมกับผู้ปฏิบัติงานแบบเป็นทีม
  4. Technology Application | การใช้เทคโนโลยี : องค์การจะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการเรียนรู้ของสมาชิกทุกคในองค์การ มีการจัดตั้งทีมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งมีการจัดฝึกอบรมพนักงานให้สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. Knowledge Management | การจัดการความรู้ : องค์การจะต้องมีการจัดการกับความรู้ในองค์การ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การจัดหาความรู้ ทั้งจากภายในและภายนอกองค์การ แล้วนำมาปรับให้เกิดการสร้างสรรค์ให้สามารถใช้ได้กับองค์การ เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ นำมาถ่ายทอดและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์การต่อไป

เทคนิคที่สนับสนุนให้เกิดองค์การแห่งการเรียนรู้

  1. การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Action Learning) : หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ด้วยกันหรือการเรียนรู้จากกันและกัน เป็นการเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีกิจกรรม 4 อย่างที่ต้องทำ ได้แก่ การเรียนรู้จากประสบการณ์ การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การแสวงหาความรู้ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มสนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกัน
  2. มาตรฐานเปรียบเทียบ (Benchmarking) : คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น เน้นการเรียนรู้จากวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศในแต่ละเรื่อง และนำมาปรับให้เข้ากับสภาพขององค์การ เพื่อพัฒนาผลการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น
  3. การสอนงาน (Coaching) : เป็นวิธีการพัฒนาบุคคล โดยมีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ให้คำแนะนำและสอนงานแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อพัฒนาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสอนงานช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการปฏิบัติงานระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา
  4. การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) : เป็นวิธีการพัฒนาบุคคล โดยรุ่นพี่หรือผู้ที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความช่วยเหลือแก่รุ่นน้องหรือผู้ที่อยู่ในระดับตำแหน่งต่ำกว่า เพื่อให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานที่สูงขึ้น มีศักยภาพเลื่อนระดับชั้นเป็นผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพได้
  5. แฟ้มงานเพื่อการพัฒนา (Portfolio)
  6. ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-Learning Center)
  7. การเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer Assisted Learning & Teaching)

กลยุทธ์ในการเสริมสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้

วีระวัฒน์ ปันนิตามัย (อ้างถึงใน สุจิตรา ธนานันท์) ได้เสนอกลยุทธ์ที่สำคัญในการเสริมสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ไว้ว่า องค์การจะต้องทำให้สมาชิก "รู้จักวิธีการเรียนรู้ (Learn how to Learn)" ต้อง "สร้างความยึดมั่น ผูกพัน เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ทุกระดับ" และ "ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและให้สมาชิกคิดและทำอย่างเป็นระบบ"