ความหมายของคำว่า "การจัดการความรู้"

Post date: 17-Dec-2010 06:49:48

จากการทบทวนวรรณกรรม ทำให้ผมพบความหมายของคำว่าการจัดการความรู้ไว้พอสมควรทีเดียว ผมเลยขอเอามานำเสนอที่นี่ด้วยครับ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (2548) ได้ให้คำจำกัดความของการจัดการความรู้ไว้ดังนี้ “การจัดการความรู้ในองค์กร หมายถึง การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด” คณะทำงานการจัดการความรู้ขององค์การนาซ่า (NASA Knowledge Management Team) (2545) ได้สรุปความหมายของการจัดการความรู้ไว้ดังนี้

“การจัดการความรู้ คือ การได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม สำหรับบุคลากรที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะสม และช่วยให้บุคลากรสร้าง แบ่งปัน และกระทำสิ่งต่างๆ บนข้อมูล ในหนทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะของนาซ่าและหุ้นส่วน อย่างสามารถพิสูจน์ได้ (Knowledge management is getting the right information to the right people at the right time, and helping people create knowledge and share and act upon information in ways that will measurably improve the performance of NASA and its partners.)”

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) (2548) ได้อธิบายถึงความหมายของการจัดการความรู้ไว้ดังนี้

“องค์การอนามัยโลกมองการจัดการความรู้เป็นความท้าทายสองประการ ประการแรก คือ การจัดการข้อมูลข่าวสารและกระบวนการ และประการที่สอง คือ การจัดการบุคลากรและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ความรู้ถูกสร้าง แบ่งปัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ (WHO considers KM to be the dual challenge of, first, managing information and processes and, second, managing people and their environment so that knowledge is created, shared and applied more systematically and effectively.)”

วิจารณ์ พานิช (2547) ได้ให้ความหมายของคำว่าการจัดการความรู้ไว้ว่า “การจัดการความรู้ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า KM คือ เครื่องมือ เพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้”

ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ (2552) ได้สรุปความหมายของการจัดการความรู้ไว้ว่า “การจัดการความรู้ คือ กระบวนการในการสร้าง ประมวล เผยแพร่ และใช้ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงาน”

สุจิตรา ธนานันท์ (2552) ได้สรุปความหมายของการจัดการความรู้ไว้ดังนี้

“การจัดการความรู้ เป็นกระบวนการในการจัดการสภาพแวดล้อม บรรยากาศ หรืออุปกรณ์ เช่น เทคโนโลยี ที่มีส่วนสนับสนุนหรือเอื้อให้คนในองค์การมีการสร้าง แลกเปลี่ยน แบ่งปัน กู้กลับคืน และใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์ และพัฒนาทั้งทางด้านของตัวบุคคลและองค์การให้มีความสามารถที่เป็นประโยชน์ และพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

บูรชัย ศิริมหาสาคร (2550) ได้ให้นิยามความหมายของการจัดการความรู้ไว้ว่า “การจัดการความรู้ คือ การบริหารจัดการที่ส่งเสริมให้คนในองค์กร ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่ให้สมบูรณ์ แล้วนำไปใช้สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน”

สราวุฒิ พันธุชงค์ ได้ให้ความหมายของคำว่าการจัดการความรู้ ไว้ดังนี้

“คำว่าการจัดการความรู้หรือ (Knowledge Management) นั้น ถ้าจะให้เข้าใจให้ได้ดีและไม่เกิดความสับสน เราจะต้องแยกคำสองคำนี้ออกจากกันก่อน คือคำว่า Knowledge และคำว่า Manage คำแรก Knowledge คือความรู้ที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมดทั้งนี้รวมถึง Tacit knowledge หรือความรู้ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นข้อความหรือตัวหนังสือหรือสื่อต่างๆ เป็นความรู้ที่อยู่กับตัวบุคคล เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล และ Explicit knowledge คือความรู้ที่มีกฎเกณฑ์ สามารถเขียนหรือใช้สื่อเขียนแทนได้ สามารถเรียนรู้ได้ สอนงานกันได้ เป็นต้น อีกคำหนึ่งคือคำว่า Manage คือการจัดการ เมื่อนำคำสองคำนี้มีผสมกันและแปลความหมาย จะหมายถึง เราจะทำอย่างไร (How to) ที่จะเอาความรู้ดังกล่าวข้างต้นและการสร้างองค์ความรู้ใหม่มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวผ่านกระบวนการจัดการ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์การ และหรือต่อคนในองค์การ”

กล่าวโดยสรุป การจัดการความรู้ คือ กระบวนการในการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการในการระบุความรู้ที่มีอยู่ในองค์การ การจัดเก็บรวบรวมความรู้จากบุคลากร การจัดหมวดหมู่ความรู้ การเผยแพร่องค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการเรียนรู้ จนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ขององค์การ (ฐิติกร พูลภัทรชีวิน, 2553)