Creative Economy # 4: แนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

Post date: 17-Dec-2010 04:01:14

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ได้นำเสนอแนวทางในการวางนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วงต่อไป โดยมุ่งเน้นให้ภาครัฐทำหน้าที่เป็น “ผู้สนับสนุน” โดยการปรับปรุงกลไกและการสร้างสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจสร้างสรรค์ และอีกบทบาทหนึ่งได้แก่การเป็น “ผู้ส่งเสริม” เพื่อให้เกิดกรณีตัวอย่างซึ่งจะก่อให้เกิดการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration effect) โดยอาจเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตเฉพาะราย แต่มีเป้าหมายถึงประโยชน์ส่วนรวม สำหรับแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ดังนี้

ภาพแสดงองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เรียบเรียงจากแนวคิดของ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ

องค์ประกอบที่ 1 Creative Generation ได้แก่ การพัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งในการนี้จะต้องทำควบคู่กันไประหว่างการปรับระบบการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ พร้อมทั้งสร้างกลไกและการสนับสนุนที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์นั้นสามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้

องค์ประกอบที่ 2 Creative Industry ได้แก่ การส่งเสริมธุรกิจรายสาขา เน้นเฉพาะสาขาที่มีโอกาสจะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ โดยจะต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาเป็นโครงการเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ

องค์ประกอบที่ 3 Creative Space ได้แก่ การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยสร้างชุมชนของธุรกิจสร้างสรรค์ หรือพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านความคิดสร้างสรรค์ประจำภูมิภาค

องค์ประกอบที่ 4 Creative Cooperation ได้แก่ การผลักดันให้มีการวางแผนอย่างบูรณาการและการดำเนินการอย่างมีเอกภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเชิญชวนให้บุคลากรในวงการสร้างสรรค์ให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ

โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวนี้เป็นอย่างยิ่ง องค์ประกอบทั้ง 4 ประการเป็นองค์ประกอบที่ครบถ้วนและควรที่จะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี เพื่อให้โมเดลที่นำเสนอข้างต้นสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ควรจะมีการเพิ่มองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งเข้าไปด้วย ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวถือเป็นฐานรากของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นั่นคือ

"การจัดการความรู้เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Knowledge Management)"

ซึ่งหมายรวมถึงองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยทุกประเภท อาทิ วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งเอกลักษณ์เหล่านี้จะเป็นเสมือนทรัพยากรหรือปัจจัยนำเข้าของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมีคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการได้ จากแนวคิดดังกล่าว ผมจึงขอนำเสนอโมเดลเพื่ออธิบายองค์ประกอบของการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ดังนี้

ภาพแสดงองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(เพิ่มเติมองค์ประกอบด้านการจัดการความรู้เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์)