เหตุติดขัดและการแก้ไข

เหตุติดขัดและการแก้ไข

ก. คำจำกัดความ

           ๑. เหตุติดขัด เหตุติดขัดคือ การหยุดชะงักการทำงานตามวงรอบของปืนโดยไม่เจตนา  หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อลั่นไกปืนแล้วกระสุนไม่แล่นออกไปจากลำกล้องโดยไม่ทราบสาเหตุ

           ๒. การแก้ไข การแก้ไขคือ การปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้กระสุนแล่นออกไปจากลำกล้องภายหลังจากการเกิดเหตุติดขัด ซึ่งการแก้ไขอาจจะกระทำได้เป็นสองวิธีคือ การแก้ไขทันทีทันใด และการแก้ไขเหตุติดขัด

                  ก) การแก้ไขทันทีทันใด คือการปฏิบัติบางประการโดยไม่ชักช้าต่ออาวุธที่เกิดการติดขัดเพื่อให้อาวุธนั้นสามารถทำการยิงต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องค้นหาถึงสาเหตุแห่งการติดขัดนั้น

                  ข) การแก้ไขเหตุติดขัด คือแก้ไขให้อาวุธที่เกิดการติดขัดสามารถใช้ปฏิบัติการยิงต่อไปได้ โดยจะต้องค้นหาให้ทราบถึงสาเหตุแห่งการติดขัดนั้นเสียก่อน แล้วจึงทำการแก้ไขเพื่อขจัดสาเหตุนั้นให้หมดไป

ข. เหตุติดขัด

           ถ้าหากว่าพลยิงมีความเข้าใจในเรื่องหลักการทำงานของอาวุธของตนเป็นอย่างดี มีการระวังรักษาและทำความสะอาดอาวุธของตนอยู่เป็นเนืองนิตย์แล้ว เหตุติดขัดต่าง ๆ ก็มักจะไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น ถ้าพลยิงได้คอยตรวจสอบอาวุธของตนอยู่บ่อย ๆ แล้ว ย่อมจะทำให้พลยิงทราบได้ว่ามีชิ้นส่วนใดบ้างที่ชำรุดและจัดการแก้ไขเสียก่อนที่จะมีการเกิดเป็นเหตุติดขัดขึ้นในขณะทำการยิงตามปกติแล้วเหตุติดขัดมักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุบางประการดังต่อไปนี้คือ

           ๑. ทำการลั่นไกไม่ได้  อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ฝาครอบเรือนเข็มแทงชนวนหลวม (ขันไม่แน่น)

                  ข) สายไกหักหรือปรับไว้ไม่ถูกต้อง

                  ค) แหนบเข็มแทงชนวนอ่อนหรือหัก

                  ง) เข็มแทงชนวนหักหรือคด

                  จ) มีเขม่าจับอยู่ในเครื่องกลไกเกี่ยวกับการยิงมาก

                  ฉ) จอกกระทบแตกของกระสุนด้าน

                  ช) เดือยกระเดื่องไกหัก

           ๒. ปืนไม่ขึ้นนก อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) คันขึ้นนกหักหรือคด

                  ข) กระเดื่องไกหักหรือคด จนไม่สามารถจะยันเข็มแทงชนวนไว้ในตำแหน่งขึ้นนกได้

                  ค) การมีฝุ่นละอองจับอยู่ในเครื่องปิดท้ายเป็นจำนวนมาก อาจจะเป็นสาเหตุทำให้แผ่นบังคับคันขึ้นนก กับเหล็กบานพับเกาะติดกันแน่นจนแผ่นบังคับคันขึ้นนกเคลื่อนที่ไม่สะดวกหรืออาจจะทำให้เคลื่อนที่ไม่ได้เลยก็ได้

 

           ๓. ปืนไม่รั้งปลอกกระสุน อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ใส่กระเดื่องขอรั้งปลอกกระสุนผิด

                  ข) ขอรั้งปลอกกระสุนหัก

                  ค) แหนบขอรั้งปลอกกระสุนอ่อนหรือหัก

                  ง) จานท้ายปลอกกระสุนผิดรูป

           ๔. เรือนเครื่องปิดท้ายไม่ขัดกลอน อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ฝาครอบเรือนเข็มแทงชนวนหลวม (ขันไม่แน่น)

                  ข) แหนบไกอ่อน

                  ค) สลักคันเครื่องปิดท้ายแตกหรือใส่ผิด

                  ง) ใส่ลูกเบี้ยวเหล็กบานพับผิด

                  จ) ใส่ลูกเบี้ยวบังคับแหวนประกับเรือนเครื่องปิดท้ายผิด

                  ฉ) ร่องขัดกลอนที่อยู่บนเรือนเครื่องปิดท้ายและกรวยจัดแก๊สหักหรือบิดงอ

                  ช) มีฝุ่นละอองเกาะติดอยู่ในช่องลูกเบี้ยวของแผ่นบังคับคันขึ้นนกมากเกินไป

           ๕. บรรจุกระสุนไม่ได้  อาจจะเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) มีฝุ่นละอองหรือคราบสิ่งสกปรกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ไม่หมดของดินส่งกระสุน หรือมีชิ้นส่วนที่แตกหักของปลอกกระสุนเกาะติดอยู่ตามพื้นที่โดยทั่วไปและในร่องต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับรังเพลิงมากเกินไป

