แนวคิด/ทฤษฎีที่สำคัญด้านการเมืองและสังคม

Post date: 15-May-2011 17:49:17

1. ทฤษฎีระบบ ของ เดวิด อีสตัน (David Easton)

นโยบายสาธารณะ (Public Policy) คือ ผลผลิตของระบบการเมือง เมื่อระบบการเมืองได้รับปัจจัยนำเข้า คือ ความต้องการของประชาชน อาทิ ความต้องการบริการด้านการศึกษา สาธารณสุข แล้ว ระบบการเมืองจะใช้อำนาจในการตัดสินใจเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใด เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน สิ่งที่ระบบการเมืองตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำนี้ คือ นโยบายสาธารณะ นั่นเอง เมื่อนโยบายสาธารณะถูกนำไปดำเนินการแล้ว ก็จะมีผลสะท้อนกลับมาจากประชาชน โดยสะท้อนออกมาเป็นการสนับสนุนจากประชาชน ในรูปแบบของการปฏิบัติตามกฎหมาย การชำระภาษีอากร เป็นต้น

2. การเมืองกับวิถีประชา ของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

3. รูปแบบการปกครอง ของ อริสโตเติล (Aristotle)

ในการแยกแยะการเมืองที่ดีและเลวนั้น ปราชญ์เมธีชาวกรีก "อริสโตเติล" ได้นำเสนอแนวทางเปรียบเทียบรูปแบบการเมืองแบบต่างๆ โดยใช้วัตถุประสงค์ในการใช้อำนาจเป็นเกณฑ์ในการแยกแยะเปรียบเทียบ ซึ่งสามารถแบ่งวัตถุประสงค์การใช้อำนาจได้เป็น ๒ วัตถุประสงค์ ได้แก่ ใช้เพื่อส่วนตัว และใช้เพื่อส่วนรวม รูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ถือเป็นรูปแบบการปกครองที่ดี

สำหรับระบอบประชาธิปไตยนั้น อริสโตเติลเคยจัดไว้ว่าเป็นรูปแบบที่เลว ซึ่งประชาธิปไตยที่อริสโตเติลหมายถึงในเวลานั้น คือ ประชาธิปไตยทางตรงแบบของนครรัฐเอเธนส์ ซึ่งเป็นการใช้คนจำนวนมากในการปกครองเพื่อผลประโยชน์ของคนจำนวนมากนั้นเอง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ด้วยเหตุนี้จึงถูกจัดไว้ในรูปแบบที่เลว แต่รูปแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่อริสโตเติลเรียกว่า โพลิตี้ คือการปกครองโดยคนจำนวนมาก เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม อันสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

4. คุณธรรมที่สำคัญของผู้นำ ของ โสเครตีส (Socrates)

สำหรับคุณสมบัติของผู้นำทางการเมืองและนักการเมืองที่ดีนั้น ผมมีความคิดเห็นสอดคล้องกับปราชญ์เมธีชาวกรีก "โสเครตีส" ที่เห็นว่าผู้ปกครองที่ดีจะต้องมีคุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่

  1. ปัญญา ในการแยกแยะสิ่งถูกผิดดีชั่ว
  2. ความกล้าหาญ ในการกระทำสิ่งที่เห็นว่าดีแม้ว่าจะต้องเผชิญกับการต่อต้าน
  3. การควบคุมตนเอง ไม่ให้กระทำในสิ่งที่ผิด แม้ว่าสิ่งนั้นจะเย้ายวนใจไปด้วยผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
  4. ความยุติธรรม เคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ยอมกระทำชั่วต่อผู้อื่น แม้ผู้อื่นจะกระทำการอันอยุติธรรมต่อตนเองก็ตาม
  5. การทำความดีให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้เป็นแบบอย่างให้กับคนในสังคม และยกย่องคนที่ทำคุณงามความดี เพื่อเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้กับผู้ที่ทำความดีและผู้ที่ยังไม่ได้ทำให้ตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น

5. หลักการของระบอบประชาธิปไตย

การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน หมายถึง ประชาชนทั้งมวลเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นการปกครองโดยประชาชน หมายถึง ประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครอง เป็นการปกครองเพื่อประชาชน หมายถึง ตัวแทนที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครองจะต้องใช้อำนาจในการปกครองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

