คุณสมบัติของนักวิเคราะห์นโยบายที่ดี

Post date: 18-Feb-2011 13:53:40

นักวิเคราะห์นโยบาย นับได้ว่าเป็นตัวจักรสำคัญ ในการผลิตทางเลือกนโยบายที่ดีและเหมาะสม สามารถนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับสาธารณะได้จริง นักวิเคราะห์นโยบายที่ดีจึงควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. คุณสมบัติเชิงทักษะ
    • สามารถมองเห็นปัญหา และระบุปัญหาได้อย่างถูกต้อง
    • สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและจัดระเบียบข้อมูลได้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะชี้แจงให้กับสังคมได้
    • สามารถสื่อสารทางเลือกนโยบายไปยังผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ได้
    • สามารถทำการวิเคราะห์ทางการเงินได้ สามารถบอกได้ว่าทางเลือกนโยบายนั้น มีความคุ้มค่าทางการเงินหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาทางเลือกนโยบายสาธารณะนั้นจะต้องเข้าใจว่า ผลตอบแทนการลงทุนไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด บางทางเลือกอาจดูเหมือนว่าไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน แต่รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
    • สามารถทำการวิเคราะห์ทางการเมืองได้ สามารถบอกได้ว่าผลของการเลือกทางเลือกนโยบายจะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างไร เช่น ทำแล้วจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหรือไม่ ทำแล้วจะเกิดการต่อต้านจากกลุ่มอิทธิพลหรือไม่ เป็นต้น
    • สามารถทำการวิเคราะห์ในแง่ของกฎหมายได้ นโยบายสาธารณะจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะกับกฎหมายสูงสุดซึ่งเป็นที่มาของอำนาจทางการเมือง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ สำหรับในกรณีที่พบว่า ทางเลือกนโยบายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการปรับแก้กฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ จะต้องพิจารณาโดยดูจากผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interests) เป็นหลัก กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งในทางที่ถูกและผิด ในทางที่ถูก อาจเกิดขึ้นเนื่องจากกฎหมายบางอย่างมีความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในทางที่ผิด อาจเกิดขึ้นจากเจตนาของนักการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ที่มักเรียกกันว่าทุจริตเชิงนโยบายก็เป็นได้
    • สามารถทำการวิเคราะห์ในแง่ของจริยธรรมได้ นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว นโยบายสาธารณะยังไม่ควรจะผิดต่อจริยธรรมที่ดีของสังคมด้วย เนื่องจากนโยบายสาธารณะถือเป็นการกำหนดมาตรฐานให้กับสังคม การเลือกดำเนินการในนโยบายสาธารณะที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีของสังคมต้องเสื่อมสูญไป อาทิ การออกกฎหมายอนุญาตให้ทำแทงค์เสรี ซึ่งขัดกับจริยธรรมทางสังคมของคนไทย หรือการอนุญาตให้เปิดบ่อนเสรี ก็จะเป็นเสมือนการสนับสนุนให้คนเล่นการพนัน เป็นต้น
  2. คุณสมบัติเชิงจริยธรรมของนักวิเคราะห์นโยบาย
    • เลือกข้อมูลที่เหมาะสม และใช้ข้อมูลที่รอบด้าน โดยไม่ตั้งเป้าไว้ก่อนวิเคราะห์ว่าต้องการให้ผลออกมาอย่างไร
    • รับผิดชอบต่อลูกค้า (ผู้ที่ว่าจ้างให้ทำการวิเคราะห์นโยบาย) โดยการบอกข้อด้อยของงานของเรา เช่น ข้อมูลเก่า เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายต้องรับผิดชอบในการนำเสนอนโยบายต่อสาธารณะ
    • ผู้วิเคราะห์นโยบายต้องชัดเจนก่อนว่า สังคมที่ดี ของตัวเองคืออะไร สังคมที่ดี ของประชาชนชาวไทยคืออะไร เนื่องจากนโยบายสาธารณะคือเครื่องมือในการนำประเทศไปสู่สังคมที่ดี หากผู้วิเคราะห์ไม่ชัดเจนในคำว่า สังคมที่ดี ก็จะทำให้วิเคราะห์ได้ไม่ถูกต้อง สังคมที่ดีคือเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายไม่ชัดเจน นโยบายก็จะสะเปะสะปะไม่สามารถนำสังคมไปสู่สังคมที่ดีได้ สังคมจึงต้องร่วมกันกำหนดคำว่า สังคมที่ดี ให้ชัดเจนก่อน เมื่อชัดเจนแล้วไม่ว่าใครเข้ามาบริหารประเทศก็จะมีทิศทางในการเดินไปชัดเจนและต่อเนื่อง
  3. บทบาทของนักวิเคราะห์นโยบาย สามารถแบ่งได้เป็น 3 บทบาท แบ่งตามความถนัดในเรื่องที่ทำการวิเคราะห์ และกลุ่มที่นักวิเคราะห์สังกัด ซึ่งนักวิเคราะห์นโยบายแต่ละคนจะต้องเลือกที่จะเล่นในบทบาทใดบทบาทหนึ่ง ได้แก่
    • กลุ่มที่หนึ่ง นักวิเคราะห์นโยบายที่มองการวิเคราะห์นโยบายเป็นเรื่องทางเทคนิควิธีการ สามารถวิเคราะห์นโยบายเรื่องใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างว่าต้องการให้วิเคราะห์นโยบายเรื่องใด
    • กลุ่มที่สอง นักวิเคราะห์นโยบายที่เลือกสังกัดใดสังกัดหนึ่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายที่สังกัดพรรคการเมือง ก็จะทำการวิเคราะห์นโยบายเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
    • กลุ่มที่สาม นักวิเคราะห์นโยบายที่เลือกสนใจในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง มีความเชี่ยวชาญชำนาญในนโยบายนั้นๆ