ระบบอุปถัมภ์

Post date: 05-Nov-2010 08:56:40

แม้ว่าโดยทางนิตินัยแล้ว การเข้ารับราชการในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้หลักคุณธรรม คือ การสอบแข่งขันโดยข้อสอบกลาง วัดที่ความรู้ความสามารถ แต่ในทางปฏิบัติการนำหลักคุณธรรมมาใช้ยังไม่สำเร็จในกระบวนการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งยังได้รับอิทธิพลจากระบบอุปถัมภ์อยู่ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงระบบอุปถัมภ์ถูกยกเลิกในเชิงกฎหมายไปแล้วตั้งแต่สมัย ร.5 การจะมองว่าทำไมระบบอุปถัมภ์ยังมีอิทธิพลอยู่ได้ เราจะต้องมองย้อนกลับไปมองที่ในอดีตที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์

ในอดีตโครงสร้างสังคมไทย เป็นสังคมศักดินา แบ่งคนเป็น 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นนาย และชนชั้นไพร่

  1. ชนชั้นนาย แบ่งเป็น เจ้านายและขุนนาง เจ้านาย ได้แก่ เชื้อพระวงศ์ เริ่มตั้งแต่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ซึ่งได้รับศักดิ์ตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถเปลี่ยนได้ (Ascriptive Status สถานะที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับวรรณะ และเพศ และเป็นระบบปิดที่คนนอกไม่สามารถเข้าไปได้) ส่วนขุนนาง ได้แก่ คนธรรมดาที่ถวายตัวเข้ารับราชการ สามารถเพิ่มศักดิ์ขึ้นไปได้ ตั้งแต่ ขุน หลวง พระ พระยา เจ้าพระยา และสมเด็จเจ้าพระยา คนที่ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงจึงมีอำนาจบารมีมาก สามารถอุปถัมภ์ผู้น้อยได้
  2. ชนชั้นไพร่ แบ่งเป็น ไพร่หลวงและไพร่สม ไพร่หลวง คือ คนทั่วไปที่ทำงานให้หลวง สังกัดกษัตริย์ ไม่สังกัดเจ้านายใดเจ้านายหนึ่ง ถูกเกณฑ์แรงงานให้รับใช้หลวงแบบไม่มีค่าตอบแทน คนจึงไม่อยากเป็นไพร่หลวงเพราะไม่สามารถทำอะไรให้กับครอบครัวตัวเองได้ งานส่วนใหญ่คือ การถางป่า ที่ต้องเจอทั้งสัตว์ร้าย ไข้ป่า ผีสาง จึงมีความเสี่ยงต่อชีวิต ทางเดียวที่หนีได้ คือ บวชเป็นพระอย่างน้อยหนึ่งพรรษาต่อปี หรือหนีออกจากอำนาจรัฐโดยหนีเข้าป่า หรือไปเป็นไพร่สม ไพร่หลวงจะเปลี่ยนเป็นไพร่สมได้ต่อเมื่อมีเจ้านายหรือขุนนางอุปถัมภ์ ซึ่งจะต้องมีพิธีการรับอุปถัมภ์ (พิธีถวายตัวรับอุปถัมภ์/พิธีมอบตัวรับอุปถัมภ์) อย่างเป็นทางการ ไพร่คนหนึ่งจึงมีนายได้แค่คนเดียว มีหน้าที่รับใช้นาย ไม่ต้องรับใช้หลวง แต่ไพร่ธรรมดาที่ยากจนไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดชนชั้นนายจึงไม่มีโอกาสได้เป็นไพร่สม ต้องเป็นไพร่ที่มีฐานะระดับหนึ่ง จึงจะขอรับการอุปถัมภ์ได้ เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน (Exchange Relationship) โดยสิ่งที่ผู้อุปถัมภ์ให้กับผู้รับอุปถัมภ์ ได้แก่ ยกเว้นเกณฑ์แรงงาน ปกป้องและคุ้มครองสวัสดิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ไพร่ทะเลาะกันก็ดูว่าใครเป็นนาย และยังให้โอกาสเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม โดยการพาไพร่ที่รักชอบไปถวายตัวรับราชการ สมัยนั้นหลวงจะไม่รับคนจากการแข่งขันหรือรับสมัคร แต่เป็นการแนะนำจากชนชั้นนายที่จะพาไปถวายตัวเท่านั้น (ยกเว้นในช่วงสงคราม) ดังนั้นชนชั้นนายจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม ไพร่สมจึงต้องพยายามแข่งขันกันเอาใจนาย ทั้งจากการทำงานหรือจากการถวายลูกสาวหลานสาวให้เจ้านาย เพื่อให้เจ้านายพึงพอใจ ผู้หญิงกลายเป็นเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธภาพระหว่างนายกับไพร่ หรือแม้กระทั่งนายกับนาย จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหรือเป็นพันธนาการจากอดีตของคนไทย สิ่งที่ผู้รับอุปถัมภ์ให้กับผู้อุปถัมภ์ ได้แก่ ความจงรักภักดี (ยิ่งมีคนจงรักภักดีมากก็ถือว่ายิ่งมีบารมีมาก) ให้แรงงาน หรือทรัพยากรอื่นๆ เช่น ข้าว เงิน นอกจากนี้ยังเป็นกำลังพล (ซึ่งเป็นเสมือนกองกำลังส่วนตัว) เสริมสร้างเกียรติศักดิ์ศรีบารมีของนาย (เป็นบริวารที่ห้อมล้อม ยิ่งมากยิ่งดี)

