โครงสร้างหลวม (Loose Structure) รูปแบบทางสังคมของไทย

Post date: 05-Nov-2010 08:58:49

คำว่า "โครงสร้างหลวม" เป็นผลงานวิจัยของนักวิชาการที่ชื่อว่า John F.Embree ซึ่งได้มาศึกษารูปแบบทางสังคมของไทย โดยดูจากพฤติกรรมต่างๆ ความคิดเห็น ค่านิยม ฯลฯ โดยสรุปรูปแบบทางสังคมของไทยที่เรียกว่าโครงสร้างหลวม มีลักษณะดังนี้

  1. เป็นสังคมที่มีปัจเจกชนนิยมสูง (Individualism) รักอิสระ ทำอะไรตามใจตัวเอง ซึ่งน่าจะเกิดจากกระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ที่ไม่มีการบังคับ และศาสนาที่เชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ก้าวก่ายกัน ต่างกับญี่ปุ่นที่เป็นโครงสร้างกระชับ ปัจเจกชนไม่มีอิทธิพลมากเท่ากับชุมชน เช่น การซื้อที่ดินในชนบทสำหรับญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้ขายจะตัดสินใจได้เลยต้องให้กรรมการหมู่บ้านช่วยกันตัดสินใจว่าจะรับคนใหม่เข้ามาอยู่ในชุมชนหรือไม่
  2. ไม่ชอบถูกผูกมัดในระยะยาว (Long-term obligation) แต่จะถนัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องเฉพาะกิจ ไม่ชอบวางแผนระยะยาว ถ้าปัญหายังไม่เกิดจะไม่หาทางป้องกัน แต่รอปัญหาเกิดแล้วค่อยหาทางแก้
  3. มีความยืดหยุ่นสูง (Flexibility) คนไทยปรับตัวง่าย ไม่ยึดอะไรตายตัว ตรงข้ามกับฝรั่งที่มีความเข้มงวดกวดขันสูง (Rigidity)
  4. เข้าใจกฎระเบียบและกติกาทางสังคม แต่มีการละเมิดบ่อย และผู้ที่ละเมิดกฎกติกาทางสังคมไม่ค่อยถูกสังคมลงโทษ (Low social sanction)

จากผลการศึกษานี้ยังพบว่า การที่รูปแบบทางสังคมไทยเป็นแบบโครงสร้างหลวม มีจุดแข็ง/ข้อดี คือ

  1. ทำให้สังคมอยู่รอดได้ดี (Survival value) ความยืดหยุ่นทำให้รักษาเอกราชไว้ได้
  2. มีบูรณาการทางสังคมสูง (High social integration) เนื่องจากมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งคนจนคนรวย คนเมืองคนชนบท ชาติพันธุ์ ศาสนา การศึกษา แต่ไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยกที่ชัดเจน แตกต่างแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้ต่างชาติเกิดความสนใจในประเทศไทย ว่าเป็นสังคมที่น่าอยู่

นอกจากผลงานวิจัยของ John F.Embree ที่พบว่ารูปแบบทางสังคมไทยเป็นแบบโครงสร้างหลวมแล้ว ยังมีผลงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ผลงานวิจัยของนักวิชาการที่ชื่อว่า Herbert Phillips ซึ่งพบว่า บุคลิกภาพของคนไทยมีลักษณะดังนี้

  1. ชอบปฏิสัมพันธ์กัน Take pleasure in social interaction
  2. ชอบ Social Harmony ความราบรื่นกลมกลืนทางสังคม
  3. หลีกเลี่ยงการขัดแย้งต่อหน้า avoid face-to-face conflict/confrontation
  4. ใส่หน้ากากเข้าหากัน social cosmetics ใช้เสียงหัวเราะขจัดความขัดแย้ง
  5. ปัจเจกชนนิยม Individualism แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ มีความเป็นเอกลักษณ์ทางจิต Psychic Independence อยู่รวมกันแต่ไม่ถูกกลุ่มกลืน
  6. รักสนุก ใช้กลไกของความสนุกมาเชื่อมสัมพันธภาพของคนในองค์กร
  7. มีความอดทนต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลสูง Torelance