เครื่องมือในการวิเคราะห์ทางเลือกนโยบาย

Post date: 18-Feb-2011 09:05:43

การวิเคราะห์ทางเลือกนโยบาย มีเครื่องมือที่ใช้ในการเลือกอยู่อย่างน้อย 5 เครื่องมือ การจะเลือกใช้เครื่องมือใด จะต้องพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

เริ่มจากทำการทบทวนเป้าหมายของนโยบายก่อนว่า นอกจากเป้าหมายเรื่อง ประสิทธิภาพ แล้ว มีเป้าหมายอื่นที่ต้องการให้บรรลุหรือไม่ (เช่น เน้นประสิทธิผล หรือ เน้นความเป็นธรรม เป็นต้น)

คำถามไล่ลำดับดังนี้

  1. มีเป้าหมายอื่นนอกจากประสิทธิภาพหรือไม่
  2. ถ้ามีเพียงประสิทธิภาพอย่างเดียว แปลงเป็นตัวเงินได้หรือไม่ ถ้าได้ ใช้ Formal B/C ถ้าไม่ได้ใช้ Qualitative B/C
  3. ถ้ามีเป้าหมายอื่นอีกหนึ่งเป้าหมาย และเป็นเป้าหมายเชิงปริมาณ เช่น ประสิทธิผล และแปลงเป็นตัวเงินได้ ให้ใช้ Modified B/C แต่ถ้าแปลงเป็นตัวเงินไม่ได้ ให้ใช้ Cost-Effectiveness
  4. ถ้ามีมากกว่าหนึ่งเป้าหมาย และเป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพ เช่น ความเป็นธรรม หรือมีมากกว่าสองเป้าหมาย เช่น ประสิทธิผล กับ ความเป็นธรรม ให้ใช้ Multigoal

คำอธิบายเครื่องมือแต่ละประเภทโดยย่อ

  1. Formal B/C Analysis ใช้การคำนวณหาทางเลือกนโยบายที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (Net Benefit) ในรูปตัวเงิน ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม
  2. Quantitative B/C Analysis ใช้การอรรถาธิบายผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลือกทางเลือกนโยบาย ให้ผู้บริหารได้เลือกตัดสินใจ
  3. Cost-Effectiveness Analysis ใช้การคำนวณหาทางเลือกนโยบายที่ให้ผลตอบแทนตรงกับที่เราต้องการโดยใช้งบประมาณต่ำที่สุด (Fixed Effectiveness) หรือให้ผลตอบแทนสูงสุดจากงบประมาณที่เราจำกัดเอาไว้ (Fixed Budget) หรือทางเลือกที่ให้อัตราส่วนของผลตอบแทนต่องบประมาณที่มากที่สุด (C/E Ratio)
  4. Modified-B/C Analysis ใช้การคำนวณหาทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดคล้ายกับ Formal B/C ต่างกันตรงที่มีการให้น้ำหนักกับทางเลือกโดยดูที่ผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มจะได้รับ โดยมักให้น้ำหนักกับกลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคมกว่า
  5. Multigoal Analysis ใช้การอธิบายผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยพิจารณาแยกทีละวัตถุประสงค์ และเลือกทางเลือกที่ให้ผลดีต่อวัตถุประสงค์ต่างๆ มากที่สุด หรืออาจมีการให้น้ำหนักกับวัตถุประสงค์ต่างๆ ไม่เท่ากัน และเลือกทางเลือกที่ให้ผลรวมคะแนนดีที่สุด

การใช้เครื่องมือในการเลือกทางเลือกนโยบายที่แตกต่างกันก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเลือกเครื่องมือให้เหมาะสม โดยการตั้งวัตถุประสงค์ของนโยบายให้ชัดเจนถูกต้องที่สุด

การให้น้ำหนักกับแต่ละทางเลือก หรือการให้คุณค่ากับแต่ละทางเลือกที่ไม่ได้วัดผลเชิงปริมาณ อาจขึ้นอยู่กับความคิดความรู้สึกของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักวิเคราะห์นโยบายจึงควรมีการทำการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการให้น้ำหนักทางเลือก และสามารถชี้แจงให้กับสาธารณะชนได้