เอกลักษณ์ของคำว่า อุปถัมภ์ ในระบบอุปถัมภ์ คือ เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ถ้าหากเป็นการให้ฝ่ายเดียว เช่น พระมีโยมอุปถัมภ์ พ่อแม่อุปถัมภ์ลูก ไม่ถือเป็นระบบอุปถัมภ์

สาเหตุที่ระบบอุปถัมภ์ไม่ได้รับการยอมรับและถูกยกเลิกไปนั้น เนื่องจากระบบอุปถัมภ์เป็นระบบที่มีข้อเสียซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมค่านิยมของสังคมที่ไม่ดีหลายประการ อาทิ

  • ระบบอุปถัมภ์ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแนวตั้ง (แนวดิ่ง – Vertical Affiliation) เกิดการอุปถัมภ์กันเป็นชั้นๆ เป็นสายๆ แต่ระหว่างสายไม่จำเป็นต้องผูกพันกัน คนไทยจึงไม่ค่อยมีความผูกพันในแนวราบ (Horizontal Affiliation) ทำให้เกิดความสับสนในการบริหารจัดการ ไม่มั่นคงถาวร เนื่องจากขึ้นอยู่กับนายสูงสุดคนเดียว หากปราศจากนายก็อาจเกิดปัญหาขัดแย้งกันได้ทันทีเพื่อแย่งกันเป็นใหญ่ พอไม่มีความผูกพันในแนวราบ คนไทยจึงไม่ค่อยเกิดการรวมกลุ่ม จึงไม่มีอำนาจต่อรองถ่วงดุลกับภาครัฐได้เลย ในขณะที่หากเป็นสังคมที่เกิดจากความผูกพันในแนวราบ ก็จะมีการคัดเลือกคนที่เป็นผู้นำขึ้นไปเป็นระดับ ดังนั้นหากหัวหาย ก็ไม่กระทบกับโครงสร้างหลักเนื่องจากฐานเข้มแข็ง
  • ระบบอุปถัมภ์ จะเน้นความสัมพันธ์ส่วนตัว (Personalism) เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องก่อน โดยเฉพาะเรื่องการจงรักภักดี ทำให้สังคมไทยไม่สามารถแยกแยะเรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมออกจากกันได้ ไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ส่วนรวม (Public Interests) หรืออาจเรียกได้ว่า ขาดจิตสาธารณะ (Public Mind / Public Spirit) และขาดความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Responsibility) ไม่พร้อมให้สาธารณะตรวจสอบ (Public Accountability) เนื่องจากทำงานเพื่อนายหรือเพื่อตัวเองเพื่อครอบครัว ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม เช่น เรื่องการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรแบบ Non-renewal energy หากบอกให้ประหยัดเพื่อลูกหลานในอนาคต คนไทยมักไม่เข้าใจ แต่ถ้าหากให้ประหยัดไฟเพื่อลดค่าไฟ จะเห็นด้วยและยินดีทำ
  • ระบบอุปถัมภ์ เปิดโอกาสเฉพาะกลุ่มของตัวเอง เลือกที่รักมักที่ชัง จึงขาดความเสมอภาค ความยุติธรรม และความเป็นธรรม (ขาด Level playing field) โดยเฉพาะในยุคที่มีกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้ามาครอบคลุมถึงปัจเจกบุคคล นอกจากนี้การมองเห็นแต่ประโยชน์ของกลุ่ม ทำให้มองไม่เห็นประโยชน์ในภาพใหญ่ภาพรวม

ในความเป็นจริงควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมสิ่งดีต้องคงไว้ สิ่งแย่ต้องปรับออก สิ่งดีที่ควรคงไว้ ได้แก่ ความเอื้ออาทร คือ ช่วยเหลือกันและกันอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง