การประมาณความเร็วที่ปรากฏและการหาระยะดัก 

การประมาณความเร็วที่ปรากฏและการหาระยะดัก

ก. กล่าวทั่วไป

           การประมาณความเร็วของเป้าหมาย ที่ปรากฏย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับการพิจารณาหาระยะดักด้วย วิธีหาระยะดักสำหรับปืนไร้แรงสะท้อนที่ถือว่าเป็นวิธีหลักก็คือ การกะประมาณความเร็วของรถถังที่ปรากฏ แล้วเปลี่ยนความเร็วของรถถังปรากฏนี้ไปเป็นระยะดัก ซึ่งในการยิงเป้าหมายเคลื่อนที่ของปืนไร้แรงสะท้อนนั้น มักจะตัองกระทำโดยใช้ปืนชี้ที่หมาย ทำการยิงและทำการปรับการเล็งดักไปตามความจำเป็นจนกว่าจะถูกเป้าหมาย  ต่อจากนั้นจึงใช้ปืนไร้แรงสะท้อนทำการยิงติดตามไปในทันที

ข. การประมาณความเร็วที่ปรากฏ

           ความเร็วที่เป้าหมายแสดง ให้เห็นถึงการเคลื่อนที่เข้ามาหรือออกไปจากเส้นเล็ง เรียกว่า "ความเร็วที่ปรากฏ" ในการพิจารณาความเร็วที่ปรากฏนั้น จะต้องกำหนดเส้นเล็งขึ้นเส้นหนึ่ง แล้วจึงประมาณความเร็วของเป้าหมายไปตามลักษณะการเคลื่อนที่ของเป้าหมายเคลื่อนที่เข้ามา หรือเคลื่อนที่ออกไปจากเส้นเล็ง ในรูปที่๑๗ นั้นได้แสดงให้เห็นว่า รถถัง ก.จะไม่มีความเร็วปรากฏ เพราะว่ารถถังกำลังเคลื่อนที่ตรงเข้ามาหาพลยิงเพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่ารถถังนั้นเคลื่อนที่เร็วเพียงไร และในทำนองเดียวกัน ถ้ารถถังเคลื่อนที่ห่างออกไปตรง ๆ ก็คงไม่มีความเร็วที่ปรากฏเช่นเดียวกัน สำหรับรถถัง ข. นั้นจะมีความเร็วที่ปรากฏเท่ากับความเร็วที่แท้จริงของรถ เพราะว่ารถถังกำลังเคลื่อนที่ในทิศทางตั้งได้ฉากกับเส้นเล็งของพลยิง ส่วนรถถัง ค.นั้นกำลังเคลื่อนที่เฉียงกับเส้นเล็งของพลยิง จึงมีความเร็วที่ปรากฏน้อยกว่าความเร็วที่แท้จริงของรถ มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้พลยิงมีความสามารถประมาณความเร็วที่ปรากฏได้อย่างชำนาญก็คือ จะต้องมีการฝึกหัดอยู่บ่อย ๆ


รูปที่ ๑๗ การพิจารณาหาความเร็วที่ปรากฏ


ค. การกะระยะเล็งดัก

           ๑. ในการยิงต่อเป้าหมายเคลื่อนที่นั้น จะต้องทำการเล็งดัก โดยยึดถือเอาระยะที่เป้าหมายจะต้องเคลื่อนที่นับตั้งแต่เวลาที่ปืนเริ่มยิงออกไป จนกว่าลูกกระสุนจะวิ่งไปตัดกับเส้นทางการเคลื่อนที่ ของเป้าหมายมาเป็นระยะที่จะต้องทำการเล็งดัก ถ้าใช้กล้องเล็ง เอ็ม.๙๒ ดี.หรือ เอ็ม ๙๒ เอฟ.วัดระยะดักแล้ว หนึ่งระยะดักในกล้องเล็งจะมีค่าเท่ากับความเร็วที่ปรากฏคือ ๕ ไมล์ต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เป็นจำนวนของระยะดักจึงมีค่าต่างกันกับตัวเลขที่เป็นความเร็วของเป้าหมายที่ปรากฏ ตัวอย่างเช่น เป้าหมายเคลื่อนที่ ๒๕ไมล์ต่อชั่วโมง แต่จะมีระยะดักเพียง ๕ ระยะดักเท่านั้นเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามในการหาระยะดักนี้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับระยะยิงแต่ประการใดเลย

           ๒. ทั้งปืนชี้ที่หมายและปืนไร้แรงสะท้อน จะมีลักษณะทางขีปนะวิธีเหมือนกันคือ หนึ่งระยะดักที่ปรากฏอยู่บนแว่นมาตราส่วนของกล้องเล็ง จะมีค่าเท่ากับความเร็วที่ปรากฏทุก ๕ ไมล์ต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นจำนวนระยะดักที่ถูกต้องที่หาได้โดยใช้การยิงของปืนชี้ที่หมาย (เมื่อทำการยิงเป้าหมายเคลื่อนที่) พลยิงจึงสามารถใช้ภาพเล็งเดียวกันนั้นทำการยิงด้วยปืนไร้แรงสะท้อนได้ในทันที

           ๓. สำหรับพลประจำปืนที่มิได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี อาจจะใช้วิธีหาระยะดักที่เป็นวิธีรองได้โดยใช้กฎของระยะดักก็ได้ กล่าวคือโดยธรรมดาแล้วกล้องเล็งที่นำมาใช้ทำการเล็งนั้น ย่อมจะมีมาตราระยะดักอยู่แล้วจำนวนของระยะดักที่จะใช้ย่อมขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนที่ของเป้าหมายที่สัมพันธ์กับที่ตั้งยิงเป็นสำคัญ (รูปที่ ๑๘) ในสนามรบนั้น เราจะต้องพิจารณาว่ายานพาหนะใช้สายพานทุกชนิดเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่แท้จริง๑๕ ไมล์ต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้นพลยิงจึงยึดถือเป็นกฎในการใช้ระยะดักได้ดังต่อไปนี้ คือ

                  ก) ถ้าเป้าหมายกำลังเคลื่อนที่เข้ามายัง หรือเคลื่อนที่ห่างออกไปจากทิศทางที่ตั้งปืนตรง ๆ ไม่ต้องใช้ระยะดัก

                  ข) ถ้าเป้าหมายเคลื่อนที่เข้ามาหรือเคลื่อนที่ห่างออกไปในทิศทาง ๑ นาฬิกา หรือ ๑๑ นาฬิกาจะต้องใช้หนึ่งระยะดัก

                  ค) ถ้าเป้าหมายเคลื่อนที่เข้ามาหรือเคลื่อนที่ห่างออกไปในทิศทาง ๒ นาฬิกา หรือ ๑๐ นาฬิกาจะต้องใช้สองระยะดัก

                     ง) ถ้าเป้าหมายเคลื่อนที่เข้ามาหรือเคลื่อนที่ห่างออกไปในทิศทาง ๓ นาฬิกา หรือ ๙ นาฬิกาจะต้องใช้สามระยะดัก (รูปที่ ๑๘ ก.และ ข.) 

รูปที่ ๑๘ กฎของระยะดัก