Creative Economy # 3: ประเทศไทย...กับความพร้อมในการก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

Post date: 17-Dec-2010 03:56:36

เช่นเดียวกับคำนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการนำกรอบแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปใช้งานในแต่ละประเทศและแต่ละองค์การ ขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็มีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการนำกรอบแนวคิดไปใช้งานเช่นเดียวกัน ในส่วนของประเทศไทยนั้น สศช. ได้ยึดเอารูปแบบการจัดประเภทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขององค์การความร่วมมือเพื่อการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) มาเป็นกรอบหลักและพัฒนาเพิ่มเติมโดยใช้รูปแบบขององค์การยูเนสโก (UNESCO) มาประกอบ ทำให้สามารถกำหนดขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยได้เป็น 4 กลุ่มหลัก 15 สาขาย่อย ดังนี้

ภาพแสดงขอบเขตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย

ต่อคำถามที่ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมขนาดไหนในการจะก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หากพิจารณาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย น่าจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะทางศิลปะ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาผ่านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยเหตุนี้แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์กันในระดับยุทธศาสตร์ของประเทศ แต่กลับพบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10-11 ของจีดีพี (ข้อมูลระหว่างปี 2545-2549) โดยกลุ่มงานสร้างสรรค์และออกแบบ กลุ่มมรดกทางวัฒนธรรม และกลุ่มสื่อ เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด

ผศ.เสาวรภย์ กุสุมา ณ อยุธยา ได้ระบุจุดแข็งของประเทศไทยที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้หลายประการ ครอบคลุมทั้งมิติด้านประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถสืบทอดเป็นมรดกโลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย ความประณีตละเอียดในการสร้างสรรค์ผลงานที่ใช้ฝีมือจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับโลก การมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลากหลาย ตลอดจนการมีต้นทุนและค่าครองชีพที่ต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในระดับเดียวกันซึ่งทำให้สามารถใช้เวลา ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคลเพื่อการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงความพร้อมด้านการสนับสนุนจากรัฐบาล ก็จะพบว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นกัน โดยได้ระบุอย่างชัดเจนเอาไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ในหัวข้อ 4.2.3.1 ว่า “ขยายฐานบริการในโครงสร้างการผลิตของประเทศ และเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการ อุตสาหกรรม และเกษตรเข้าด้วยกันให้เป็นกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจสุขภาพ อาหารและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าบริการที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สรุปนัยสำคัญของนโยบายนี้ ไว้ว่า “นัยสำคัญของนโยบาย คือ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย เข้ากับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” นอกจากนี้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2) ก็ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ข้อหนึ่งว่า “เพื่อสร้างฐานรายได้ที่ทันสมัยของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” โดยมีการระบุ “แผนงานพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” เอาไว้ด้วย

จากองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เราเห็นว่า ประเทศไทยจัดได้ว่ามีความพร้อมและความเหมาะสมในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

อย่างไรก็ดีประเทศไทยก็ยังขาดความพร้อมในบางด้านซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นกัน อาทิ ประเทศไทยยังขาดระบบสารสนเทศที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติเพื่อใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การขาดการบูรณาการและความต่อเนื่องของนโยบายการพัฒนา ขาดกลไกการขับเคลื่อนและการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขาดการสนับสนุนทางการเงินของสถาบันทางการเงิน ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขาดการบริหารจัดการความรู้สำหรับภูมิปัญญาของไทย โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม และขาดระบบมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์