การวิเคราะห์นโยบาย (Policy Analysis)

Post date: 18-Feb-2011 12:21:01

การวิเคราะห์นโยบาย (Policy Analysis) เป็นกระบวนการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ทางเลือกของนโยบายที่สามารถนำมาดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาได้ เมื่อได้ทางเลือกของนโยบายมาจำนวนหนึ่งแล้ว จึงใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจ เช่น ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด และเมื่อได้ทางเลือกที่ดีที่สุดมาจำนวนหนึ่ง จึงส่งทางเลือกนโยบายเหล่านั้นไปยังผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสำหรับการแก้ไขปัญหานั้นๆ เช่น ปัญหาระดับประเทศต้องส่งให้ รมต.ที่รับผิดชอบ ปัญหาระดับจังหวัดต้องส่งให้ผู้ว่าฯ ปัญหาในเทศบาลอาจส่งให้นายกเทศมนตรี เพื่อนำไปพิจารณาต่อไป

ในการจะวิเคราะห์นโยบายได้นั้น จำเป็นที่เราจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเพื่อให้สามารถทราบปัญหาหรือความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ข้อมูลเหล่านี้อาจมาจากงานวิจัยภายในประเทศ งานวิจัยของต่างประเทศ หรืออาจต้องมีการทำการวิจัยใหม่ก็ได้ แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้มาสังเคราะห์ เพื่อใช้ในการทำนายผลที่จะตามมาจากการเลือกดำเนินการในแต่ละนโยบาย อย่างไรก็ดี เราไม่อาจมองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ การทำนายจึงให้ความแม่นยำเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

เนื่องจากนโยบายสาธารณะ มักมีเรื่องกำหนดเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ เงื่อนเวลาที่มาจากความต้องการสร้างผลงานของนักการเมือง หรือ เงื่อนเวลาที่เกิดจากความเร่งด่วนของสถานการณ์ เช่น เหตุการณ์สึนามิ และอุทกภัยต่างๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การวิเคราะห์นโยบายจึงจำเป็นที่จะต้องทันการณ์ มีกำหนดเวลาในการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน การวิเคราะห์นโยบายให้มีความสมบูรณ์จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

นอกจากนี้ภายใต้ปัญหาเรื่องหนึ่ง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละกลุ่มก็อาจมองปัญหาเหล่านั้นในมุมที่แตกต่างกัน หรือให้ลำดับความสำคัญที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองที่แต่ละกลุ่มเลือกใช้มองปัญหา หรืออาจมาจากความแตกต่างของความเชื่อของคนในแต่ละกลุ่ม เช่น กรณีเบียร์ช้างจะเข้าตลาดหุ้น บางคนอาจมองว่าไม่สมควรเพราะเป็นธุรกิจน้ำเมา ในขณะที่บางคนบอกว่าสมควรเพราะถ้าไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศจะเป็นการนำเงินออกนอกประเทศ เป็นต้น

ขั้นตอนในการวิเคราะห์นโยบาย ประกอบไปด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้

  1. มองเห็นปัญหา และนิยามว่าปัญหานั้นคืออะไร ในขั้นตอนนี้ควรที่จะมองไปยังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ดูว่ามีอะไรที่มีน้อยเกินไป (deficits) มีอะไรที่มีมากเกินไป (excesses) ซึ่งปัญหาที่เราระบุนั้นจะต้องสามารถประเมินค่าได้ และยิ่งถ้าประเมินเป็นเชิงปริมาณได้จะยิ่งดี
  2. การหาข้อมูล (evidence) ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ทราบว่าข้อมูลใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และสามารถสะท้อนปัญหานั้นได้อย่างชัดเจน การจะเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นจะต้องทำอย่างไร แหล่งข้อมูลอยู่ที่ไหน แล้วจึงรีบดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรวดเร็วและครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  3. สร้างทางเลือกของนโยบาย ในขั้นตอนนี้เราจะเริ่มคิดถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมดที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เราระบุขึ้นมา แล้วจึงทำการลดทางเลือกที่ดูแล้วไม่น่าสนใจออกไปส่วนหนึ่ง
  4. การเลือกเกณฑ์ที่จะใช้ในการตัดสินใจที่เหมาะกับนโยบายประเภทนั้น ในขั้นตอนนี้เราจะต้องมองหาเกณฑ์ที่สามารถใช้ในการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดจากการเลือกทางเลือกนั้น ซึ่งจะเลือกใช้เกณฑ์ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการระบุปัญหาของเรา โดยทั่วไปมักเลือกใช้เกณฑ์ประสิทธิภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค ความยุติธรรม เสรีภาพ ชุมชน เป็นต้น ในกรณีที่ใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจหลายเกณฑ์ อาจจะจำเป็นที่จะต้องให้น้ำหนักกับแต่ละเกณฑ์ด้วย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างเกณฑ์ที่เลือกใช้
  5. ดูว่าเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์แต่ละทางเลือกแล้ว ผลจะออกมาอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจะต้องสร้างแบบจำลองที่ทำให้เราสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์เข้ามาประกอบ จึงจะทำให้เราสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ของแต่ละทางเลือกได้
  6. เปรียบเทียบผลของแต่ละทางเลือก ในขั้นตอนนี้่ จำเป็นที่จะต้องมีการ Trade-offs คือ ชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้กับผลเสียจากแต่ละทางเลือก เนื่องจากว่าไม่มีทางเลือกใดที่ดีที่สุด แต่ละทางเลือกมักจะมีทั้งข้อดีข้อเสีย การจะชั่งน้ำหนักได้จำเป็นที่จะต้องมีการคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ดีก่อน
  7. ตัดสินใจเลือกทางเลือก
  8. ประกาศทางเลือกที่ตัดสินใจเลือกออกไปให้สาธารณชนรับรู้อย่างทั่วถึง ผ่านทางช่องทางที่เหมาะสม และด้วยข้อความที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจถูกต้องอย่างง่ายที่สุด