                  ข) ชิ้นส่วนของปลอกรัดท้ายลูกกระสุน ซึ่งจะต้องหมุนเข้าไปบรรจุในรังเพลิงให้ฝังอยู่ในร่องเกลียวของกระบอกปืนตรงหน้ารังเพลิงบิดงอหรือผิดรูป

ค. การแก้ไขทันทีทันใด

           ในการแก้ไขทันทีทันใดนั้น พลยิงจะต้องยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในขั้นต่อไป ตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้คือ

           ๑. เมื่อพลยิงลั่นไกปืนแล้วปืนไม่ลั่น พลยิงจะต้องปล่อยปุ่มลั่นไก แล้วรายงานขึ้นว่า "กระสุนด้าน"ต่อจากนั้นให้พลบรรจุทวนคำรายงานของพลยิงอีกครั้งหนึ่งว่า "กระสุนด้าน" แล้วปล่อยเวลาให้ผ่านไป ๑ นาทีจึงให้พลบรรจุทำการปลดกลอนเรือนเครื่องปิดท้าย แล้วทำการขัดกลอนเรือนเครื่องปิดท้ายใหม่ แล้วรายงานขึ้นว่า "พร้อม" ต่อจากนั้นจึงให้พลยิงทำการลั่นไกปืนใหม่

           ๒. ถ้าหากว่าทำการลั่นไกแล้วปืนยังไม่ลั่นอีก ให้พลยิงปล่อยปุ่มลั่นไก แล้วรายงานขึ้นว่า "กระสุนด้าน"ต่อจากนั้นให้พลบรรจุทวนคำรายงานของพลยิงอีกครั้งหนึ่งว่า "กระสุนด้าน" แล้วปล่อยให้เวลาผ่านไปอีก ๑ นาที จึงให้พลบรรจุเปิดเครื่องปิดท้ายออกแล้วทำการเลิกบรรจุ ข้อควรระวัง การนำเอากระสุนด้านออกมาจากลำกล้องปืนนั้น มีข้อควรระมัดระวังอยู่ประการหนึ่งเป็นพิเศษก็คือ ถ้าได้ใช้ปืนทำการยิงติดต่อกันมานานพอสมควรก่อนที่จะเกิดกระสุนด้านขึ้นนั้น ลำกล้องปืนอาจจะเกิดความร้อนจัดและอาจจะทำให้ชนวน, ดินระเบิดในลูกกระสุน และดินส่งกระสุนเกิดการระเบิดขึ้นเองได้ ฉะนั้นในกรณีเช่นนี้ ทุกคนควรจะได้อยู่ห่างไปจากปืนจนกว่าลำกล้องปืนจะเย็นดีแล้ว จึงกลับไปนำเอากระสุนด้านออกมาจากลำกล้องปืน

ง. การแก้ไขเหตุติดขัด

           ถ้าหากว่าปืนยังคงไม่ลั่นไกในการยิงครั้งที่สอง และได้ใช้วิธีการแก้ไขทันทีทันใดตามที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ค.ข้างต้นแล้ว ยังไม่สามารถที่จะแก้เหตุติดขัดนั้นได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

           ๑. หลังจากที่ได้ทำการเลิกบรรจุกระสุนแล้ว พลยิงและพลบรรจุจะต้องพิจารณาใช้คำถามต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) เหตุติดขัดที่เกิดขึ้นนั้น มีลักษณะการอย่างไร

                  ข) เหตุติดขัดนั้นสาเหตุมาจากอะไร

                  ค) มีชิ้นส่วนอะไรบ้างที่ไม่ทำงานตามหน้าที่

                  ง) ควรจะปฏิบัติการแก้ไขอย่างไร

           ๒. ให้ทำการตรวจสอบจอกกระทบแตกที่จานท้ายปลอกกระสุนดูว่า มีรอยถูกแทงของเข็มแทงชนวนหรือไม่ถ้าจอกกระทบแตกมีรอยถูกแทงจากเข็มแทงชนวน ก็แสดงว่าสาเหตุของกระสุนด้านนั้นเกิดขึ้นจากตัวกระสุนซึ่งจะต้องส่งกระสุนนัดนั้นให้หน่วยทหารสรรพาวุธเป็นผู้ทำลาย หรือให้ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำของหน่วยถ้าที่จอกกระทบแตกไม่มีรอยถูกแทงจากเข็มแทงชนวน จึงทำการตรวจสอบที่ปืนเพื่อพิจารณาหาสาเหตุแห่งการไม่ทำงานตามหน้าที่ของปืนต่อไป