  1. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (Popular Sovereignty) เป็นหัวใจของระบบการเมือง กล่าวคือ ประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยการใช้สิทธิในการกำหนดตัวผู้ปกครอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง (Election Process) และการถอดถอนผู้แทนออกจากตำแหน่งทางการเมือง เมื่อประชาชนต้องการชีวิตที่ดีและมีความสุข ประชาชนก็จะใช้อำนาจอธิปไตยเลือกผู้นำทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมเพียงพอที่จะสนองตอบเป้าหมายของประชาชนให้บรรลุผล
  2. หลักเสรีภาพ (Liberty) ระบอบประชาธิปไตยจะต้องส่งเสริมและให้หลักประกันต่อการใช้เสรีภาพอย่างเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น (1) เสรีภาพทางการเมือง คือ เสรีภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้งหรือถอดถอนผู้ปกครอง เสรีภาพในการเป็นสมาชิกขององค์กรทางการเมือง เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง (2) เสรีภาพในทรัพย์สิน ประชาชนมีเสรีภาพในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย (3) เสรีภาพในการนับถือศาสนา (4) เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย (5) เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
  3. หลักความเสมอภาค (Equality) ซึ่งหมายถึง ความเสมอภาคในโอกาส สมาชิกของประชาคมการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับโอกาสที่เสมอภาคและทัดเทียมกันทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม
  4. หลักกฎหมาย (Rule of Law) ประกอบด้วย (1) กฎหมายต้องมีที่มาที่ชอบธรรม กำหนดให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย โดยให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจสูงสุด แต่ต่ำกว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน (2) การบังคับใช้กฎหมายจะต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน (3) ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
  5. หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจต่างๆ จะสะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี จะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองเสียงข้างน้อยด้วย (Minority Right) หลักเสียงข้างมากถือว่าจุดประสงค์ของการใช้เสียงเพื่อลงมติจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากเผด็จการรัฐสภาที่ใช้เสียงข้างมากเพื่อลงมติสนับสนุนผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

6. หลักการของระบอบเสรีประชาธิปไตย

  1. มีการเลือกตั้ง
  2. เปิดโอกาสในคนที่บรรลุนิติภาวะในสังคมมากที่สุดเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง (Universal Adult Suffrage)
  3. ต้องมีทางเลือกที่แท้จริง (Alternative Choices)
  4. มีอายุการครองอำนาจที่จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจใหม่
  5. ประชาชนต้องมีสิทธิพื้นฐาน สิทธิการนับถือศาสนา สิทธิการพูดอ่านเขียน แสดงออกทางความคิดเห็น สิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิการรวมกลุ่มทำกิจกรรม (ที่ไม่ผิดกฎหมาย) สิทธิในการสนับสนุนรัฐบาล สิทธิในการต่อต้านรัฐบาล (ภายใต้กรอบของกฎหมาย)
  6. ฝ่ายตุลาการต้องมีอิสระ
  7. รัฐบาลพลเรือนควบคุมทหาร

7. วัฒนธรรมทางการเมือง (Almond & Verba)

  1. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่มีความเห็น และไม่ใส่ใจต่อระบบการเมือง ไม่คิดว่าตนเองมีความจำเป็นต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง
  2. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองโดยทั่วๆ ไป แต่ไม่สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง
  3. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองเป็นอย่างดี เห็นคุณค่าและความสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ผู้ปกครองทำการปกครองเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน

8. แนวทางการพัฒนาระบบการเมือง

การพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ในเรื่องระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมทางการเมือง และการพัฒนาทางการเมือง ซึ่งจะต้องบูรณาการให้สอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีแนวทางที่สำคัญดังนี้

  1. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ตามหลักการของประชาธิปไตย 5 ประการ โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนและชัดเจน
  2. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย โดยผ่านกระบวนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ

9. การมีส่วนร่วมทางการเมือง

มีลักษณะที่สำคัญได้แก่ การมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวผู้ปกครองโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง การผลักดันการตัดสินใจของรัฐบาลโดยกลุ่มอิทธิพลและผลประโยชน์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้าน ตลอดจนการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้านรัฐบาล

10. ระบบอุปถัมภ์

เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว (Personalism) เปิดโอกาสเฉพาะกลุ่มของตัวเอง เลือกที่รักมักที่ชัง จนกลายเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องก่อน จึงขาดความเสมอภาค ความยุติธรรม และความเป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่องการจงรักภักดี ทำให้สังคมไทยไม่สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมออกจากกันได้ ไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม (Public Interests) หรืออาจเรียกได้ว่า ขาดจิตสาธารณะ (Public Mind / Public Spirit) และขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Responsibility) ไม่พร้อมให้สาธารณะตรวจสอบ (Public Accountability) เนื่องจากทำงานเพื่อนายหรือเพื่อตัวเองเพื่อครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม

11. การคอรัปชั่น

หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้ได้รับประโยชน์ของตัวเองและ/หรือพวกพ้อง แบ่งเป็น Petty Corruption และ Grand Corruption คอรัปชั่นประกอบไปด้วย supply side และ demand side เป็นการสมยอมกันทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์แก่กันและกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะเป็นการรบกวนระบบ เป็นการเพิ่มต้นทุนที่ไม่เป็นธรรมให้กับสังคม กระทบกับคนในส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนจนซึ่งมักไม่มีทางเลือกของสังคม คอรัปชั่นมีแบ่งเป็น In Cash / In Kind ซึ่ง Klitgaard ตั้งสมการว่า C = M + D –A โดยที่ C = Corruption, M = Monopoly, D = Discretion, A = Accountability หมายถึง คอรัปชั่นจะมากขึ้นถ้ากฎระเบียบไม่ชัดเจน ไม่มีการตรวจสอบที่ดี อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ดุลพินิจสูง