การมาถึงของสังคมข่าวสารกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

Post date: 01-Sep-2010 07:55:29

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมข่าวสาร หรือ สังคมคลื่นลูกที่สาม ตามแนวคิดของ Alvin Toffler เรียบร้อยแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม การเปลี่ยนแปลงจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมข่าวสารได้นำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มามากมาย ในบทความนี้จะขอนำเสนอความเปลี่ยนแปลงใน 4 เรื่อง ได้แก่ การจัดการ องค์การ ผู้บริหารหรือผู้นำ และการเมือง ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดการ จากการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการบริหารจัดการขององค์การ จากเดิมที่เคยเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) การบริหารจัดการเป็นแบบอำมาตยธิปไตย (จากสูงลงมาหาต่ำ) เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจ (Decentralization) มากขึ้น มีลำดับชั้นในการบริหารจัดการน้อยลง จัดรูปแบบองค์การให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้มีอิสระในการตัดสินใจ สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที
  2. การเปลี่ยนแปลงในด้านองค์การ รูปแบบขององค์การจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการที่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญเปลี่ยนแปลง ในยุคอุตสาหกรรม ปัจจัยการผลิตที่สำคัญได้แก่ เงินทุน เครื่องจักร ที่ดิน และคน องค์การที่มีขนาดใหญ่กว่าก็มักจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงกว่า ในขณะที่เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมข่าวสาร ปัจจัยการผลิตที่สำคัญได้แก่ ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ขีดความสามารถในการแข่งขันจึงไม่ได้วัดกันที่ขนาด แต่วัดกันที่องค์การใดมีสารสนเทศ มีความรู้มากกว่ากัน ขนาดขององค์กรจึงมีแนวโน้มที่จะเล็กลง เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ การทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน พนักงานไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมอยู่ในที่เดียวกันเพื่อทำงานร่วมกัน แต่สามารถนั่งทำงานจากที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้และติดต่อสื่อสารกันผ่านทางเครือข่ายโทรคมนาคม จนเกิดเป็นรูปแบบขององค์การสมัยใหม่ขึ้น อาทิ Virtual Organization หรือ องค์การเสมือนจริง เป็นต้น
  3. การเปลี่ยนแปลงในด้านผู้บริหารหรือผู้นำ ผู้บริหารหรือผู้นำในสังคมข่าวสารจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิดมุมมองในการบริหารจัดการไปจากเดิม แนวคิดมุมมองเหล่านี้ ได้แก่
    • เปลี่ยนจากการ มองธุรกิจเป็นสนามรบ เป็น มองธุรกิจเป็นระบบนิเวศน์
    • เปลี่ยนจากการ มองบรรษัทเป็นเครื่องจักรเครื่องกล เป็น มองบรรษัทเป็นชุมชน
    • เปลี่ยนจากการ มองการจัดการว่าเป็นการควบคุม เป็น มองการจัดการว่าเป็นการให้บริการ
    • เปลี่ยนจากการ มองพนักงานเป็นเด็กๆ เป็น มองพนักงานเป็นเพื่อนร่วมงาน
    • เปลี่ยนจากการ สร้างแรงจูงใจด้วยความกลัว เป็น สร้างแรงจูงใจด้วยวิสัยทัศน์
    • เปลี่ยนจากการ มองความเปลี่ยนแปลงเป็นความเจ็บปวด เป็น มองการเปลี่ยนแปลงเป็นความเจริญเติบโต
  4. การเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง ในด้านการเมืองนั้น สังคมข่าวสารจะเปลี่ยนรูปแบบการเมืองจากเดิมที่เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีผู้แทนเป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชน เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ประชาชนคนธรรมดาทุกคนเป็นผู้แทนของตัวเอง สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ได้ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ในอดีตที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น ข้อจำกัดด้านระยะทาง ด้านเวลา ด้านงบประมาณ ด้านการรับรู้ข่าวสาร ถูกทำให้หมดไปด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น