หมายเหตุ

           ในการจับถือกระสุนด้านจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง การลำเลียงขนส่งกระสุนด้านจะมีความปลอดภัยก็เฉพาะแต่ที่เป็นการขนส่งในระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น ถ้าสามารถจะใช้วัสดุใด ๆ ห่อหุ้มกระสุนด้านไม่ให้มีการกระทบกระเทือนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นได้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง

จ. ระบบการไร้แรงสะท้อนและการแก้ไข

           ๑. เมื่อระบบการทำงานของปืนไร้แรงสะท้อนเป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว ปืนไร้แรงสะท้อนย่อมจะไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เกิดขึ้นในขณะทำการยิง เพราะถ้าแรงดันของแก๊สมีจำนวนเท่ากันทั้งในข้างหน้าและทางด้านหลังปืนจึงไม่มีแรงสะท้อนเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่ามีจำนวนของแก๊สที่พุ่งออกไปทางข้างหลังปืนไม่ถูกต้อง ปืนจะมีอาการสะท้อนเกิดขึ้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ดังต่อไปนี้คือ

                  ก) ถ้ามีแก๊สพุ่งออกไปทางข้างหลังปืนมากเกินไป ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ปืนมีแรงผลักดันไปทางด้านหน้ามาก จึงทำให้ปืนมีแรงสะท้อนไปข้างหน้าในขณะทำการยิง

                  ข) ถ้ามีแก๊สพุ่งออกไปทางข้างหลังน้อยเกินไป ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ปืนมีแรงผลักดันไปข้างหน้าไม่เพียงพอ จึงทำให้ปืนมีแรงสะท้อนไปข้างหลังในขณะทำการยิง

           ๒. เมื่อกรวยจัดแก๊สและเรือนเครื่องปิดท้ายยังใหม่ ๆ อยู่ ช่องระบายแก๊สที่ท้ายรังเพลิงอาจจะมีขนาดเล็กกว่าขนาดที่ต้องการให้แก๊สระบายออกไปได้อย่างสมดุลย์เล็กน้อย ปืนจึงมีอาการสะท้อนถอยหลังเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย เมื่อใช้ปืนไร้แรงสะท้อนทำการยิงไปแล้วในห้วงระยะเวลาหนึ่ง แก๊สที่ร้อนจัดที่พุ่งออกไปข้างหลังปืนแต่ละครั้งจะค่อย ๆ เซาะให้ร่องที่ท้ายรังเพลิงเหล่านั้นกว้างขึ้นทีละน้อย ๆ แล้วแรงสะท้อนถอยหลังที่มีอยู่ก็จะหายไปเอง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากได้ใช้ปืนไร้แรงสะท้อนทำการยิงไปจนถึง ๑๐๐ นัดแล้ว อาการสะท้อนถอยหลังยังไม่หายไป ก็ควรจะได้ส่งปืนให้หน่วยทหารสรรพาวุธทำการตรวจสอบต่อไป

           ๓. ถ้าหากปืนมีอาการเคลื่อนไหวผิดไปจากที่กล่าวไว้ในข้อ ๒.ข้างต้น ก็ไม่ควรจะใช้อาวุธนั้นไปทำการยิงต่อไปอีก จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบจากหน่วยทหารสรรพาวุธเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ฉ. การปฏิบัติโดยทันทีทันใด

           เมื่อเกิดอาการติดขัดขึ้นในขณะทำการยิง พลยิงละมือออกจากไกแล้วรายงาน "กระสุนด้าน" พลยิงผู้ช่วยรายงาน "กระสุนด้าน" และคอย ๑ นาที จึงจับคันปิดเปิดเครื่องปิดท้ายกดลงและหมุนตามเข็มนาฬิกาไป๙๐ องศา โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปิดท้าย แล้วหมุนคันปิดเปิดเครื่องปิดท้ายทวนเข็มนาฬิกากลับไปในตำแหน่งขัดกลอน แล้วรายงาน "พร้อม" พลยิงทำการเล็งและลั่นไก

           ถ้ายังคงไม่ลั่นอีก พลยิงละมือออกจากไก และรายงาน "กระสุนด้าน" พลยิงผู้ช่วยรายงาน"กระสุนด้าน" และคอยอีก ๑ นาที หลังจากนั้นพลยิงและพลยิงผู้ช่วยเปิดเครื่องปิดท้ายออก เลิกบรรจุ  และนำกระสุนนัดนั้นทำเครื่องไว้ นำไปไว้ ณ ที่ซึ่งปลอดภัย

           การแก้ไขการติดขัดของปืนในขั้นต่อไปถ้าปืนยังคงติดขัด เมื่อได้กระทำตามขั้นตอนทั้งสองแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ไขการติดขัดนั้นได้ ก็จะต้องทำการตรวจค้นหาสาเหตุของการติดขัดนั้นให้ได้