Creative Economy # 2: ทำไมต้อง..เศรษฐกิจสร้างสรรค์

Post date: 30-Nov-2010 10:48:03

ในการประชุมประจำปี 2551 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ปี 2570” ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในปี 2570 ไว้ว่า “คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีมิตรไมตรีบนวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง ยึดมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึง มีคุณภาพ สังคมมีความปลอดภัยและมั่นคง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ระบบการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองและแข่งขันในเวทีโลก สามารถอยู่ในประชาคมภูมิภาคและโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ต่อมาในการประชุมประจำปี 2552 ของ สศช. เรื่อง “จากวิสัยทัศน์ 2570..สู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11” ได้พูดถึงบริบทของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอันใกล้จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของสังคมโลก พร้อมทั้งได้นำเสนอทางออกสำหรับการพัฒนาประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจ และหนึ่งในนั้น ก็คือ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจากเดิมให้กลายเป็น “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”

ในรายงานสรุปผลการประจำปี 2552 ได้ระบุถึงสาเหตุที่ประเทศไทยควรจะก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ โดยสรุปดังนี้

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ในช่วง 20 ปีข้างหน้า จะเกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจมาอยู่ที่แถบเอเชียมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินโลกซึ่งจะมีความผันผวนและความเสี่ยงมากขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างประเทศ จะเป็นตัวที่ทำให้ผลกระทบต่างๆ ทางด้านการเงินจากแต่ละประเทศจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างมากมาย ปัญหาในระยะสั้นที่สำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ตกต่ำอย่างรุนแรง จนภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อปริมาณหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นเงาตามตัว จนอาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในระยะยาว

ผลกระทบที่เกิดกับประเทศไทยจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา ได้สะท้อนโครงสร้างภาคเศรษฐกิจไทยว่ามีความเปราะบาง เนื่องจากต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกประเทศในสัดส่วนที่สูง จึงน่าจะเป็นเวลาที่ประเทศไทยจะได้หันกลับมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณค่า/สร้างมูลค่าให้กับสินค้ากลุ่มที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว รวมถึงการมุ่งเน้นส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ/มีความสามารถหลัก (Core Competency) นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างเพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันแบบเดิมๆ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” จึงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาด้วยการเจริญเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานของความได้เปรียบที่แท้จริงของประเทศได้ในที่สุด

การปรับเปลี่ยนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ จากยุคที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยความรู้และความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในหลายประการ ในด้านรายได้ ประเทศที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วมักเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เป็นต้น ในด้านการกระจายความมั่งคั่ง จะเห็นโอกาสของธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระในยุคโลกาภิวัฒน์ที่พัฒนาสินค้าและบริการของตนเองด้วยความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมโยงกับตลาดโลกได้โดยตรงมีมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจจะดูเหมือนไม่บรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจในด้านการมีเสถียรภาพ เนื่องจากราคาสินค้าสร้างสรรค์ในหลายประเภทมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วตามกระแสแฟชั่น แต่ในด้านความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจก็ยังน้อยกว่าการเจริญเติบโตที่พึ่งแต่สาขาเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศและความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติเท่านั้น

และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยจึงควรมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์